backup og meta

Placenta previa คือ ภาวะรกเกาะต่ำ อาการ สาเหตุ วิธีรักษา

Placenta previa คือ ภาวะรกเกาะต่ำ อาการ สาเหตุ วิธีรักษา

Placenta previa คือ ภาวะรกเกาะต่ำ เป็นภาวะหนึ่งขณะตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเมื่อตำแหน่งของรกปกคลุมหรือปิดกั้นปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด อาจทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างรกและมดลูกฉีกขาดจนเสียเลือดมากขณะตั้งครรภ์ และโดยเฉพาะในระหว่างที่หญิงตั้งครรภ์มีอาการเจ็บครรภ์คลอดและมีการเปิดของปากมดลูก โดยทั่วไปภาวะรกเกาะต่ำจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด และอาจมีเลือดออกมากน้อยต่างกันไป หากอัลตราซาวด์พบภาวะนี้ในอายุครรภ์ที่ยังน้อย ต้องมีการตรวจติดตามเพิ่มเติม เพราะโดยส่วนใหญ่ รกจะมีการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปได้ในอายุครรภ์ที่มากขึ้น เพื่อวางแผนแนวทางในการคลอดต่อไป คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรฝากครรภ์และไปพบคุณหมอตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อตรวจหาความผิดปกติหรืออาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และหากพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้ การเลือดออกจากภาวะรกเกาะต่ำจะทำให้เกิดอันตรายได้ทั้งกับคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

[embed-health-tool-due-date]

Placenta previa คือ อะไร

Placenta previa คือ ภาวะรกเกาะต่ำ เป็นความผิดปกติของตำแหน่งรกที่เกาะมดลูกอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูกจนปกคลุมปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด โดยรกคือส่วนหนึ่งของการตั้งครรภ์ เป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อกับสายสะดือ ทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตจากมารดาไปยังทารกในครรภ์ ทั้งยังช่วยขับของเสียจากทารกด้วย ในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก รกอาจก่อตัวและยึดเกาะอยู่ที่ส่วนล่างของมดลูก ก่อนจะเคลื่อนตัวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือใกล้ส่วนบนของมดลูกหรือที่เรียกว่ายอดมดลูก ซึ่งห่างจากปากมดลูกมากพอที่จะทำให้ปากมดลูกขยายตัวได้สะดวกเมื่อถึงเวลาคลอด แต่หากมีภาวะ Placenta previa หรือรกเกาะต่ำ รกอาจไปปิดกั้นมดลูกและเป็นอุปสรรคต่อการคลอดทางช่องคลอดตามธรรมชาติ และอาจจำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ได้

ภาวะ Placenta previa หรือ รกเกาะต่ำ แบ่งได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

  1. รกเกาะต่ำใกล้ปากมดลูก (Low-lying placenta) รกอยู่ห่างจากปากมดลูก 2 เซนติเมตร และมักจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ส่วนบนของมดลูกได้เองก่อนถึงเวลาคลอด
  2. รกเกาะต่ำและเกาะขอบปากมดลูก (Marginal Placenta) ขอบรกอยู่ติดกับปากมดลูกพอดี แต่ไม่ปกคลุมหรือขวางปากมดลูก
  3. รกเกาะต่ำปกคลุมส่วนใดส่วนหนึ่งของปากมดลูก (Partial placenta previa) รกปกคลุมปากมดลูกเพียงบางส่วน และอาจไม่คลุมปากมดลูกในตอนที่ปากมดลูกตัวขยายเพื่อเตรียมคลอด
  4. รกเกาะต่ำและปกคลุมปากมดลูกทั้งหมด (Total placenta previa) รกปกคลุมปากมดลูกทั้งหมด ทั้งยังขวางปากมดลูกในตอนที่ปากมดลูกขยายตัวเพื่อเตรียมคลอด

สาเหตุของภาวะ Placenta previa คืออะไร

สาเหตุของ Placenta previa ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ผู้ที่มีภาวะสุขภาพต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเกิด Placenta previa หรือภาวะรกเกาะต่ำได้มากกว่าคนทั่วไป

  • ตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป
  • เคยตั้งครรภ์มาแล้ว
  • เคยผ่าคลอด
  • เคยผ่าตัดมดลูก ผ่าคลอด หรือขูดมดลูก ทำให้มีแผลภายในมดลูก
  • ใช้สารเสพติด เช่น บุหรี่ โคเคน
  • ทารกในครรภ์อยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ

อาการของ Placenta previa

อาการที่เกิดจาก Placenta previa อาจแตกต่างกันไปในคุณแม่แต่ละคน แต่อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะ Placenta previa คือ การมีเลือดไหลออกจากช่องคลอด เนื่องจากทารกตัวใหญ่ขึ้นและมดลูกขยายตัวออก ทำให้เกิดรอยแยกระหว่างตัวรกกับเนื้อเยื่อปากมดลูกที่รกยึดเกาะอยู่ จนส่งผลให้มีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด มักพบในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือเดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเข้าสู่ช่วงระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้ว นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ ด้วย เช่น

  • มีภาวะมดลูกหดรัดตัวก่อนกำหนดคลอด (Premature uterine contractions) ซึ่งอาจทำให้ปวดท้องได้
  • ทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ (Abnormal presentattion) เช่น ท่านอนขวาง ท่าก้น ท่าเอียง

ภาวะแทรกซ้อนของ Placenta previa

ภาวะแทรกซ้อนของ Placenta previa อาจมีดังนี้

  • การตกเลือด Placenta previa หรือภาวะรกเกาะต่ำอาจทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างรุนแรงจนทำให้คุณแม่สูญเสียเลือดในปริมาณมาก ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือในช่วงไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด
  • การคลอดก่อนกำหนด การตกเลือดอย่างหนักอาจทำให้คุณหมอพิจารณผ่าคลอดฉุกเฉินทางหน้าท้องก่อนถึงกำหนดคลอดหรือก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์
  • ภาวะรกเกาะแน่น (Placenta Accreta) เกิดขึ้นเมื่อรกเกาะลึกทะลุกล้ามเนื้อมดลูกและฝังแน่นจนไม่สามารถแยกตัวออกมาตามปกติแม้ว่าจะคลอดแล้วก็ตาม อาจเป็นผลมาจากการมีแผลภายในมดลูก ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมากระหว่างการตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องตัดมดลูกออกเพื่อควบคุมการตกเลือด

วิธีรักษา Placenta previa

คุณหมอจะวางแผนการรักษา Placenta previa โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาวะสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ตำแหน่งของรก อายุครรภ์ วิธีรักษาอาจมีดังนี้

  • อายุครรภ์ ในกรณีที่ไม่มีการเลือดออกในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณหมอจะพิจารณาให้ผ่าคลอดที่อายุครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ (ทารกในครรภ์ครบกำหนดแล้ว) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดทางช่องคลอด เช่น ภาวะตกเลือดขณะตั้งครรภ์ หากมีการเจ็บครรภ์ขึ้นมาก่อน สำหรับคุณแม่ที่ยังไม่ถึงกำหนดคลอด คุณหมออาจให้ยาที่ช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด และอาจฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อช่วยให้ปอดของทารกพัฒนาได้เร็วขึ้น
  • ความรุนแรงของการตกเลือด หากคุณแม่มีเลือดออกเพียงเล็กน้อย คุณหมอแนะนำแนวทางการดูแลตัวเองเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ส่งผลให้ตกเลือดมากขึ้น เช่น การเดินทางไกล การมีเพศสัมพันธ์ การออกกำลังกายที่หนัก หากคุณแม่ตกเลือดแล้วแต่ยังไม่ถึงกำหนดคลอด และไม่สามารถแก้ไขภาวะเลือดออกนั้นได้ด้วยวิธีอื่น เช่น ให้ยายับยั้งการหดรัวตัวของมดลูก อาจต้องผ่าคลอดก่อนกำหนดเพื่อรักษาชีวิตของคุณแม่เอาไว้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What to Expect if You Have a Cesarean Delivery. https://www.webmd.com/baby/features/what-to-expect-cesarean-delivery#1. Accessed November 17, 2022

Placenta previa. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/placenta-previa/symptoms-causes/syc-20352768. Accessed November 17, 2022

Placenta Previa. https://www.webmd.com/guide/what-is-placenta-previa. Accessed November 17, 2022

10 โฉมหน้าโรคแทรกซ้อน แม่ท้องต้องระวัง ตอนที่ 1. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=510. Accessed November 17, 2022

Placenta previa. https://medlineplus.gov/ency/article/000900.htm. Accessed November 17, 2022

Placenta Previa. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-complications/placenta-previa/. Accessed November 17, 2022

Antepartum Hemorrhage. https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/extern-intern/1387/#:~:text=รกเกาะต่ำ%20(placenta%20previa),-รกเกาะต่ำ&text=Low-lying%20placenta%20คือ%20รก,ซม.%20วัดจากอัลตราซาวด์. Accessed November 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการมดลูกหย่อน สัญญาณเตือน ภาวะแทรกซ้อน และวิธีรักษา

IUGR คือ ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา