backup og meta

อาการคนท้องไตรมาสที่สาม กับข้อควรระวังก่อนใกล้คลอด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    อาการคนท้องไตรมาสที่สาม กับข้อควรระวังก่อนใกล้คลอด

    อาการคนท้องไตรมาสที่สาม เป็นช่วงระยะเวลาที่ทารกในครรภ์ใกล้จะออกมาลืมตาดูโลกแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของตนเองและทารกอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์รู้สึกไม่สบายตัวเท่าไรนัก เนื่องจากขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเองและการเคลื่อนไหวของทารก เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการคนท้องไตรมาสที่สามเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอาการเหล่านั้น

    อาการคนท้องไตรมาสที่สาม

    ไตรมาสที่สามเป็นช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาจมีปัญหาด้านขนาดน้ำหนักตัวและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ขนาดหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น และตำแหน่งของทารกในครรภ์ที่พร้อมจะลืมตาดูโลก รวมทั้งภาวะต่าง ๆ ทางด้านอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากความกังวลใจและความตื่นเต้นเนื่องจากใกล้คลอด ดังนั้น ในช่วงไตรมาสที่สามควรพยายามทำใจให้สงบเพื่อเตรียมตัว พยายามมองโลกในแง่ดี ทำจิตใจให้สบายเข้าไว้ ทั้งนี้ อาการคนท้องไตรมาสที่สาม ประกอบด้วย

    มดลูกหดตัว  

    ภาวะมดลูกหดตัว หรือ“Braxton Hicks contractions” หญิงตั้งครรภ์บางรายอาจรู้สึกถึงการหดตัวของมดลูกซึ่งอาจเกิดขึ้นบ่อยหรืออาจเกิดขึ้นในบางช่วงเวลา เช่น เกิดขึ้นตอนบ่ายหรือตอนเย็น หลังออกกำลังกาย หลังมีเพศสัมพันธ์ หรือหลังจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยการหดรัดตัวจะไม่สม่ำเสมอ ไม่เจ็บ และเมื่อใกล้กำหนดคลอด มดลูกจะเริ่มหดตัวมากขึ้นและบ่อยขึ้น

    ปวดหลัง

    ฮอร์โมนการตั้งครรภ์จะเข้าไปคลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ยึดติดกับกระดูก โดยเฉพาะบริเวณอุ้งเชิงกราน จึงทำให้มีอาการปวดหลังเวลานั่ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง ควรเลือกเก้าอี้ที่รองรับหลังส่วนล่าง สวมรองเท้าส้นเตี้ยที่สามารถรองรับเท้าได้ดี และออกกำลังกายเพื่อเตรียมความพร้อมในการคลอด

    หายใจถี่

    ช่วงไตรมาสที่สามอาจเป็นลมได้ง่าย และมีอาการเหนื่อยมากขึ้น ดังนั้นจึงควรฝึกเคลื่อนไหวและใช้ท่าทางที่เหมาะสมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การออกกำลังกายหักโหม เพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวก ไม่หอบเหนื่อยจนเกินไป

    กรดไหลย้อน

    ฮอร์โมนตั้งครรภ์ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหาร เกิดอาการเสียดท้อง เพื่อป้องกันอาการกรดไหลย้อน ควรรับประทานอาหารมื้อเล็กบ่อย ๆ แทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ หลีกเลี่ยงอาหารทอด ผลไม้รสเปรี้ยว ช็อคโกแลต และอาหารรสเผ็ด พยายามนั่งแทนการนอนทันทีหลังมื้ออาหาร

    หลอดเลือดดำฝอย เส้นเลือดขอด และริดสีดวงทวาร

    การไหลเวียนโลหิตที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดเส้นเลือดดำขึ้นบนใบหน้า คอ แขน หรือผิวหนังดูดำคล้ำกว่าปกติ โดยปกติหลังคลอดเส้นเลือดดำฝอยเหล่านี้จะจางหายไป

    บางรายอาจมีเส้นเลือดขอดขึ้นที่ขา อาจมีอาการเจ็บปวดและคันบริเวณทวารหนัก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของริดสีดวงทวาร เพื่อลดอาการบวมให้ออกกำลังกายโดยการยกขาบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่มีกากใย และดื่มน้ำมาก ๆ บรรเทาอาการริดสีดวงทวารด้วยการแช่ตัวในอ่างน้ำอุ่นอาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้น

    ปัสสาวะบ่อย

    เมื่อถึงช่วงไตรมาสที่สามเป็นช่วงที่ทารกพร้อมคลอด ทารกจะเคลื่อนตัวเข้าไปในอุ้งเชิงกรานลึกขึ้น จึงทำให้รู้สึกกดที่กระเพาะปัสสาวะ จึงเป็นสาเหตุของการปัสสาวะบ่อย นอกจากนั้น แรงกดที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ปัสสาวะเล็ดได้ โดยเฉพาะเวลาหัวเราะ ไอ จาม งอตัว หรือยกตัว

    เท้าและข้อเท้าบวม

    มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่ออาการเท้าและข้อเท้าบวม ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากร่างกายที่มีน้ำหนักมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ มดลูกที่กำลังเติบโตสร้างแรงกดต่อเส้นเลือดดำ ทำให้เลือดจากอวัยวะด้านล่างไหลกลับไปสู่หัวใจได้น้อยลง หรืออาจเกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปของร่างกาย อาจส่งผลทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา