backup og meta

อารมณ์คนท้อง และวิธีรับมืออารมณ์แปรปรวนตอนท้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    อารมณ์คนท้อง และวิธีรับมืออารมณ์แปรปรวนตอนท้อง

    การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือภาวะอารมณ์แปรปรวนเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในช่วงท้อง อารมณ์คนท้อง ที่แปรปรวนและรุนแรงกว่าปกติ เช่น ร้องไห้บ่อย หงุดหงิดง่าย อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนท้องได้ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เหล่านี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด ความเหนื่อยล้าจากการนอนหลับไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การตระหนักถึงสาเหตุของสภาวะทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไปจากปกติและเรียนรู้วิธีปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่พบเจอขณะท้อง อย่างเหมาะสม อาจช่วยให้คนท้องสามารถรับมือกับอารมณ์ที่แปรปรวนได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพและปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันเนื่องจากอารมณ์แปรปรวนได้

    อารมณ์คนท้อง เปลี่ยนแปลงเพราะอะไร

    สาเหตุที่ทำให้คนท้องมีอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย อาจมีดังนี้

    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในช่วงท้องร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนเอชซีจี (hCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และทำให้อารมณ์ความรู้สึกของคนท้องไม่มั่นคงและแปรปรวนได้ง่าย คนท้องจึงมักหงุดหงิด โมโห ซึมเศร้า อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ
    • การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เมื่อหน้าท้องขยายใหญ่ขึ้นจนขยับร่างกายไม่สะดวก และความรู้สึกไม่สบายตัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น มักส่งผลให้คนท้องเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดหลัง ปวดท้อง ท้องผูกบ่อย ปวดปัสสาวะบ่อย รวมถึงรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และรอยแตกลายบนหน้าท้อง อาจส่งผลต่อความมั่นใจและสุขภาพจิตของคนท้อง ทำให้คนท้องอารมณ์แปรปรวนได้
    • ความเครียด ความเครียดและความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพตัวเองและลูกในท้อง ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก การสนับสนุนจากคนในครอบครัว มักส่งผลให้อารมณ์คนท้องแปรปรวนหรือเปลี่ยนแปลงได้ง่าย
    • ความเหนื่อยล้า ความเครียดสะสม หรือความรู้สึกไม่สบายตัวโดยเฉพาะในเวลานอน อาจทำให้คนท้องนอนหลับได้ยาก พักผ่อนไม่เพียงพอ จนรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย นำไปสู่ภาวะอารมณ์แปรปรวนง่ายและจัดการอารมณ์ได้ยากขึ้น

    อารมณ์คนท้อง ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง

    อารมณ์คนท้อง ที่พบบ่อย อาจมีดังนี้

  • ขี้รำคาญ ความรู้สึกไม่สบายตัวจากขนาดหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์ หรือการที่ไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัวได้ตามปกติ อาจส่งผลให้คนท้องขี้รำคาญขึ้นได้
  • โมโหและหงุดหงิดง่าย คนท้องอาจรู้สึกโมโหและหงุดหงิดกับสิ่งรอบตัวและคนรอบข้างได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งมักเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ความรู้สึกไม่สบายตัว อาการปวดตามตัว และความเหนื่อยล้า เป็นต้น
  • กลัวและขี้กังวล คนท้องอาจรู้สึกกลัวหรือกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกในท้อง โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์สูง หากอยู่ในช่วงใกล้คลอด ก็อาจกังวลหรือกลัวความเจ็บปวดตอนคลอด อาการผิดปกติหลังคลอด รวมถึงกลัวเกิดปัญหาในการเลี้ยงลูก เป็นต้น
  • ซึมเศร้า การเปลี่ยนแปลงของระดับรูปลักษณ์ ระดับฮอร์โมนในร่างกาย และการใช้ชีวิต อาจส่งผลให้คนท้องบางคนเกิดอาการรู้สึกเศร้า เสียใจ หดหู่อย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งในบางกรณีอาจมีอาการไปจนถึงช่วงหลังคลอด เรียกว่า ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum blues หรือ Baby blues) ที่มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดและมักหายเองได้ แต่หากมีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์อาจเป็นภาวะที่รุนแรงขึ้นอย่างโรคซึมเศร้าหลังคลอด ที่ทำให้ไม่รู้สึกผูกพันกับลูกของตัวเอง อยากทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายลูก ซึ่งเป็นโรคไม่สามารถหายเองได้ ควรเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด
  • วิธีรับมือกับอารมณ์แปรปรวนตอนท้อง

    วิธีรับมือกับอารมณ์แปรปรวนตอนท้อง มีดังนี้

  • ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของตัวเอง และหาเวลาในการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ออกกำลังกายเบา ๆ เล่นโยคะ แช่น้ำในอ่าง เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ช่วยให้เครียดน้อยลง และลดอาการอารมณ์แปรปรวน
  • นอนหลับให้เพียงพอ ควรนอนหลับในช่วงกลางคืนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หากมีปัญหานอนไม่หลับ อาจปรับท่านอนให้อยู่ในตำแหน่งที่สบายที่สุด เช่น ใช้หมอนรองหน้าท้อง เพื่อให้สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจช่วยให้จัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น
  • หากไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้จริง ๆ หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ควรหาโอกาสพูดคุยระบายความรู้สึกหรือขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เช่น คนรัก สมาชิกในครอบครัว เพื่อไม่ให้เครียดหรือวิตกกังวลจนอารมณ์แปรปรวน หรือเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงกว่า
  • รับประทานอาหารหลากหลาย สดใหม่ และมีประโยชน์ เช่น นม ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมันที่ปรุงสุก ปลาที่ไม่มีสารปรอท และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ปลาแซลมอนสด ไข่ดิบ เพราะจะช่วยส่งเสริมสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของคนท้อง ช่วยให้คนท้องมีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น อารมณ์ไม่แปรปรวนง่าย  ทั้งยังช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต และมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา