backup og meta

ลูกดิ้นน้อย ผิดปกติไหม และ วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น มากขึ้น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    ลูกดิ้นน้อย ผิดปกติไหม และ วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น มากขึ้น

    เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่ช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกในท้องได้ชัดเจนขึ้น แต่บางครั้งลูกก็อาจดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นเลย จนคุณแม่เริ่มเป็นกังวล ในเบื้องต้นคุณแม่อาจใช้ วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น แบบง่าย ๆ เช่น เคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเดินระยะสั้น ดื่มเครื่องดื่มหวาน ๆ หรือน้ำเย็น รับประทานข้าวสักมื้อ รับประทานผลไม้จานเล็ก ๆ แต่หากลูกไม่กลับมาดิ้นตามเวลาปกติของวันหรือไม่ดิ้นเลย ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็กสุขภาพของลูกว่าเป็นปกติหรือไม่

    ลูกในท้องจะเริ่มดิ้นเมื่อไหร่

    ตามปกติแล้ว ลูกในท้องจะเริ่มขยับตัวตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 16-24 ของการตั้งครรภ์ สำหรับท้องแรก คุณแม่อาจไม่รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวใด ๆ เลยจนกว่าจะถึงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ แต่หากเป็นท้องที่ 2 เป็นต้นไป คุณแม่อาจสัมผัสการเคลื่อนไหวของลูกได้เร็วกว่า โดยทั่วไป คุณแม่จะสามารถรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของลูกในท้องไปได้จนถึงวันคลอด

    การเคลื่อนไหวของลูกในท้องเป็นสัญญาณหนึ่งที่ช่วยให้คุณแม่รับรู้ว่าลูกกำลังเจริญเติบโต มีสุขภาพแข็งแรง ตลอดจนมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามอายุครรภ์ ทั้งนี้ หากถึงสัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์แล้ว แต่คุณแม่ไม่รู้สึกว่าลูกในท้องดิ้นเลย ควรแจ้งคุณหมอให้ทราบ คุณหมอจะได้ตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของทารกในท้องว่าปกติดีหรือไม่

    ลูกในท้องดิ้นบ่อยแค่ไหน

    ลูกในท้องจะมีวงจรการนอนหลับเป็นของตัวเองไม่ต่างกับคุณแม่ จึงไม่แปลกที่บางครั้งคุณแม่จะไม่รู้สึกถึงการดิ้นของลูก เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงที่ลูกกำลังนอนหลับอยู่นั่นเอง โดยทั่วไป ความถี่ในการดิ้นของลูกจะไม่แน่นอนและรูปแบบการดิ้นของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตว่าลูกตื่นนอนและดิ้นไปมาอยู่ในท้องตอนไหน ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันทุกวัน โดยปกติแล้ว ลูกน้อยในท้องจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนอน โดยจะนอนหลับประมาณครั้งละ 20-40 นาที (บางครั้งนานถึง 90 นาที) และจะไม่ขยับตัวในช่วงนอนหลับ ส่วนในขณะตื่น ลูกในท้องอาจดิ้นประมาณ 10 ครั้งภายใน 2 ชั่วโมง และลูกจะเคลื่อนไหวในตอนกลางวันน้อยกว่าในตอนกลางคืน เพราะการเคลื่อนไหวของคุณแม่ในช่วงกลางวันอาจคล้ายกับการไกวเปลที่ช่วยกล่อมให้ลูกง่วงนอนและหลับได้ง่าย

    วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น ทำได้อย่างไรบ้าง

    วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น อาจมีดังนี้

    • ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำผลไม้
    • ดื่มน้ำเปล่าเย็น ๆ
    • รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ หรือผลไม้
    • แตะหรือถูบริเวณหน้าท้องเบา ๆ
    • เดินเล่นรอบ ๆ บ้านสักครู่
    • ขยับเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนอนเป็นนั่ง จากนั่งเป็นยืน อาจทำให้ลูกในท้องที่นอนหลับอยู่ตื่นขึ้นและขยับตัวไปมา
    • เปิดเพลงเสียงดัง หรือให้คุณพ่อหรือคนในครอบครัวมาพูดคุยกับลูกน้อย

    บางครั้ง คุณแม่อาจอยู่ในสถานที่เสียงดังหรือมีผู้คนพลุกพล่าน จนไม่สามารถสัมผัสได้ถึงการดิ้นของลูก และคิดว่าลูกดิ้นน้อยลง ในกรณีนี้ ให้คุณแม่ลองหาที่เงียบ ๆ แล้วนั่งกุมหน้าท้องสักระยะหนึ่ง เมื่อบรรยากาศรอบตัวไม่วุ่นวายจนเกินไป คุณแม่อาจสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของลูกได้ตามปกติ

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากสังเกตว่าลูกมีการเคลื่อนไหวผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจครรภ์และตรวจเช็กสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์

  • ลูกเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ
  • ลูกไม่ดิ้นเลย
  • การขยับตัวของลูกในท้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น ลูกดิ้นแรงมากอยู่ครู่หนึ่งแล้วหยุดดิ้นไปเลย
  • อายุครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 25 แล้ว แต่คุณแม่ยังไม่รู้สึกว่าลูกในท้องเคลื่อนไหว
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา