backup og meta

อาการเตือน คน เริ่ม ท้อง เป็นอย่างไร และวิธีดูแลตัวเองของคนท้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    อาการเตือน คน เริ่ม ท้อง เป็นอย่างไร และวิธีดูแลตัวเองของคนท้อง

    ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น ประจำเดือนขาด อารมณ์แปรปรวน มีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดล้างหน้าเด็ก ถ่ายปัสสาวะบ่อย หากมีอาการเหล่านี้หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน เช่น ไม่ได้สวมถุงยางอนามัย ไม่ได้กินยาคุมตามปกติ อาจเป็น อาการเตือน คน เริ่ม ท้อง ซึ่งควรตรวจครรภ์เพื่อยันยืนผลการตั้งครรภ์ หากพบว่าตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ และรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ

    อาการเตือน คน เริ่ม ท้อง

    อาการที่เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ระยะแรก อาจมีดังนี้

    ประจำเดือนขาด

    ประจำเดือนขาดเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากเมื่อไข่ผสมกับอสุจิและเกิดการปฏิสนธิ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่หยุดการทำงานของรังไข่ อีกทั้งเยื่อบุโพรงมดลูกที่ตามปกติแล้วจะหนาตัวขึ้นและไหลออกมาจากช่องคลอดเป็นประจำเดือนในทุก ๆ เดือนก็จะยังอยู่ในมดลูกเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนในครรภ์ จึงส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา

    อาการแพ้ท้อง (Morning sickness)

    ในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน ซึ่งมักเกิดจากมีปัจจัยกระตุ้นบางประการ เช่น กลิ่น การรับประทานอาหารรสเผ็ด ความร้อน อันเป็นผลมาจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้ประสาทรับกลิ่นอ่อนไหวกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่ อาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ หายไปในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ แต่คนท้องบางคนก็อาจมีอาการนี้ไปตลอดการตั้งครรภ์

    อารมณ์แปรปรวน

    การตั้งครรภ์ในระยะแรกจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของทารก จึงอาจส่งผลให้สภาวะทางอารมณ์ของคุณแม่เปลี่ยนไปหรือแปรปรวน อาจอ่อนไหวกว่าปกติ หงุดหงิดได้ง่าย หรืออาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

    หน้าอกคัดตึง

    การตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดอาการหน้าอกคัดตึง บวม ขยายใหญ่ อาจมองเห็นเส้นเลือดบริเวณหน้าอกได้ชัดเจนขึ้น และหัวนมอาจมีสีเข้มและดูเด่นขึ้น เนื่องจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมบุตรหลังคลอด

    มีเลือดล้างหน้าเด็ก

    เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding) เป็นจุดเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณเล็กน้อย ที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิสนธิประมาณ 10-14 วัน เนื่องจากตัวอ่อนไปเกาะและฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก ทั้งนี้เลือดล้างหน้าเด็กอาจไม่ได้เกิดกับคนท้องทุกคน หรือบางคนก็อาจไม่ทันสังเกตเพราะมีเลือดล้างหน้าเด็กเพียงกะปริบกะปรอยเท่านั้น

    ประสาทรับรสเปลี่ยนไป

    คุณแม่หลายคนอาจสัมผัสได้ถึงรสชาติแปลก ๆ ภายในปาก อาจรู้สึกถึงรสที่คล้ายโลหะหรือรสเปรี้ยว ทั้งในช่วงหลังรับประทานอาหารหรือในตอนช่วงไม่ได้รับประทานอะไรเลย ประสาทรับรสที่เปลี่ยนไปในขณะตั้งครรภ์อาจเป็นผลมาจากการระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น

    ต้องการอาหารมากขึ้น

    คุณแม่ตั้งครรภ์มักต้องการรับประทานอาหารมากกว่าปกติ บางครั้งอาจต้องการรับประทานอาหารบางชนิดเป็นพิเศษ เช่น อาหารรสเปรี้ยว อาหารหมักดอง อาหารที่มีธาตุเหล็ก อาหารที่มีพลังงานสูง ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและร่างกายคุณแม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารมากขึ้นเพื่อบำรุงทารกในครรภ์ นอกจากนี้ อิทธิพลของฮอร์โมนก็อาจทำให้รู้สึกไม่ชอบกลิ่นหรือรสชาติอาหารจานโปรดได้ด้วย ความอยากอาหารมักเพิ่มขึ้นตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ และอาจรุนแรงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์

    ปัสสาวะบ่อยขึ้น

    การตั้งครรภ์อาจทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายจะผลิตเลือดเพิ่มขึ้นเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณอุ้งเชิงกรานได้อย่างเพียงพอ เมื่อมีของเหลวในร่างกายมากขึ้น ฮอร์โมนตั้งครรภ์ หรือเอชซีจี (hCG) จะกระตุ้นให้ไตขยายตัวและผลิตปัสสาวะมากขึ้นจนปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้คุณแม่ต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น

    เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ควรทำอย่างไรบ้าง

    หากพบว่ามีอาการที่เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ เช่น ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด คลื่นไส้ อาเจียน หน้าอกคัดตึง ถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ควรใช้ที่ตรวจครรภ์เพื่อยันยืนผลการตั้งครรภ์ โดยเริ่มตรวจได้ตั้งแต่หลังจากประจำเดือนขาดไปประมาณ 7 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอสจีซีออกมามากพอให้สามารถตรวจจับได้ หากพบว่าตั้งครรภ์ ควรไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเพื่อฝากครรภ์กับคุณหมอสูตินรีเวชโดยเร็วที่สุด คุณหมอและทีมแพทย์จะดูแลสุขภาพของคุณแม่และเด็กในครรภ์ด้วยการนัดหมายคุณแม่มาอัลตราซาวด์และทำการทดสอบสุขภาพที่จำเป็นเป็นระยะตลอดการตั้งครรภ์ หากพบว่ามีความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ จะได้ป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

    การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมขณะตั้งท้อง

    การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมขณะตั้งท้อง สามารถทำได้ดังนี้

    • ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิคอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม/วันติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ และควรรับประทานอย่างต่อเนื่องไปอีก 3 เดือนหลังคลอด การได้รับกรดโฟลิคอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งและภาวะทารกพิการแต่กำเนิดได้
    • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับในเวลากลางคืนอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง เพราะหากนอนไม่พออาจลดระยะเวลาในการหลั่งโกรทฮอร์โมนขณะนอนหลับ จนเสี่ยงเกิดปัญหาการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ ควรรักษาอุณหภูมิภายในห้องนอนไม่ให้ร้อนเกินไป และให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ระบายอากาศได้ดี
    • คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยารักษาโรค สมุนไพรบำรุงครรภ์ และอาหารเสริมต่าง ๆ เนื่องจากอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
    • ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น อาหารที่มีวิตามินสูงและอุดมไปไฟเบอร์อย่างธัญพืชเต็มเมล็ด ผักใบเขียว ผลไม้ อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น พืชตระกูลถั่ว ปลาซาร์ดีน อาหารที่มีแคลเซียม เช่น นมไขมันต่ำ โยเกิร์ตไขมันต่ำ
    • ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ เนื่องจากน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มทารกให้ปลอดภัย อีกทั้งน้ำมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น ช่วยเพิ่มปริมาณเลือดในร่างกาย ช่วยสร้างเนื้อเยื่อและเซลล์ใหม่ ช่วยลำเลียงสารอาหารไปยังทารกในครรภ์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหาร ช่วยขับของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย
    • ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ ในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจส่งต่อจากคุณแม่ไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรกและน้ำนม ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ทั้งยังอาจทำให้ทารกเกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว เช่น กลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ (Fetal alcohol syndrome หรือ FAS) ซึ่งทำให้อวัยวะต่าง ๆ รวมไปถึงพัฒนาการทางสมองของเด็กผิดปกติ
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่มีสารพิษ เช่น นิโคติน ทาร์ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทารกในครรภ์ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย ปัญหาการหายใจของทารก โรคไหลตายในทารก ภาวะแท้ง เป็นต้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา