backup og meta

เลือดล้างหน้าเด็ก คืออะไร ต่างจากประจำเดือนอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    เลือดล้างหน้าเด็ก คืออะไร ต่างจากประจำเดือนอย่างไร

    เลือดล้างหน้าเด็ก คือ เลือดที่เกิดจากตัวอ่อนจากการปฏิสนธิฝังตัวเข้ากับผนังมดลูก กระบวนการนี้ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณเล็กน้อย ประมาณ 1-2 วัน ต่างจากเลือดประจำเดือนที่เกิดจากเนื้อเยื่อของเยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวออกจากผนังมดลูกเมื่อไม่ได้รับการปฏิสนธิ ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 2-7 วันของแต่ละรอบเดือน หากมีเลือดออกในลักษณะที่เข้าข่ายเลือดล้างหน้าเด็ก ตามมาด้วยอาการที่อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงเต้านม ควรตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการทดสอบการตั้งครรภ์ในสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือ และหากตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด

    เลือดล้างหน้าเด็ก คืออะไร

    ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์ อาจมีเลือดออกจากช่องคลอดประมาณ 1-2 วัน เลือดที่ไหลออกมากจะมีปริมาณเล็กน้อย ออกแบบกระปริบกระปรอย หรือหยดเลอะกางเกงชั้นในเป็นจุด ๆ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเลือดประจำเดือนได้ จริง ๆ แล้ว เลือดลักษณะนี้เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding) เกิดจากตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับผนังมดลูก อาจเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 10-14 วันหลังการปฏิสนธิ หญิงตั้งครรภ์บางรายอาจไม่มีเลือดล้างหน้าเด็ก บางรายอาจมีเลือดล้างหน้าเด็กในปริมาณน้อยมากจนไม่ทันสังเกต หรือบางรายก็อาจเข้าใจว่าเป็นเลือดประจำเดือนปกติ

    เลือดล้างหน้าเด็กเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ต้องรับการรักษาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากมีเลือดออกจากช่องคลอดในลักษณะที่เข้าข่ายเลือดล้างหน้าเด็กซึ่งเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการของการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย อาจต้องทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยชุดตรวจครรภ์ด้วยตัวเองหรือไปพบคุณหมอเพื่อยืนยันผลตั้งครรภ์ หากตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ดูแลสุขภาพของทั้งแม่และเด็กในครรภ์อย่างเหมาะสม

    อาการของเลือดล้างหน้าเด็ก

    อาการของเลือดล้างหน้าเด็ก อาจมีดังนี้

    • มีเลือดออกจากช่องคลอด อาจเป็นสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีชมพูอ่อน
    • เลือดไหลออกน้อยมาก อาจเป็นเป็นเพียงหยดเลือดบนกางเกงชั้นใน
    • มีเลือดออกประมาณ 1-2 วัน ซึ่งน้อยกว่าประจำเดือนปกติ
    • ไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย
    • ไม่พบลิ่มเลือดเหมือนที่อาจพบในประจำเดือนปกติ

    อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับช่วงมีเลือดล้างหน้าเด็ก และเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้

    • ปวดศีรษะ
    • เต้านมบวมและรู้สึกคัดตึงบริเวณเต้านม
    • รู้สึกอ่อนเพลีย
    • ปวดท้อง
    • อาเจียน
    • อยากอาหารมากกว่าปกติ
    • อารมณ์แปรปรวน
    • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

    ความแตกต่างของเลือดประจำเดือนและเลือดล้างหน้าเด็ก

    ความแตกต่างของเลือดประจำเดือนและเลือดล้างหน้าเด็ก มีดังนี้

    เลือดล้างหน้าเด็ก

    • สาเหตุ ตัวอ่อนจากการปฏิสนธิฝังตัวเข้ากับเยื่อบุโพรงมดลูก อาจทำให้หลอดเลือดบริเวณใกล้เคียงแตก จนมีเลือดไหลออกจากช่องคลอด
    • ลักษณะ เลือดสีชมพูอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ออกแบบกะปริบกะปรอย หากใส่ผ้าอนามัยอาจถูกซึมซับจนมองไม่เห็น หรือเห็นเป็นหยดเลือดเพียงไม่กี่หยด เป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 วัน
    • ระยะเวลา เลือดล้างหน้าเด็กจะไหลออกจากช่องคลอดประมาณ 1-2 วัน มักเริ่มปรากฏหลังเกิดการปฏิสนธิประมาณ 10-14 วัน

    เลือดประจำเดือน

    • สาเหตุ ร่างกายสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดหลังไข่ผสมกับอสุจิและเกิดการปฏิสนธิ แต่เมื่อไข่ไม่ได้รับการผสม เลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออก จนเกิดเป็นเลือดประจำเดือนไหลออกมาจากช่องคลอด
    • ลักษณะ เลือดสีแดงสดไปจนถึงสีแดงคล้ำ มีปริมาณมาก อาจมีลิ่มเลือดหรือเนื้อเยื่อปน สามารถมองเห็นได้ชัดเจนบนผ้าอนามัย
    • ระยะเวลา เลือดประจำเดือนจะไหลออกจากช่องคลอดประมาณ 2-7 วัน จะปรากฏหลังไข่ตกประมาณ 14 วัน

    เมื่อไหร่ควรปรึกษาคุณหมอ

    อาการเลือดล้างหน้าเด็กไม่ใช่ภาวะอันตรายที่จำเป็นต้องรับการรักษา หากพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดในลักษณะคล้ายเลือดล้างหน้าเด็ก อาจรอประมาณ 2-3 วันจึงใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจสอบและยืนยันผลว่าตั้งครรภ์หรือไม่ หากพบว่าตั้งครรภ์ควรไปพบคุณหมอสูตินรีเวชเพื่อฝากครรภ์ต่อไป

    อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดที่ไม่ใช่เลือดล้างหน้าเด็กหรือเลือดประจำเดือน อาจเป็นสัญญาณของภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ เช่น ปากมดลูกระคายเคือง ปากมดลูกอักเสบ การบาดเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์ การบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือยกของหนัก การติดเชื้อในช่องคลอด ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา