backup og meta

ปวดท้องหน่วงๆ ตั้งครรภ์อ่อนๆ เกิดจากอะไร

ปวดท้องหน่วงๆ ตั้งครรภ์อ่อนๆ เกิดจากอะไร

อาการ ปวดท้องหน่วงๆ ตั้งครรภ์อ่อนๆ ที่สามารถพบได้ทั่วไปในช่วงการตั้งครรภ์ระยะแรก หรือในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจเกิดจากมดลูกขยายตัว เอ็นและกล้ามเนื้อยืดออกเมื่อท้องโตขึ้น ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงจนทำให้ท้องผูกหรือท้องอืด มีแก๊สในทางเดินอาหาร โดยทั่วไปอาการปวดท้องหน่วงอาจหายไปเองเมื่อขยับเปลี่ยนท่าทาง พักผ่อนให้เพียงพอ เข้าห้องน้ำ หรือแก๊สในทางเดินอาหารลดลง แต่หากอาการไม่หายไป รุนแรงขึ้น หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

[embed-health-tool-due-date]

ปวดท้องหน่วงๆ ตั้งครรภ์อ่อนๆ เกิดจากอะไร

อาการปวดท้องหน่วงขณะตั้งครรภ์ระยะแรก อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • มดลูกขยายตัว จนอาจทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อโดยรอบมดลูกยืดตัวออก ส่งผลให้ปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างแบบปวดหน่วงคล้ายเป็นตะคริวหรือคล้ายปวดประจำเดือน อาจมีอาการเมื่อไอ จาม หรือเปลี่ยนท่าทาง คุณแม่บางรายอาจมีอาการปวดท้องหน่วงและปวดหลังในช่วงแรกของการตั้งครรภ์เนื่องจากตัวอ่อนฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก
  • อาหารไม่ย่อย อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารคลายตัวและทำให้การบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ลดลง อาหารจะตกค้างในทางเดินอาหารนานขึ้น เกิดเป็นอาการเสียดท้อง กรดไหลย้อน ร่วมกับอาหารไม่ย่อย เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ทารกจะเจริญเติบโตมากขึ้นและอาจกดเบียดทางเดินอาหารมากขึ้น ทำให้ย่อยอาหารได้ยากขึ้น
  • ท้องผูก อาการท้องผูกหรือขับถ่ายไม่สะดวก เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในหญิงตั้งครรภ์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การได้รับของเหลวน้อยเกินไป การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารที่ช่วยในการย่อยไม่มากพอ การขาดการออกกำลังกายและการทำกิจกรรมทางกาย การรับยาเสริมธาตุเหล็ก อาการวิตกกังวล ปัจจัยเหล่านี้อาจนำไปสู่อาการท้องผูกที่ทำให้ปวดท้องหน่วงๆ ในช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆ ได้
  • ท้องอืด ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนของหญิงตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้ (Intestinal muscles) คลายตัว ส่งผลให้อาหารค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่นานกว่าปกติ และเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้น ร่วมกับมีอาการปวดท้อง

นอกจากนี้ อาการปวดท้องหน่วงๆ ในช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆ ยังอาจเกิดจากภาวะสุขภาพบางประการ เช่น

  • การแท้ง หากมีอาการปวดท้องหน่วงและรุนแรงบริเวณท้องน้อยด้านขวา ร่วมกับมีจุดเลือดหรือก้อนเลือดไหลออกจากช่องคลอด อาจเป็นอาการแท้งบุตร ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงโดยเร็วที่สุด
  • ไส้ติ่งอักเสบ คือ ภาวะติดเชื้อของไส้ติ่งที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่ต่อมาปวดลงมาบริเวณท้องน้อยด้านขวา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร มีไข้ อ่อนเพลีย เป็นต้น
  • นิ่วในถุงน้ำดี การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการทำงานของระบบย่อยอาหารที่ช้าลงในขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ ผู้มีนิ่วในถุงน้ำดีอาจมีอาการเสียดท้อง ปวดแปล๊บบริเวณท้องส่วนบนด้านขวา คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ไม่อยากอาหาร เป็นต้น แม้นิ่วในถุงน้ำดีมักจะหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่หญิงตั้งครรภ์เป็นนิ่วในถุงน้ำดี และเริ่มมีอาการดังกล่าว ควรไปปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาและการดูแลตัวเองที่เหมาะสม
  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยและเจ็บขณะถ่ายปัสสาวะ โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดแบคทีเรียที่ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทั้งนี้ คุณแม่ท้องที่มีสัญญาณของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะควรไปพบคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบทำให้น้ำเดินก่อนกำหนด ภาวะมดลูกพัฒนาช้า การคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกน้ำหนักตัวน้อย

วิธีดูแลตัวเองเมื่อ ปวดท้องหน่วงๆ ตั้งครรภ์อ่อนๆ

วิธีดูแลตัวเองเมื่อปวดท้องหน่วงๆ ตั้งครรภ์อ่อนๆ อาจทำได้ดังนี้

  • ควรรับประทานอาหารมื้อเล็กหลายมื้อต่อวัน แทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ เพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยอาหารได้เร็วขึ้น และควรดื่มน้ำให้มากเพื่อช่วยให้ลำไส้สามารถดูดซึมอาหารได้ง่ายขึ้น อาหารเคลื่อนตัวผ่านทางเดินอาหารได้ไวขึ้น อาจช่วยลดอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด และท้องผูกที่ทำให้ปวดท้องหน่วงๆ ได้
  • ออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว โยคะ ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ได้ ทั้งนี้ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารที่มีไขมันสูง ถั่ว กะหล่ำปลี น้ำอัดลม
  • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน และขณะพักผ่อน พยายามนั่ง นอนราบ หรือเปลี่ยนท่าบ่อยๆ อาจช่วยลดอาการปวดท้องหน่วงๆ ได้

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

อาการปวดท้องในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป และอาจไม่ได้เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรงสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์เสมอไป อย่างไรก็ตาม หากหญิงตั้งครรภ์ปวดท้องหน่วงๆ ร่วมกับมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพที่รุนแรง ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

  • ปวดท้องหรือปวดหลังอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง
  • อาการปวดแย่ลงในตอนกลางคืนหรือขณะนอนราบ
  • มีอาการปวดร่วมกับมีรอยแดงหรืออาการบวม
  • อาเจียน คลื่นไส้ หรือท้องเสีย
  • ปวดศีรษะรุนแรงต่อเนื่อง
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
  • สายตาพร่ามัว
  • เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
  • มีตกขาวสีน้ำตาล
  • รู้สึกเจ็บขณะถ่ายปัสสาวะ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Stomach Pain in Pregnancy. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-complications/abdominal-pain-during-pregnancy/. Accessed October 26, 2022

Common Changes During Pregnancy: First trimester. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=common-changes-during-pregnancy-138-W1311. Accessed October 26, 2022

Stomach pain in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/stomach-pain/#. Accessed October 26, 2022

Aches and pains during pregnancy. https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000580.htm. Accessed October 26, 2022

Abdominal Pain and Pregnancy: What to Know. https://www.webmd.com/baby/abdominal-pain-and-pregnancy-what-to-know. Accessed October 26, 2022

Pregnancy Cramps. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-concerns/cramping-during-pregnancy/. Accessed October 26, 2022

Indigestion and heartburn in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/indigestion-and-heartburn/#:~:text=Indigestion%2C%20also%20called%20heartburn%20or,safe%20to%20take%20in%20pregnancy. Accessed October 26, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/11/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจําเดือน สาเหตุเกิดจากอะไร

ปวดท้องเมนส์ แต่เมนส์ไม่มา เกิดจากสาเหตุใด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา