backup og meta

อาการเจ็บท้องเตือน แตกต่างจากการเจ็บท้องจริงอย่างไร

อาการเจ็บท้องเตือน แตกต่างจากการเจ็บท้องจริงอย่างไร

ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจรู้สึกถึงการหดรัดและคลายตัวของมดลูกที่ทำให้ปวดท้องหน่วงบริเวณหน้าท้อง อึดอัดไม่สบายตัว หรือที่เรียกว่า อาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องหลอก คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการเจ็บท้องเตือนชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น โดยอาการมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและอาจหายไปหลังจากเปลี่ยนอิริยาบถ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ เป็นต้น ต่างจากการเจ็บท้องจริงที่เป็นสัญญาณของการใกล้คลอด ซึ่งมักปวดหลังบริเวณเอวร้าวลงขาอาการปวดเป็นมากและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น มีมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด น้ำคร่ำแตก การเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของอาการเจ็บท้องเตือนและอาการเจ็บท้องจริงอาจช่วยให้หญิงตั้งครรภ์สามารถรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-due-date]

อาการเจ็บท้องเตือน เป็นอย่างไร

อาการเจ็บท้องเตือน หรืออาการเจ็บท้องหลอก (Braxton-Hicks contractions) เป็นอาการปวดท้องเนื่องจากมดลูกหดรัดและคลายตัว โดยทั่วไป หญิงตั้งครรภ์จะรู้สึกถึงอาการเจ็บท้องเตือนได้ประมาณช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ หรือตั้งแต่อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นเมื่อหน้าท้องและมดลูกขยายตัวตามอายุครรภ์ ร่วมกับมดลูกหดรัดตัวและขยายตัวตามธรรมชาติ อาจทำให้รู้สึกปวดหน่วงหรือปวดเหมือนเป็นตะคริวบริเวณหน้าท้อง อึดอัด ไม่สบายตัว ส่วนใหญ่แล้วมักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดรุนแรงและไม่ได้เป็นสัญญาณเตือนของภาวะสุขภาพที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

อาการเจ็บท้องเตือนและอาการเจ็บท้องจริง ต่างกันอย่างไร

ความแตกต่างระหว่างอาการเจ็บท้องเตือนและอาการเจ็บท้องจริง อาจสังเกตได้ดังนี้

อาการเจ็บท้องเตือน

  • ปวดหน่วงหรือปวดคล้ายเป็นตะคริวบริเวณหน้าท้อง
  • เป็น ๆ หาย ๆ ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
  • ระดับความรุนแรงของอาการจะแตกต่างไปในแต่ละครั้ง อาจเริ่มจากปวดน้อย ๆ แล้วปวดมากขึ้น หรือปวดมากแล้วค่อย ๆ ปวดน้อยลง
  • อาการมักหายไปเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายหรือเปลี่ยนอิริยาบถ
  • ไม่มีอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณการคลอดร่วมด้วย มีเพียงอาการปวดท้องเท่านั้น

อาการเจ็บท้องจริง

  • อาจเริ่มจากปวดท้อง อุ้งเชิงกราน และหลังส่วนล่างบริเวณบั้นเอว จากนั้นอาการปวดจะลามไปที่ขา และอาจปวดไปทั่วร่างกาย
  • อาการปวดจะนานและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มักเกิดทุก ๆ 5-10 นาที อาการปวดแต่ละครั้งจะนานประมาณ 30-60 วินาที
  • อาการไม่ทุเลา แม้จะลองขยับร่างกายหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถแล้ว
  • มีอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณการคลอดร่วมด้วย เช่น น้ำคร่ำแตก มีมูกเลือดก่อนคลอด ปากมดลูกบางลงจนขยายตัวและเปิดออก

วิธีบรรเทาอาการเจ็บท้องเตือน

วิธีบรรเทาอาการเจ็บท้องเตือน อาจทำได้ดังนี้

  • หากนั่งหรือพักผ่อนอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานานแล้วมีอาการเจ็บท้องเตือน ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถ อาจช่วยลดอาการเจ็บท้องได้
  • หากเคลื่อนไหวมากเกินไป เช่น โดยสารรถ เดินเยอะ แล้วมีอาการเจ็บท้อง ควรนอนพัก อาจช่วยให้อาการทุเลา
  • ดื่มน้ำและของเหลวให้เพียงพอ เช่น ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน เนื่องจากการขาดน้ำไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายอาจทำให้กล้ามเนื้อหดรัดตัว และปวดท้องได้
  • ถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด เพราะหากกระเพาะปัสสาวะเต็ม อาจทำให้มดลูกบีบตัวและเป็นตะคริวได้ อีกทั้งการกลั้นปัสสาวะไว้นานเกินไปยังทำให้เสี่ยงติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ด้วย
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลงที่ชอบ อ่านหนังสือ อาบน้ำหรือแช่น้ำในอ่าง นวดผ่อนคลาย

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์และมีอาการเจ็บท้องเตือนในลักษณะต่อไปนี้อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณของภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (Preterm labour) ที่ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุดเพื่อรับการดูแลครรภ์อย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพราะในรายที่อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด ควรได้รับการรักษาบางอย่างเพื่อยับยั้งการคลอดไว้ก่อนในกรณีไม่มีข้อห้าม หรือการให้ยาฆ่าเชื้อเพิ่มเติม

  • รู้สึกเจ็บหรือสัมผัสได้ถึงแรงกดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือหลังส่วนล่าง
  • เจ็บท้องรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยระยะห่างและระยะเวลาในการเจ็บท้องแต่ละครั้งจะใกล้เคียงกัน
  • ปวดท้องร่วมกับมีอาการใกล้คลอด เช่น มีมูกเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด น้ำคร่ำแตก

หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการเจ็บท้องรุนแรงคล้ายกับการเจ็บท้องจริง หากมีภาวะน้ำคร่ำแตกหรือมดลูกหดรัดทุก ๆ 5-10 นาที อาจเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาไปโรงพยาบาลเพื่อเตรียมทำคลอดอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ หากหญิงตั้งครรภ์มีอาการต่อไปนี้ ซึ่งสงสัยว่าเป็นการเจ็บท้องจริงไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุครรภ์ใด ๆ ก็ตาม ควรไปพบคุณหมอทันทีเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและวางแผนการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

  • มีอาการปวดท้องต่อเนื่อง เจ็บมากขึ้นหรือถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
  • มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
  • มีน้ำใส ๆ ไหลออกจากช่องคลอดแบบไม่สามารถกลั้นให้หยุดไหลได้
  • ลูกดิ้นน้อยลงกว่าที่เคยหรือไม่ดิ้นอีกเลย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Braxton Hicks Contractions. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470546/#. Accessed November 8, 2022

Braxton Hicks contractions. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/braxton-hicks-contractions. Accessed November 8, 2022

Braxton Hicks Contractions. https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/22965-braxton-hicks. Accessed November 8, 2022

Braxton Hicks. https://www.webmd.com/guide/true-false-labor. Accessed November 8, 2022

Braxton Hicks Contractions. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/labor-and-birth/braxton-hicks/. Accessed November 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

การคลอดลูก มีกี่วิธี และควรดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างไร

เจ็บท้องคลอด จริงหรือหลอก แยกได้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา