backup og meta

ท้อง2สัปดาห์ มีอาการอย่างไร และคุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ท้อง2สัปดาห์ มีอาการอย่างไร และคุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ในทางการแพทย์ คุณหมอจะนับอายุครรภ์ตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งจะถูกประเมินเป็นสัปดาห์ที่ 1 และ 2 ของการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยให้กำหนดวันคลอดได้อย่างถูกต้อง การ ท้อง2สัปดาห์ คือช่วงไข่ตก (Ovulation) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ร่างกายจะปล่อยไข่ออกจากรังไข่ไปยังท่อนำไข่ เพื่อให้ไข่และอสุจิได้ผสมกันและปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อน ซึ่งอาจทำให้มีอาการที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น มีมูกไข่ตกออกจากช่องคลอด มีความต้องการทางเพศมากขึ้น ปวดท้องส่วนล่างข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นขณะตั้งท้องในสัปดาห์ที่ 2 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพของตัวเองและเด็กในครรภ์

[embed-health-tool-due-date]

เริ่มนับอายุครรภ์ตอนไหน

เพื่อความสะดวกในการคำนวณวันกำหนดคลอดที่แม่นยำที่สุด สูตินรีแพทย์จะเริ่มนับอายุครรภ์ตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายของคุณแม่ก่อนจะตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ดังนั้น อายุครรภ์ 2 สัปดาห์จึงยังไม่ได้เป็นช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์จริง ๆ แต่เป็นช่วงไข่ตกซึ่งอยู่ในช่วงประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน ในช่วงนี้รังไข่จะผลิตและปล่อยไข่ออกมา ไข่ที่ปล่อยออกมานั้นจะมารอผสมกับอสุจิที่บริเวณปลายท่อนำไข่ หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 2-3 วันหลังวันไข่ตกโดยไม่คุมกำเนิดและหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอด ก็มีโอกาสที่ไข่และอสุจิจะผสมกันแล้วปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อน ประมาณ 5-6 วันหลังการตกไข่ หรือสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนจะเคลื่อนตัวไปฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก และเจริญเติบโตต่อไปอย่างปลอดภัย ถือว่าเป็นช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ที่มีเด็กถือกำเนิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์

อาการของคุณแม่ ท้อง2สัปดาห์ หรือช่วงไข่ตก

อาการของคุณแม่ในช่วงที่ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ มักเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายในช่วงที่ไข่กำลังตก ซึ่งเป็นช่วงที่มีโอกาสในการตั้งครรภ์สูง อาการขณะไข่ตก อาจมีดังต่อไปนี้

  • มีมูกไข่ตกไหลออกมาจากช่องคลอด ในช่วงตกไข่ ตกขาวจะมีลักษณะเป็นเมือกลื่น บาง ใส ยืดได้ คล้ายไข่ขาว เพื่อช่วยให้อสุจิสามารถเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ไปถึงไข่ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
  • เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น ในช่วงตกไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญเติบโตขึ้นภายในโพรงมดลูก เพื่อรอรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนในกรณีที่ไข่ได้รับการผสมกับอสุจิและกลายเป็นตัวอ่อน หากในรอบตกไข่ของเดือนนั้นไม่มีอสุจิเข้ามาผสมกับไข่ได้สำเร็จ เยื่อบุโพรงมดลูกและเลือดก็จะหลุดลอกตัวออกทางช่องคลอดเป็นเลือดประจำเดือน
  • อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น หลังไข่ตก ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนซึ่งไปเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างไข่ตกจะส่งผลให้ผู้หญิงมีความต้องการของเพศสูงขึ้น
  • ปากมดลูกอ่อนนุ่มขึ้น ในช่วงไข่ตก ปากมดลูกจะอ่อนนุ่มและเปิดกว้างขึ้นเพื่อให้อสุจิสามารถเดินทางเข้าไปได้สะดวก
  • ปวดท้องและหลังส่วนล่าง การตกไข่อาจทำให้มีอาการปวดหรือเป็นตะคริวบริเวณหลังและท้องข้างใดข้างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าในเดือนนั้น ๆ มีไข่ตกมาจากรังไข่ข้างใด รังไข่ที่ขยายตัวอาจทำให้รู้สึกปวดเพียงไม่กี่นาทีหรือปวดนาน 1-2 วัน บางคนอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยร่วมด้วย

การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมขณะตั้งครรภ์

หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึค้นจริงภายหลังไข่ตกในรอบเดือนนั้น ๆ การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมขณะตั้งครรภ์ สามารถทำได้ดังนี้

  • หาวิธีคลายเครียด ภาวะเครียดเรื้อรังหรือมีอารมณ์ด้านลบที่ไม่ปกติในขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลเสียต่อเด็กในครรภ์และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด เด็กแรกเกิดน้ำหนักน้อย พัฒนาการทางสมองของเด็กผิดปกติ คุณแม่จึงควรพยายามจัดการความเครียดขณะตั้งครรภ์ด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น ทำกิจกรรมโปรดหรือกิจกรรมผ่อนคลายอย่างการเล่นโยคะ การอ่านหนังสือ การฟังเพลง เป็นต้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8-12 แก้ว (2-2.5 ลิตร) และหากอยู่ในไตรมาสที่ 2-3 (เดือนที่ 4-9) ของการตั้งครรภ์ ควรดื่มน้ำเพิ่มจากปกติอย่างน้อย 300 มิลลิลิตร เพื่อให้ร่างกายมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับทั้งคุณแม่และเด็กในครรภ์
  • กินวิตามินเสริม คุณแม่ควรรับประทานโฟเลต 0.4 มิลลิกรัมวันละ 1 เม็ดก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน และหลังคลอดอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อเสริมการสร้างหลอดประสาทที่จะพัฒนาไปเป็นสมองและไขสันหลังของเด็ก ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด เช่น การแท้ง ภาวะเด็กแรกเกิดพิการแต่กำเนิด
  • หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ปลาที่อาจมีปริมาณสารปรอทและสารปนเปื้อนอื่น ๆ ในปริมาณมากอย่างปลากระโทงดาบ ปลาไหล ปลาฉลาม ปลาอินทรี เป็นต้น เพราะอาจเป็นอันตรายต่อพัฒนาการทางสมองและอาจไปทำลายระบบประสาทของเด็กในครรภ์ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How can I tell when I’m ovulating?.  https://www.nhs.uk/common-health-questions/womens-health/how-can-i-tell-when-i-am-ovulating/. Accessed August 16, 2022

Ovulation Symptoms. https://www.webmd.com/baby/am-i-ovulating. Accessed August 16, 2022

Your Pregnancy Week by Week: Weeks 1-4. https://www.webmd.com/baby/guide/your-pregnancy-week-by-week-weeks-1-4. Accessed August 16, 2022

Pregnancy at weeks 1 to 4. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/pregnancy-at-week-1-4. Accessed August 16, 2022

2 weeks pregnant. https://raisingchildren.net.au/pregnancy/week-by-week/first-trimester/2-weeks. Accessed August 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/09/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วันไข่ตก นับอย่างไรให้เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

อาการคนท้องระยะแรก และวิธีรับมืออาการแพ้ท้อง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา