backup og meta

เมือก ใส ตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    เมือก ใส ตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่

    เมือกใสหรือตกขาวที่ออกมาจากช่องคลอด (Vaginal Discharge) เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แต่เมือกใสหรือตกขาวมักมีปริมาณมากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่ปรับตัวเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจสังเกตเห็น เมือก ใส ตั้งครรภ์ ที่มากกว่าปกติ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากเมือกใสมีลักษณะผิดปกติไป เช่น มีกลิ่นเหม็น เปลี่ยนสีเป็นสีเขียว สีเหลือง หรือสีน้ำตาล อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในช่องคลอด ที่ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ

    เมือก ใส ตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร

    โดยปกติแล้วปริมาณเมือกใสบริเวณช่องคลอดจะเพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพิ่มขึ้น และเลือดไหลเวียนมากขึ้น เมือกใสช่วงตั้งครรภ์มักมีลักษณะค่อนข้างข้น มีสีขาวใส และไม่มีกลิ่น มีหน้าที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นและหล่อเลี้ยงช่องคลอดไม่ให้แห้งจนเกินไป ช่วยขับสิ่งสกปรก และป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ตลอดการตั้งครรภ์

    เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณเมือกใสตั้งครรภ์ก็อาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วยจนทำให้คุณแม่สับสนกับปัสสาวะได้ เมื่อถึงช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอดหรือขณะคลอด ปากมดลูกจะขยายตัวจนทำให้เส้นเลือดโดยรอบแตกออก คุณแม่จึงอาจสังเกตเห็นมูกอุดกั้นปากมดลูก (Mucus plug) ลักษณะขาวข้นไหลออกมาจากช่องคลอด และอาจมีเลือดปนออกมาด้วย เรียกว่า มูกเลือดก่อนคลอด ลักษณะคล้ายเยลลี่ มีสีแดงหรือน้ำตาลปน มูกอุดกั้นปากมดลูกมีหน้าที่ป้องกันและยับยั้งไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปถึงมดลูกและทารกในครรภ์ แตกต่างจากเมือกใสที่จะมีลักษณะเป็นเมือกใสบาง ๆ สีขาวหรือออกเหลืองที่ร่างกายผลิตมาเพื่อหล่อเลี้ยงช่องคลอดตลอดการตั้งครรภ์

    เมือกใส ตั้งครรภ์ เป็นอันตรายหรือไม่

    เมือกใสบริเวณช่องคลอดที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่หากลักษณะของเมือกใสเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ เช่น

  • โรคติดเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis)

  • การติดเชื้อราบริเวณช่องคลอดหรือปากมดลูกมักเกิดจากการติดเชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากภายในช่องคลอดมีสภาพที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อรา อาจทำให้มีอาการตกขาวผิดปกติ เป็นสีขาวข้นหรือเป็นก้อนคล้ายนมบูด และมีอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณช่องคลอดและอวัยวะสืบพันธุ์ร่วมด้วย หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจทำให้เกิดอาการคัน แดง และอักเสบบริเวณรอบ ๆ ช่องคลอดของสตรีรายนั้นได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว การติดเชื้อราในช่องคลอดมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรงต่อคุณแม่และทารกในครรภ์แต่อย่างใด และไม่ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดด้วย

    • โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis)

    การติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด ปากมดลูกหรือท่อปัสสาวะ เกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อว่า ทริโคโมแนส วาจินาลิส (Trichomonas vaginalis) ทำให้มีตกขาวออกมามากกว่าปกติ ตกขาวเป็นสีเทา หรือสีเขียว อาจเป็นฟอง ทั้งยังอาจส่งกลิ่นเหม็น และมีอาการคัน หากไม่รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ (Premature rupture of membranes) การคลอดก่อนกำหนด และภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย คือ น้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม และทารกอาจติดเชื้อพยาธิในระหว่างคลอดได้

    การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดเกิดจากระดับเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล คือ มีแบคทีเรียชนิดแลคโตบาซิลไล (Latobacilli) หรือแบคทีเรียชนิดดีลดลง และมีแบคทีเรียแอนแอโรบ (Anaerobes) เพิ่มขึ้น อาการมักไม่ชัดเจนเหมือนการติดเชื้อราหรือพยาธิ แต่อาจทำให้มีตกขาวในปริมาณมาก ตกขาวออกสีเหลือง ขาวนวล หรือเทาอ่อน และมีกลิ่นคล้ายคาวปลา และอาจรู้สึกแสบคันร่วมด้วย โรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้เกิดภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์และการคลอดก่อนกำหนดได้

    เมือก ใส ตั้งครรภ์ ลักษณะไหน ควรไปพบคุณหมอ

    หากมีตกขาวหรือเมือกใสตั้งครรภ์มากผิดปกติ ร่วมกับอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือโรคที่ร้ายแรงกว่า เช่น เนื้องอก โรคมะเร็งปากมดลูก ที่ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ป้องกันไม่ให้อาการลุกลามรุนแรง และไม่ให้เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์

    • เมือกใสตั้งครรภ์มีสีผิดปกติ เช่น สีเหลือง สีเทา สีเขียว สีน้ำตาล
    • เมือกใสมีกลิ่นเหม็นหรือมีกลิ่นคล้ายคาวปลา
    • มีอาการแสบ คัน หรือระคายเคืองบริเวณช่องคลอดและอวัยวะเพศ
    • มีเลือดปนออกมากับเมือกใส

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา