backup og meta

เช็คอายุครรภ์ คำนวณวันคลอดทำได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    เช็คอายุครรภ์ คำนวณวันคลอดทำได้อย่างไร

    เช็คอายุครรภ์ เป็นวิธีการนับช่วงเวลาระหว่างตั้งครรภ์จนถึงระยะเวลาคลอด โดยทั่วไปการเช็คอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายไปจนถึงวันครบกำหนดคลอด ซึ่งวันคาดคะเนการคลอดจะกำหนดไว้่ที่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ โดยที่ทารกในครรภ์จะค่อย ๆ พัฒนาอวัยวะส่วนต่าง ๆ และระบบประสาทอย่างต่อเนื่องจนถึงกำหนดคลอด ดังนั้น การเช็คอายุครรภ์จึงอาจช่วยให้ทราบถึงพัฒนาการของทารกในแต่ละสัปดาห์และอาจช่วยให้คุณแม่สามารถเตรียมความพร้อมในการคลอดล่วงหน้าได้

    อายุครรภ์แต่ละไตรมาส

    การตั้งครรภ์ คือ ช่วงเวลาระหว่างปฏิสนธิไปจนถึงการคลอด ซึ่งในช่วงเวลานี้ทารกในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอายุครรภ์ (Gestational Age หรือ GA) เป็นคำที่ใช้ในระหว่างตั้งครรภ์เพื่ออธิบายว่าการตั้งครรภ์อยู่ในระยะใด ซึ่งจะมีหน่วยเป็นสัปดาห์ ซึ่งวันคาดคะเนการคลอดจะกำหนดไว้่ที่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่อาจจะเริ่มมีการเจ็บท้องคลอดคลาดเคลื่อนก่อนหรือหลังไปจากที่กำหนด 1-2 สัปดาห์ได้ แต่สำหรับทารกที่คลอดก่อน 37 สัปดาห์ จะถือว่าคลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่คลอดหลังจาก 42 สัปดาห์จะถือว่าคลอดช้ากว่ากำหนด

    อายุครรภ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ไตรมาส ซึ่งแต่ละไตรมาสจะแบ่งตามสัปดาห์ ดังนี้

    • ไตรมาสที่ 1 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-12 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงแรกของการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ โดยทารกในครรภ์อาจมีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร อวัยวะส่วนต่าง ๆ และระบบประสาทจะเริ่มมีการพัฒนา เช่น ตา ปาก มือ หู ศีรษะและลำตัว แขน ขา มือ เท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า แต่ยังไม่สามารถระบุเพศได้ และเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายของไตรมาสที่ 1 ทารกในครรภ์อาจมีความยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร
    • ไตรมาสที่ 2 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 13-27 ของการตั้งครรภ์ ทารกอาจมีความยาวประมาณ 8.4 เซนติเมตร และอาจมีน้ำหนักประมาณ 875 กรัม ในช่วงนี้อาจสามารถระบุเพศของทารกในครรภ์ได้แล้ว เนื่องจากอวัยวะสืบพันธุ์มีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์มากขึ้น นอกจากนี้ ทารกในครรภ์จะเริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นจนสามารถรู้สึกได้ และอาจมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอกครรภ์
    • ไตรมาสที่ 3 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28-42 ของการตั้งครรภ์ ทารกอาจมีความยาวประมาณ 37.6-57.2 เซนติเมตร เมื่อครบกำหนดคลอดอาจมีน้ำหนักประมาณ 2.9-4 กิโลกรัม ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ สำหรับอวัยวะและระบบประสาทของทารกในครรภ์จะพัฒนาอย่างเต็มที่ จากนั้นเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 37-41 ทารกจะเริ่มกลับหัวและเคลื่อนที่ไปยังอุ้งเชิงกราน มดลูกจะบีบรัดตัว และทารกจะเคลื่อนไหวช้าลงเพื่อเตรียมพร้อมในการคลอด

    เช็คอายุครรภ์ ทำได้อย่างไร

    การเช็คอายุครรภ์เพื่อให้ทราบถึงวันครบกำหนดคลอด อาจคำนวณได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น โดยเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย จากนั้นให้นับย้อนหลังกลับไปอีก 3 เดือน และบวกเพิ่มอีก 7 วัน ก็จะทราบถึงวันครบกำหนดคลอดอย่างคร่าว ๆ

    ตัวอย่าง วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย คือ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 นับย้อนหลัง 3 เดือน คือ วันที่ 1 มกราคม จากนั้นบวกอีก 7 วัน เท่ากับว่าวันครบกำหนดคลอด คือ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวเป็นเพียงวิธีที่จะช่วยคำนวณวันครบกำหนดคลอดอย่างคร่าว ๆ ในรายที่หญิงตั้งครรภ์มีประวัติประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น ดังนั้น คุณแม่จึงควรเข้าพบคุณหมอตามนัดหมายอยู่เสมอ เพื่ออัลตราซาวด์และวัดขนาดตัวของทารกในครรภ์ เพื่อกำหนดอายุครรภ์และวัดคาดคะเนการคลอด รวมทั้งตรวจสุขภาพและความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา