backup og meta

ปวดท้องเมนส์ แต่เมนส์ไม่มา เกิดจากสาเหตุใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 21/02/2024

    ปวดท้องเมนส์ แต่เมนส์ไม่มา เกิดจากสาเหตุใด

    อาการปวดท้องเมนส์เป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ แต่บางครั้งแม้ว่าจะหมดเมนส์ในรอบเดือนนั้นแล้ว อาการปวดท้องก็อาจยังไม่ทุเลาลง และอาจเกิดอาการปวดท้องได้แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่เมนส์ยังไม่มาหรือกำลังมีเมนส์ แต่หากมีอาการ ปวดท้องเมนส์ แต่เมนส์ไม่มา อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพ เช่น การตั้งครรภ์ การตกไข่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การแท้งลูก หากพบว่ามีอาการปวดท้องร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

    ปวดท้องเมนส์ แต่เมนส์ไม่มา เกิดจากสาเหตุใด

    อาการ เหมือน ปวดท้องประจำเดือน แต่ไม่เป็นประจำเดือน อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพดังนี้

    การตกไข่ (Ovulation)

    ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ อาจมีอาการปวดที่คล้ายการปวดท้องเมนส์ซึ่งเกิดจากการตกไข่ ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อรังไข่ปล่อยไข่ออกมาเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้น อาการปวดท้องจากการตกไข่มักเกิดก่อนเมนส์มาประมาณ 10-14 วัน

  • อาการของโรค/ภาวะ: มีอาการคล้ายการปวดท้องเมนส์ปกติ อาจรู้สึกปวดท้องน้อยฝั่งใดฝั่งหนึ่งเป็นเวลาหลายนาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง อาจรู้สึกปวดแปลบ หรือปวดตื้อ ๆ อาการปวดจะเกิดขึ้นที่ท้องน้อยฝั่งซ้ายหรือขวาก็ขึ้นอยู่กับว่ารังไข่ฝั่งไหนปล่อยไข่ในเดือนนั้น ทั้งนี้ อาจปวดแบบสลับข้างกันหรืออาจทำให้ปวดที่เดิมทุกครั้ง อาจมีอาการเลือดออกปริมาณเล็กน้อย (Ovulation bleeding) หรือพบมูกใสปริมาณมากที่เรียกว่ามูกตกไข่ (Fertile cervical mucous)
  • การตั้งครรภ์

    อาการปวดคล้ายปวดท้องเมนส์ที่เกิดจากการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนของทารกฝังตัวเข้ากับผนังมดลูก ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการของการตั้งครรภ์

  • อาการของโรค/ภาวะ: หญิงตั้งครรภ์อาจรู้สึกถึงอาการปวดเมื่อมีอายุครรภ์ประมาณ 4 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการมีประจำเดือนปกติ อาจมีอาการเลือดออกเล็กน้อยจากการฝังตัวของตัวอ่อน ที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding)
  • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

    เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากเนื้อเยื่อที่คล้ายกับเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตอยู่นอกมดลูก ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากภาวะประจำเดือนไหลย้อนกลับผ่านท่อนำไข่เข้าไปฝังตัวในบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น รังไข่ เยื่อบุช่องท้อง ผนังลำไส้ ผนังกระเพาะปัสสาวะ และอาจกระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ผ่านทางท่อน้ำเหลือง เช่น กระบังลม ปอด เยื่อหุ้มช่องปอด จนอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องคล้ายเมนส์มาได้

    • อาการของโรค/ภาวะ: มีอาการคล้ายปวดท้องเมนส์ปกติ แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาของเดือน
    • อาการร่วมอื่น ๆ: อาจรู้สึกเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ ปวดร้าวไปทั่วแผ่นหลังและท้องบริเวณใต้สะดือ และอาจเจ็บขณะถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ นอกจากนี้ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีบุตรยากด้วย เนื่องจากเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตผิดตำแหน่งไปขัดขวางการทำงานของรังไข่ จนอาจทำให้ท่อนำไข่ตัน หรือทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ไม่สำเร็จ

    กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารอักเสบ (Inflammatory Bowel Disease หรือ IBD)

    กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารอักเสบ เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) ทำให้เนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารบวมและอักเสบ มักเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจทำให้ปวดท้องเหมือนเป็นเมนส์ในระหว่างรอบเดือนได้

    • อาการของโรค/ภาวะ: อาการปวดขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น หากเป็นโรคโครห์น อาจปวดท้องในระดับเบาไปจนถึงรุนแรงที่ท้องขวาล่างแถวใต้สะดือ หากเป็นโรคลำไส้อักเสบ อาจทำให้ปวดท้องล่างซ้าย
    • อาการร่วมอื่น ๆ: อาการร่วมของโรคนี้แตกต่างไปตามชนิดของโรค อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือท้องผูก รู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด อาจมีเลือดปนในอุจจาระ น้ำหนักลดลง หรือมีไข้

    การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy)

    เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนฝังตัวอยู่นอกมดลูก โดยทั่วไปมักพบที่บริเวณท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่ง แทนที่จะเป็นภายในโพรงมดลูกอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตจะทำให้เกิดอาการปวดท้องและมีประจำเดือนผิดปกติ เนื่องจากอวัยวะที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่ไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้และทำให้ท่อนำไข่เสียหาย

    การตั้งครรภ์นอกมดลูกส่วนใหญ่ ตัวอ่อนจะไม่สามารถเจริญเติบโตไปเป็นทารกได้และจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตของผู้ที่ตั้งครรภ์และจำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน

    • อาการของโรค/ภาวะ: อาจทำให้รู้สึกปวดท้องในระดับเบาตามมาด้วยอาการเจ็บปวดเฉียบพลันบริเวณท้องส่วนล่างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง อาการปวดอาจรุนแรงขึ้นและลามไปยังไหล่และหลังส่วนล่าง
    • อาการร่วมอื่น ๆ: ก่อนมีอาการปวดท้อง อาจมีอาการร่วมอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้ คัดเต้านม แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการที่แสดงว่าตั้งครรภ์เลย

    การแท้งลูก (Miscarriage)

    เป็นภาวะสูญเสียทารกในครรภ์ในระยะเริ่มต้น หรือตั้งแต่หลังปฏิสนธิไปจนถึงก่อนสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงในการแท้งสูง อาจเกิดจากตัวอ่อนไม่แข็งแรง โพรงมดลูกหรือมดลูกผิดปกติ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ตั้งครรภ์อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ในขณะนั้นเนื่องจากไม่มีอาการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน

    • อาการของโรค/ภาวะ: มีอาการคล้ายกับการปวดท้องเมนส์ และอาการอาจรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
    • อาการร่วมอื่น ๆ: อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นจุดเลือดเล็ก ๆ หรืออาจพบของเหลวหรือเนื้อเยื่อออกมาจากช่องคลอด

    โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease หรือ PID)

    เป็นโรคที่พบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เกิดจากระบบสืบพันธุ์ส่วนบน เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ มดลูก เยื่อบุช่องท้อง ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้

    • อาการของโรค/ภาวะ: มีอาการปวดท้องส่วนล่างทั้งสองฝั่ง และอาการปวดอาจลามไปถึงหลังส่วนล่าง อาการสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งเดือน
    • อาการร่วมอื่น ๆ: อาจมีตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวเป็นหนอง หรือมีจุดเลือดออกจากช่องคลอด อาจรู้สึกเจ็บขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ และอาจทำให้เมนส์มามากหรือนานกว่าปกติ นอกจากนี้ อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียนด้วย

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากมีอาการปวดท้องเมนส์ แต่เมนส์ไม่มา และอาการปวดไม่ทุเลาหรือรุนแรงขึ้น อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพที่ผิดปกติและร้ายแรงดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุดเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและตรวจร่างกายเพิ่มเติม เนื่องจากหลายโรคที่สัมพันธ์กับการปวดท้องเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต

    การวินิจฉัยอาการ ปวดท้องเมนส์ แต่เมนส์ไม่มา

    หากมีอาการปวดท้องเมนส์ แต่เมนส์ไม่มา และมีอาการร่วมอื่น ๆ ที่ต่างไปจากอาการปวดท้องเมนส์ทั่วไป ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด คุณหมออาจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะเวลาที่เกิดอาการปวดและคำถามอื่น ๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค หากคุณหมอสันนิษฐานว่าอาการปวดสัมพันธ์กับความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น มดลูก รังไข่ อาจต้องเข้ารับการตรวจภายใน การอัลตราซาวด์ หรือการผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องท้องเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติภายในโพรงมดลูก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 21/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา