ลูกดิ้น ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณพัฒนาการของทารกในครรภ์ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในช่วง สัปดาห์ที่ 16-24 ของการตั้งครรภ์ และทารกจะเคลื่อนไหวชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือสัปดาห์ที่ 28 คุณแม่ควรรู้วิธีนับลูกดิ้นว่าทารกที่อยู่ในครรภ์ดิ้นน้อยหรือดิ้นมากเกินไปหรือไม่ เพราะการดิ้นที่ผิดปกติ โดยเฉพาะการดิ้นน้อยลง อาจเป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพของทารกในครรภ์ ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาโดยเร็ว
[embed-health-tool-due-date]
ลักษณะของลูกดิ้น
อาการลูกดิ้น อาจจะให้ความรู้สึกเหมือนมีปลาตอดอยู่ภายในท้อง หรือรู้สึกเหมือนเส้นประสาทกระตุกเบา ๆ บางครั้งเมื่อทารกเคลื่อนไหวตัว เช่น พลิกตัว เตะขา คุณแม่ก็อาจสามารถรับรู้ได้ว่าอวัยวะของทารกกำลังดันท้องอยู่ อาการลูกดิ้นอาจสังเกตยากในช่วงแรก แต่จะชัดเจนขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ซึ่งการที่ลูกดิ้นอาจบ่งชี้ถึงสุขภาพของทารกในครรภ์ได้
ลูกเริ่มดิ้นเมื่อไหร่
ทารกแต่ละคนอาจมีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันออกไป โดยส่วนมากมารดาจะเริ่มรับรู้การดิ้นของทารกตอนช่วงสัปดาห์ที่ 16-24 ของการตั้งครรภ์ หรือประมาณเดือนที่ 4 และจะรับรู้ได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ทารกจะเคลื่อนไหวมากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำคร่ำในครรภ์มากขึ้น ทำให้ทารกสามารถขยับร่างกายได้มากขึ้น จากนั้นการดิ้นของทารกจะสม่ำเสมอ ทั้งนี้ การดิ้นของทารกอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาจนถึงช่วงเวลากำหนดคลอด โดยการดิ้นของทารกนั้นมักจะเคลื่อนไหวมากขึ้นในบางช่วงเวลาขณะตื่นนอน ระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงอาจตอบสนองต่อเสียงหรือการสัมผัส ซึ่งสัปดาห์เริ่มการดิ้นของทารกอาจมีดังนี้
- สัปดาห์ที่ 12 ทารกอาจเริ่มเคลื่อนไหว แต่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจยังไม่รู้สึกถึงแรงดิ้น
- สัปดาห์ที่ 16 ทารกยังเคลื่อนไหวไม่ชัดเจน แต่คุณแม่อาจรู้สึกเหมือนมีผีเสื้อกระพือปีก ซึ่งความรู้สึกอาจเป็นแค่ก๊าซหรือทารกกำลังเคลื่อนไหวก็ได้
- สัปดาห์ที่ 20-24 ทารกเริ่มเคลื่อนไหว ซึ่งสัปดาห์นี้คุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะเริ่มรู้สึกถึงแรงดิ้นของทารกในครรภ์
- สัปดาห์ที่ 28 ทารกในครรภ์ดิ้นมากขึ้น เช่น พลิกตัว เตะขา ชกมือ หมุนตัว สะอึก ทำให้บางครั้งอาจสังเกตเห็นถึงเท้าหรือมือของทารกกำลังดันท้องอยู่
- สัปดาห์ที่ 36 การเคลื่อนไหวของทารกช้าลง เนื่องจากอาจมีพื้นที่ในการขยับลดลง
วิธีนับลูกดิ้น ทำได้อย่างไร
การนับลูกดิ้น คือการนับการเคลื่อนไหวของทารก ไม่ว่าจะเป็นการดิ้น การเตะ การต่อย การพลิกตัว หรือการขยับเขยื้อนต่าง ๆ ที่คุณแม่สามารถรับรู้ได้ ซึ่งภายในประมาณ 2 ชั่วโมง ควรนับได้ประมาณ 8-10 ครั้ง จึงถือว่าทารกดิ้นตามปกติ มีสุขภาพแข็งแรง แต่ถ้าหากไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว 10 ครั้ง ใน 2 ชั่วโมง อาจเป็นเพราะทารกกำลังหลับ ควรลองนับใหม่อีกครั้งหนึ่งในวันเดียวกัน ทั้งนี้ หากเป็นทารกแฝดอาจจะนับได้ยากขึ้น เนื่องจากไม่รู้ว่าทารกคนใดกำลังดิ้นอยู่
ควรพบคุณหมอเมื่อใด
ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ หากมีอาการดังต่อไปนี้
- หากลูกดิ้นน้อยหรือไม่ตอบสนอง แม้ว่าคุณแม่จะกระตุ้นให้ทารกตอบสนองด้วยการรับประทานอาหารหรือสื่อสารกับทารกแล้วก็ตาม
- หากลูกดิ้นแรงมากในระยะหนึ่งแล้วหยุดดิ้นไปเลย
- หากอายุครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 25 แล้วและยังไม่รู้สึกว่าทารกในครรภ์เคลื่อนไหว
อาการเหล่านี้อาจแสดงถึงความผิดปกติของการตั้งครรภ์ หรือปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของทารก ซึ่งคุณหมออาจทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงและสะท้อนกลับมาเป็นรูปภาพ เพื่อให้คุณหมอสามารถดูการเคลื่อนไหวและท่าทางของทารก รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจ และสามารถตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ ร่วมกับการตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์โดยติดเครื่องตรวจติดตามเสียงหัวใจ