มดลูกที่ขยายตัวขณะตั้งครรภ์อาจไปเบียดกระเพาะปัสสาวะจนส่งผลให้แม่ตั้งครรภ์ปวดปัสสาวะบ่อย ๆ แต่ในบางครั้งคุณแม่ก็อาจไม่สะดวกเข้าห้องน้ำทันทีและเลือกกลั้นปัสสาวะแทน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ แต่เคยสงสัยไหมว่า เพราะเหตุใดแม่ที่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า เมื่อปัสสาวะที่มีเชื้อแบคทีเรียค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นอันตรายทั้งกับคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ เช่น ภาวะกรวยไตอักเสบขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด ภาวะแท้ง คุณแม่จึงควรปัสสาวะทุกครั้งที่ปวด และดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพดังกล่าว
[embed-health-tool-due-date]
เพราะเหตุใดแม่ที่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
ในช่วงตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปมักทำให้ร่างกายของแม่ตั้งครรภ์เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือ การปวดปัสสาวะบ่อย ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไปกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในไต ส่งผลให้ไตทำงานมากกว่าปกติ ร่างกายกำจัดของเสียส่วนเกินเร็วขึ้น จึงผลิตปัสสาวะมากขึ้น นอกจากนี้ ขนาดของมดลูกที่ขยายตัวขึ้น จะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้กักเก็บปัสสาวะได้น้อยลงและจำเป็นต้องขับถ่ายปัสสาวะออกจากร่างกายบ่อยขึ้น นี่เองที่ทำให้แม่ตั้งครรภ์ต้องเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะบ่อย ๆ
การปวดปัสสาวะแต่กลั้นปัสสาวะไว้ ไม่ยอมไปขับถ่ายทันที อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infections หรือ UTI) เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากมีแบคทีเรียจำนวนมากสะสมอยู่ในทางเดินปัสสาวะเป็นเวลานาน และการติดเชื้ออาจลุกลามไปตามท่อไตจนนำไปสู่การติดเชื้อที่ไต ยิ่งในคนท้องที่ระบบภูมิคุ้มกันมักอ่อนแอลง ก็ยิ่งทำให้เสี่ยงเกิดภาวะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้นไปอีก
การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้แม่ตั้งครรภ์เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง รุนแรง หรือเชื้อลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ท่อไต กรวยไต
- การติดเชื้อในกระแสเลือดที่อาจรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- กลุ่มอาการหายใจลำบากในผู้ใหญ่ (Adult respiratory distress syndrome) อาจเกิดจากปอดติดเชื้อแบคทีเรียที่ลุกลามมาจากทางเดินปัสสาวะ ทำให้ของเหลวจากหลอดเลือดในบริเวณใกล้เคียงรั่วไหลเข้าไปในถุงลมเล็ก ๆ ในปอด และส่งผลให้มีอาการหายใจลำบาก
- โรคโลหิตจางจากการอักเสบ (Anemia of inflammation) อาจส่งผลให้สูญเสียธาตุเหล็กในเลือด และทำให้เม็ดเลือดแดงมีปริมาณน้อยลงและอายุของเม็ดเลือดแดงสั้นลง จนทำให้เกิดภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์
- ภาวะกรวยไตอักเสบขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดจากท่อไตถูกมดลูกเบียดจนอุดตันและกรวยไตอักเสบ
- ภาวะไตล้มเหลว (Kidney failure) เกิดขึ้นเมื่อเชื้อแบคทีเรียลุกลามไปที่ไต หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจสร้างความเสียหายให้กับไตและเกิดภาวะไตล้มเหลวได้
นอกจากนี้ เชื้อแบคทีเรียยังอาจลุกลามไปถึงทารกในครรภ์ และส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์และความผิดปกติของทารก เช่น การคลอดก่อนกำหนด ภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนด ภาวะทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ภาวะตายแรกคลอด (Stillbirth) ภาวะแท้งเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพดังกล่าว หากรู้สึกปวดปัสสาวะ แม่ตั้งครรภ์ควรถ่ายปัสสาวะทันทีไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
สัญญาณและอาการของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
หากแม่ตั้งครรภ์มีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะขณะตั้งครรภ์ควรไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
- รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
- ต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
- หากปวดปัสสาวะแล้วต้องถ่ายปัสสาวะทันที ไม่สามารถรอได้
- ปัสสาวะมีสีขุ่น คล้ำ หรือมีกลิ่นแรง
- มีเลือดปนอยู่ในปัสสาวะ
- ปวดท้องส่วนล่าง ปวดหลังบริเวณใต้ซี่โครง
- มีไข้ หรือถ้าเป็นรุนแรงจนมีการติดเชื้อในกระแสแลือด อาจเกิดภาวะ Hypothermia หรืออุณหภูมิร่างกายต่ำได้ โดยอาจต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส
หากการติดเชื้อรุนแรงและเชื้อลุกลามไปที่ไต อาจทำให้มีอาการต่อไปนี้
- มีไข้
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดหลังส่วนบนหรือปวดหลังข้างเดียว
วิธีลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
วิธีลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้หญิงตั้งครรภ์ อาจทำได้ดังนี้
- ดื่มน้ำและของเหลวให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน
- หลังถ่ายปัสสาวะหรือเข้าห้องน้ำ ควรทำความสะอาดและซับบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักให้แห้ง โดยซับจากหน้าไปหลัง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
- หากทำได้ ควรถ่ายปัสสาวะทันทีที่ปวดปัสสาวะ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะไว้นาน
- สวมกางเกง กระโปรง และชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป
- ควรทำความสะอาดร่างกายและถ่ายปัสสาวะทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจช่วยความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอวัยวะเพศหรือสบู่ที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำส้ม อาหารรสจัด และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจกระตุ้นการขับปัสสาวะและอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองได้
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด (Vaginal douching) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
วิธีช่วยไม่ให้แม่ตั้งครรภ์ต้องกลั้นปัสสาวะ
- ให้แม่ตั้งครรภ์นอนหลับหรือพักผ่อนในบริเวณที่อยู่ใกล้ห้องน้ำ จะได้เข้าห้องน้ำได้สะดวกฃ
- ควรถ่ายปัสสาวะก่อนนอนเสมอ จะได้ไม่ต้องลุกไปถ่ายปัสสาวะบ่อย ๆ ในตอนกลางคืน
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น โกโก้ กาแฟ ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการขับปัสสาวะและทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ในปริมาณมากก่อนนอน จะได้ไม่ปวดปัสสาวะจนต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ