backup og meta

ช่วงไข่สุกคือ ตอนไหน ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    ช่วงไข่สุกคือ ตอนไหน ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

    ช่วงไข่สุกคือ ช่วงก่อนถึงวันไข่ตกและวันไข่ตก เป็นช่วงที่มีการตกไข่จากรังไข่ไปยังท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิ ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดและมีโอกาสการตั้งครรภ์ในรอบเดือนนั้น ๆ โดยแต่ละรอบเดือนจะมีช่วงไข่สุกประมาณ 6 วัน การทราบว่าช่วงไข่สุกของตัวเองคือตอนไหนอาจช่วยให้สามารถวางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิธีคำนวณช่วงไข่สุกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนับวัน การตรวจมูกที่ปากมดลูก การใช้ที่ตรวจไข่ตก โดยการตรวจจะได้ผลแม่นยำมากที่สุดเมื่อใช้กับผู้หญิงที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอ

    ช่วงไข่สุกคือ ตอนไหน

    Fertile window หรือ ช่วงไข่สุกคือ ช่วงที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงขึ้น จนทำให้ไข่สุกและเคลื่อนตัวออกจากรังไข่ ถือเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของผู้หญิงพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุดของรอบเดือนนั้น ๆ ช่วงไข่สุกคือ 5 วันก่อนถึงวันไข่ตกและวันไข่ตก รวมแล้วจะมีช่วงไข่สุกประมาณ 6 วัน

    โดยปกติแล้ว อสุจิที่เข้าสู่ช่องคลอดจะมีชีวิตอยู่ในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงได้ไม่เกิน 5 วัน และไข่ที่ถูกปล่อยออกมาจากรังไข่เพื่อรอปฏิสนธิที่ปลายท่อนำไข่จะสลายตัวไปภายใน 12-24 ชั่วโมง การทราบถึงช่วงเวลาที่เกิดการตกไข่ จึงอาจช่วยให้สามารถคาดคะเนเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการพยายามตั้งครรภ์ได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้คู่รักสามารถวางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม และเพิ่มโอกาสในการเกิดการปฏิสนธิและตั้งครรภ์

    ช่วงไข่สุก อาการ เป็นอย่างไร

    อาการที่แสดงว่าร่างกายของผู้หญิงอยู่ในช่วงไข่สุก อาจมีดังนี้

    • เมือกใสในช่องคลอดเพิ่มขึ้น เมือกใสในช่องคลอดที่มีลักษณะคล้ายไข่ขาว ใส ไม่ส่งกลิ่น สามารถยืดออกได้เป็นแผ่นบาง ๆ อาจเพิ่มปริมาณจนสังเกตหรือรู้สึกได้ การตกไข่มักเกิดขึ้นในวันที่ช่องคลอดหลั่งเมือกใสออกมาในปริมาณมากที่สุด และเมื่อพ้นวันไข่ตกไปเมือกใสก็จะมีปริมาณน้อยลง หนาตัวขึ้น และสังเกตเห็นได้น้อยลง
    • อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนไป ในช่วงเริ่มต้นรอบเดือน อุณหภูมิร่างกายของผู้หญิงจะสม่ำเสมอ เฉลี่ยประมาณ 36.1-36.4°C และเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงไข่สุก อุณหภูมิร่างกายอาจลดลงเล็กน้อย พอถึงวันไข่ตก อุณหภูมิร่างกายจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 36.4-37°C เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มสูงขึ้น การติดตามอุณหภูมิร่างกายของตัวเองในช่วงตอนเช้าหลังตื่นนอนอย่างน้อย 2-3 เดือนในช่วงไข่สุก อาจช่วยให้คาดคะเนช่วงไข่สุกได้แม่นยำขึ้น

    วิธีคำนวณช่วงไข่สุก ทำได้อย่างไรบ้าง

    วิธีคำนวณช่วงไข่สุก อาจมีดังนี้

    การนับวัน (Calendar Method)

    เป็นวิธีคำนวณช่วงไข่สุกด้วยการติดตามรอบประจำเดือนในแต่ละเดือนเพื่อหาความยาวของรอบเดือน โดยทั่วไป 1 รอบเดือนจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนรอบก่อนหน้านี้จนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนนี้รอบนี้ รอบเดือนผู้หญิงส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 28 วัน แต่หากระยะห่างของแต่ละรอบเดือนประมาณ 21-35 วันก็ถือว่าปกติเช่นกัน (28 +-7 วัน) และวันไข่ตกจะอยู่ประมาณวันที่ 14-16 ของรอบเดือนนั้น ๆ

    การนับวันเพื่อหาว่า ช่วงไขสุกคือ ช่วงไหน ทำได้โดยการนับรอบเดือนของตัวเองติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ได้ระยะเวลาของรอบเดือนที่แม่นยำ เมื่อได้ระยะเวลาของรอบเดือนมาแล้ว ให้ดูว่าวันไข่ตกคือวันไหน และ 5 วันก่อนถึงวันไข่ตกและวันไข่ตก ก็คือ ช่วงไข่สุก

    ตัวอย่างการหาช่วงไข่สุก หากระยะเวลาของรอบเดือนแต่ละรอบห่างกัน 28 วัน และประจำเดือนวันแรกของรอบเดือนคือวันที่ 1 ให้นำระยะห่างของรอบเดือนมาลบ 14 จะได้วันที่ไข่ตก หมายความว่าตามตัวอย่างนี้วันที่ 14 คือวันไข่ตก และช่วงไข่สุกของรอบเดือนนี้คือ วันที่ 9-14 ของเดือน ซึ่งได้แก่ ระยะเวลา 5 วันก่อนวันไข่ตก และวันไข่ตก รวมมีช่วงไข่สุกทั้งหมด 6 วัน

    ทั้งนี้ วิธีหาช่วงไข่สุกด้วยการนับวันเหมาะกับผู้ที่มีประจำเดือนมาในเวลาใกล้เคียงกันทุกเดือน หากประจำเดือนมาไม่ปกติ ขาดหายไปในบางเดือน หรือมาไม่ตรงกันทุกเดือน การนับวันอาจให้ผลที่ไม่แม่นยำเท่าที่ควร

    การตรวจมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus method)

    ความแปรปรวนของฮอร์โมนร่างกายในระหว่างรอบเดือนอาจทำให้เกิดเมือกบริเวณช่องคลอด ในช่วงก่อนไข่ตก มูกที่ปากมดลูกมักมีลักษณะคล้ายครีม เนื้อข้นเล็กน้อย เมื่ออยู่ในวันไข่ตก มูกจะมีลักษณะเหนียวใส บาง มีความชุ่มชื้นสูง และหลั่งออกมาในปริมาณมากขึ้น มูกนี้เรียกว่ามูกไข่ตก (Fertile Cervical Mucus) จะช่วยรองรับการปฏิสนธิที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนั้น ช่วยให้อสุจิสามารถเดินทางเข้าสู่ช่องคลอดได้สะดวก และอาจช่วยยืดอายุให้อสุจิได้ และเมื่อพ้นวันไข่ตกไปแล้ว เมือกใสบริเวณช่องคลอดจะมีปริมาณน้อยลง มีลักษณะเหนียวข้นขึ้น ผู้ที่ต้องการใช้วิธีนี้เพื่อคำนวณช่วงเวลาไข่สุกอาจสังเกตปริมาณและลักษณะของเมือกใสเป็นเวลาอย่างน้อย 1 รอบเดือน เพื่อให้สามารถแยกความแตกต่างของมูกปากมดลูกที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงได้

    การตรวจมูกที่ปากมดลูกอาจทำได้ใช้กระดาษชำระเช็ดบริเวณปากมดลูกแล้วสังเกตลักษณะของมูกที่ติดมากับกระดาษชำระ หากเป็นเมือกใส บาง และมีปริมาณมากกว่าปกติ อาจแสดงว่าอยู่ในช่วงไข่สุก แต่หากพบว่ามีพื้นผิวที่ข้นเหนียวกว่าปกติ อาจแสดงว่าอยู่ในช่วงหลังวันไข่ตก

    การใช้ชุดทดสอบการตกไข่ หรือ ที่ตรวจไข่ตก (Ovulation predictor kits หรือ LH Ovulation Test Strip)

    ชุดทดสอบการตกไข่ หรือ ที่ตรวจไข่ตก เป็นชุดตรวจปัสสาวะที่ออกแบบมาเพื่อตรวจหาระดับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่ชื่อว่า ฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing hormone หรือ LH) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นรังไข่ในเพศหญิง และกระตุ้นอัณฑะในเพศชาย โดยอาจใช้ชุดตรวจการตกไข่ในวันที่ 10-14 ของรอบเดือน หากใช้ชุดตรวจแล้วพบฮอร์โมนดังกล่าวในปัสสาวะ แสดงว่าการตกไข่จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งบ่งชี้ว่าขณะนี้ร่างกายของผู้หญิงอยู่ในระยะเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์และมีโอกาสตั้งครรภ์สูง ชุดทดสอบการตกไข่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนตามปกติ และอาจไม่เหมาะกับผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติเนื่องจากมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome หรือ PCOS) เนื่องจากผลที่ออกมาอาจไม่แม่นยำ 100%

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา