Threatened abortion คือ ภาวะแท้งแบบคุกคาม ที่อาจเกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ พบได้ร้อยละ 20-25 ของสตรีตั้งครรภ์ โดยในหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้ร้อยละ 50 จะมีการแท้งเกิดขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการปวดหน่วงท้องน้อยร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตามอีกร้อยละ 50 ก็จะสามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้ปกติ หญิงตั้งครรภ์อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอยเป็นระยะเวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ โดยที่ปากมดลูกยังไม่เปิด และมักจะไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย แต่ในบางรายมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย หากพบสัญญาณเตือนดังกล่าว ควรเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาจากคุณหมอทันที
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
สาเหตุของภาวะ Threatened abortion
สาเหตุของ Threatened abortion ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะแท้งคุกคามได้
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด Threatened abortion มีดังนี้
- มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน
- การตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป อาจมีแนวโน้มเสี่ยงแท้งบุตรร้อยละ 15
- การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศสำคัญที่ช่วยให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโต
- สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่อาจเข้าสู่กระแสเลือดและส่งไปยังทารกในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจสร้างความเสียหายต่อระบบประสาทของทารกในครรภ์ และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิดและแท้งบุตรได้
- ความผิดปกติระหว่างการตั้งครรภ์ ที่อาจเกิดจากการสัมผัสสารเคมี ส่งผลมีให้ความเสี่ยงที่ทารกพิการแต่กำเนิด หรือแท้งบุตร เพิ่มมากขึ้น
- โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคลูปัส ไทรอยด์เป็นพิษ กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid syndrome) ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรเมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2
- การติดเชื้อ เช่น หัดเยอรมัน เอชไอวี หนองในเทียม หนองในแท้ มาลาเรีย ซิฟิลิส ช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย เชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus)
- การรับประทานอาหารที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น บลูชีส เนื้อดิบ ไข่ดิบ อาหารเหล่านี้อาจปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ลิสเทอเรีย (Listeriosis) ท็อกโซพลาสโมซีส (Toxoplasmosis) เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้
- ความผิดปกติของรก เช่น รกเกาะต่ำ รกมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กผิดปกติ อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารก เนื่องจากรกเป็นอวัยวะเชื่อมโยงระหว่างคุณแม่และทารก มีหน้าที่คอยแลกเปลี่ยนสารอาหารจากคุณแม่สู่ลูก ดังนั้น หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับรกจึงอาจเสี่ยงต่อการแท้งลูกได้
- ความผิดปกติของมดลูกที่อาจเกิดจากการผ่าตัดบริเวณปากมดลูก มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ หรือเนื้องอกในมดลูก อาจพบได้ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2
อาการของภาวะ Threatened abortion
อาการของ Threatened abortion อาจสังเกตได้จาก
- เลือดออกทางช่องคลอดปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง เป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ อาจเกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรก ของการตั้งครรภ์ บางคนอาจมีเลือดออกรุนแรง ซึ่งควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจทันที
- มีอาการปวดท้องส่วนล่างคล้ายกับปวดท้องประจำเดือน อาจมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดร่วมด้วย
วิธีรักษา Threatened abortion
Threatened abortion เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายและวินิจฉัยภาวะนี้ อาจรักษาตามอาการที่เป็น เน้นให้คนไข้นอนพักผ่อนให้มากขึ้น เลี่ยงการเดิน ยืน หรือนั่งนานๆ และให้งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ สำหรับผู้ที่มีเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อย และมีอาการปวดท้องไม่รุนแรง อาจรับประทานยาแก้ปวด แต่ควรหลีกเลี่ยงยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) แต่ในรายที่มีการแท้งซ้ำหรือได้รับการวินิจฉัยว่าขาดฮอร์โมน Progestin การให้ฮอร์โมน Progestin ตั้งแต่ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ สามารถป้องกันการเกิดภาวะแท้งได้ สำหรับผู้ที่มีเลือดออกมากและมีอาการปวดท้องอย่างหนัก ควรกลับเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดและทำการรักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง
วิธีป้องกันภาวะ Threatened abortion
วิธีป้องกันที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะ Threatened abortion สามารถทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยงอาหารไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ อาหารดิบ อาหารที่มีไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือการติดเชื้อ ที่อาจนำไปสู่การแท้งบุตร
- รับประทานกรดโฟลิกอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาท่อประสาททารกบกพร่อง
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หยุดสูบบุหรี่ และพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่
- พักผ่อนให้มาก และงดทำกิจกรรมที่รุนแรงและอาจมีแรงกระแทก เช่น การเล่นกีฬาผาดโผน การออกแรงอย่างหนัก
- ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวล เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์
- ควบคุมน้ำหนักให้สมดุลด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายระดับเบา เช่น โยคะ ว่ายน้ำ เดิน
- หากมีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์ ควรงดการออกกำลังกายและมีเพศสัมพันธ์ และเข้ารับการตรวจจากคุณหมอทันที
- ก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร หรือยาใด ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงสารเคมีที่อาจเป็นพิษกับทารกในครรภ์ เช่น สารหนู ตะกั่ว เบนซิน เอทิลีนออกไซด์ (Ethylene oxide) ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde)
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อตรวจสุขภาพทารกในครรภ์และตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อ