สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือครอบครัวที่เตรียมมีลูก เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องอยากรู้แน่นอนก็คือ พัฒนาการของทารกในครรภ์ในแต่ละช่วงเวลา นี่คือสิ่งที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับ พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 29
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 29
ลูกจะเติบโตอย่างไร
สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 29 นี้ ลูกน้อยมีขนาดตัวเท่ากับลูกฟักทองน้ำเต้า โดยมีน้ำหนักตัวประมาณ 1.1 กิโลกรัม และสูงประมาณ 38.1 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า
ลูกน้อยยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงแรก ๆ อาจเป็นการเตะต่อยที่รู้สึกได้ง่าย คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์เบื้องต้นได้ ด้วยการนับการเคลื่อนไหวของลูก หากภายใน 2 ชั่วโมง นับการเคลื่อนไหวของลูกได้น้อยกว่า 10 ครั้ง หรือทารกเคลื่อนไหวน้อยลงกว่าปกติมาก ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที เพื่อให้คุณหมอช่วยตรวจสอบว่า ทารกในครรภ์ยังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
อาการปวดแสบร้อนกลางอก กรดไหลย้อน ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก เป็นต้น ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 29 โดยหนึ่งในสาเหตุหลัก ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายคลายตัว รวมทั้งระบบทางเดินอาหารด้วย การคลายตัวนี้อาจทำให้เกิดแก๊ส จนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายได้
นอกจากนี้ มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นยังอาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นริดสีดวงทวาร และมีอาการเส้นเลือดบวมในบริเวณลำไส้เกิดขึ้น แต่คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะอาการเหล่านี้อาจหายไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ อาจรู้สึกว่าทารกในครรภ์เคลื่อนไหวน้อยลง นั่นเป็นเพราะทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น และมีพื้นที่ให้เคลื่อนไหวน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ลูกน้อยอยู่ในท่าเอาหัวลง อย่างไรก็ตาม หากลูกเคลื่อนไหวน้อยลงจนผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังอยู่ในอันตราย หรืออาจเกิดปัญหาที่สายรกหรือตัวรก ฉะนั้น จึงควรไปพบคุณหมอทันที อย่าปล่อยเอาไว้ เพื่อจะได้แน่ใจว่าทารกในครรภ์ยังคงมีสุขภาพดี
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาคุณหมออย่างไรบ้าง
ควรไปพบคุณหมอทันทีถ้ารู้สึกว่าลูกน้อยเคลื่อนไหวน้อยลง คุณหมออาจซักถามถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยครั้งล่าสุดว่า รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวได้กี่ครั้งในช่วงเวลา 2-3 ชั่วโมง เพือจะได้วินิจฉัยอาการของทารก และให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง
หากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ คุณหมออาจแนะนำให้ทำคลอดก่อนกำหนด หรือให้ความช่วยเหลือด้วยวิธีการอื่น คุณแม่อาจมองเห็นเส้นเลือดฝอยวางตัวในลักษณะคล้ายใยแมงมุมเกิดขึ้นบนผิวบริเวณหน้าท้อง รวมถึงบริเวณขา หรืออาจจะเกิดขึ้นบริเวณหน้า คอ หน้าอก และแขนด้วยก็ได้ ซึ่งถือเป็นผลพวงของการสูบฉีดเลือดที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด และอาการนี้อาจหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด
การทดสอบที่ควรรู้
คุณหมออาจนัดพบคุณแม่ตั้งครรภ์บ่อยขึ้น โดยอาจเริ่มจากการนัดพบทุก ๆ 2 สัปดาห์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการนัดทุกสัปดาห์จนถึงกำหนดคลอด การตรวจสอบในช่วงเดือนนี้ ได้แก่ การวัดความดันโลหิต และการชั่งน้ำหนัก คุณหมออาจถามถึงสัญญาณและอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และอาจขอให้บรรยายลักษณะการเคลื่อนไหวของลูกน้อยให้ฟัง รวมถึงอาจตรวจสอบขนาดของมดลูกตามปกติด้วย
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
- การดัด ยืด ทำสีผม
คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจรู้สึกเบื่อหน่ายและอยากเปลี่ยนแปลงลุคของตัวเองด้วยการดัดผม ยืดผม หรือทำสีผมใหม่ ซึ่งแม้จะยังไม่มีผลการวิจัยที่ระบุว่า สารเคมีในการทำผมก่อให้เกิดอันตราย หรือส่งผลให้ทารกในครรภ์พิการ
แต่สารเคมีในผลิตภัณฑ์ดัด ยืด หรือย้อมสีผม ก็อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดอาการแพ้ได้ เพราะเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันกำลังอ่อนแอ ซึ่งอาจไม่ดีต่อสุขภาพของตัวเองและทารกในครรภ์
- สารพิษจากตะกั่ว
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงสารตะกั่ว ข้าวของเครื่องใช้ อาหารที่มีสารตะกั่ว เช่น อาหารกระป๋อง ไส้กรอก กุนเชียง สีทาบ้าน เครื่องเล่น ของเด็กเล่น จานชามสีสันสดใสหรือไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงอาจปนเปื้อนมาในควันรถยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม
โดยผลการวิจัยระบุว่า การได้รับสารตะกั่วในช่วงตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งลูก หรือทำให้ทารกแรกเกิดมีอาการพิการทางสมอง มีไอคิวต่ำ เป็นต้น
แล้วมาดูกันว่า ในสัปดาห์ต่อไป คุณแม่ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]