backup og meta

อาการคนท้องไม่รู้ตัว เกิดจากอะไร และวิธีดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าท้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    อาการคนท้องไม่รู้ตัว เกิดจากอะไร และวิธีดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าท้อง

    อาการคนท้องไม่รู้ตัว เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้หากผู้หญิงไม่มีอาการบ่งชี้ว่าตั้งครรภ์ มีปัญหาสุขภาพร่างกาย หรืออาจมีปัญหาสุขภาพจิต จนทำให้อาจไม่ทันได้สังเกตอาการหรืออาจมีภาวะปฏิเสธการตั้งครรภ์ คือไม่ยอมรับว่าตนกำลังตั้งครรภ์ ดังนั้น การรู้สัญญาณคนท้องระยะแรกจึงอาจช่วยทำให้คนท้องรู้ตัว และเตรียมตัวดูแลสุขภาพของตนเองและทารกในครรภ์ได้ตั้งแต่เริ่มต้น

    อาการคนท้องไม่รู้ตัว เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

    ท้องไม่รู้ตัวอาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงหลายคนที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่ได้ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ที่อาจมีภาวะปฏิเสธการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ อาจมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีอาการคนท้องไม่รู้ตัว ดังนี้

    • ปัญหาประจำเดือน ผู้หญิงบางคนอาจมีประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่สม่ำเสมอ เมื่อประจำเดือนขาดจึงอาจทำให้ไม่รู้ตัวว่าท้อง ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติอาจมีสาเหตุจากความเครียด ความผิดปกติของการรับประทานอาหาร โรคอ้วน ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ โรคเบาหวานระยะสุดท้าย หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคลมชัก
    • ไม่แสดงอาการว่าท้อง ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการที่บ่งบอกว่ากำลังท้อง เช่น แพ้ท้อง คัดเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่ม เมื่อยล้า จึงอาจทำให้ไม่รู้ตัวว่าท้อง หรืออาจมีร่างกายที่อ่อนแอจากภาวะสุขภาพอยู่แล้ว จึงอาจไม่ได้สังเกตว่าเป็นอาการคนท้อง
    • น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน และผู้หญิงที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงบ่อยครั้ง อาจทำให้ไม่ทันสังเกตว่าน้ำตัวที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะมีทารกในครรภ์
    • ความเครียดหรือความหวาดกลัว อาจเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงไม่พร้อมตั้งครรภ์ เช่น วัยรุ่น หรือผู้หญิงที่ตั้งท้องกับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง ความเครียดและความหวาดกลัวเหล่านี้อาจส่งผลให้รู้สึกปฏิเสธการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคสองขั้ว หรือโรคจิตเภท อาจเกิดภาวะปฏิเสธการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน
    • ไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในท้อง อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่รกก่อตัวขึ้นบริเวณด้านหน้ามดลูก หรือคุณแม่ที่มีหน้าท้องเยอะ อาจทำให้คุณแม่ไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในท้อง

    อาการคนท้องไม่รู้ตัว

    อาการที่ควรสังเกต เพราะอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ ดังนี้

    • ประจำเดือนขาด หากเพิ่งมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้คุมกำเนิดไปไม่นาน และประจำเดือนขาดหรือไม่มาเกิน 1 สัปดาห์ อาจหมายความกำลังเริ่มการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติบ่อยครั้งอาจไม่ทันสังเกตอาการ และอาจทำให้เข้าใจผิดได้
    • เต้านมบวมและคัดตึงเต้านม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้รู้สึกคัดตึงเต้านมและมีอาการบวม เมื่อผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเนื่องจากร่างกายเริ่มปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
    • อาการเหนื่อยล้า ความเหนื่อยล้าเป็นอาการเริ่มแรกของการตั้งครรภ์ที่พบบ่อย เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะสูงขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจทำให้มีอาการง่วงนอนและอ่อนเพลีย
    • คลื่นไส้และอาเจียน เป็นอาการแพ้ท้องที่อาจเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ โดยอาการมักเกิดขึ้นช่วงตั้งครรภ์ 6-12 สัปดาห์
    • ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ไตทำหน้าที่ขับของเหลวส่วนเกินเพิ่มขึ้น จึงทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ปัสสาวะบ่อยขึ้น

    อาการที่พบบ่อยในคนท้องช่วงไตรมาสแรก อาจมีดังนี้

    • เลือดออกจากช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน เมื่อไข่ผสมกับอสุจิที่ปลายท่อนำไข่แล้ว ตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน ในการเดินทางผ่านท่อนำไข่มาฝังตัวในโพรงมดลูก ซึ่งในผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณเล็กน้อย หรือที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก
    • เสียดท้อง ท้องอืด อาจเป็นอาการที่คล้ายกับช่วงก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ในระยะแรกที่อาจทำให้มีอาการท้องอืดและเสียดท้อง
    • อารมณ์แปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงแรกอาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอารมณ์แปรปรวนง่าย เช่น หงุดหงิดง่าย ร้องไห้บ่อยผิดปกติ
    • ท้องผูก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจส่งผลทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลงและอาจมีอาการท้องผูก
    • เป็นตะคริว ผู้หญิงบางคนมีอาการตะคริวที่มดลูกเล็กน้อยในช่วงตั้งครรภ์
    • ไม่อยากรับปประทานอาหารบางชนิด คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีอาการไวต่อกลิ่นอาหารบางชนิด และประสาทรับรสอาจเปลี่ยนไป จึงอาจทำให้รู้สึกไม่ชอบรสชาติ หรือรู้สึกเหม็นอาหารบางชนิด
    • คัดจมูก ระดับฮอร์โมนและการผลิตเลือดที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้เยื่อเมือกในจมูกบวม แห้ง และมีเลือดออกง่าย ส่งผลให้อาจมีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล

    การสังเกตอาการตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญทั้งต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ เพราะคุณแม่มีอาการคนท้องไม่รู้ตัว อาจทำให้พลาดโอกาสในการดูแลบำรุงร่างกายตัวเองและทารกในครรภ์ก่อนคลอด ทั้งการตรวจร่างกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากนี้ การไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ทั้งครรภ์เป็นพิษ โลหิตจาง หรือโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

    เมื่อรู้ว่ากำลังท้อง ควรทำอย่างไร

    เมื่อคุณแม่ทราบว่ากำลังตั้งท้องควรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

    • ฝากครรภ์ เพื่อตรวจสุขภาพทั้งคุณแม่และทารก หาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ หรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อทารก เช่น การติดเชื้อ หรือโรคติดต่อจากแม่สู่ลูก คุณหมออาจทำการตรวจปัสสาวะหรือตรวจเลือดเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ และสำหรับคนท้องในไตรมาสแรก คุณหมอจะนัดตรวจสุขภาพครรภ์ทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ แต่อาจแตกต่างกันไปตามสุขภาพและพัฒนาการของทารกในครรภ์ด้วย นอกจากนี้ คุณหมออาจตรวจอัลตราซาวด์เพื่อฟังเสียงหัวใจเต้นของทารก ดูจำนวนทารกในครรภ์ ประมาณขนาดตัวทารก และวันที่ครบกำหนดคลอด
    • การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่พบบ่อย หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
    • ตรวจเลือด เพื่อตรวจหมู่เลือด ระดับของธาตุเหล็ก ตรวจน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคหัดเยอรมัน ระบบภูมิคุ้มกัน และการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี เอชไอวี โรคซิฟิลิส
    • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารก เช่น ผักและผลไม้ พืชตระกูลถั่ว นม อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างเนื้อแดง เต้าหู้ จำกัดปริมาณน้ำตาล เกลือ อาหารไขมันสูงให้น้อยลง และควรออกกำลงกายอย่างสม่ำเสมอในขณะตั้งครรภ์เพื่อกล้ามเนื้อผ่อนคลายหรือลดอาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ปวดหลัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา