backup og meta

เจ็บท้องเตือน สาเหตุ อาการ วิธีบรรเทาอาการปวด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    เจ็บท้องเตือน สาเหตุ อาการ วิธีบรรเทาอาการปวด

    อาการ เจ็บท้องเตือน หรือที่เรียกว่า เจ็บท้องหลอก เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากมดลูกบีบรัดตัวและคลายตัวตามธรรมชาติขณะตั้งครรภ์ มักพบในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่มีอาการปวดหน่วงบริเวณหน้าท้อง อึดอัดไม่สบายตัว แต่อาการปวดอาจหายไปเอง ไม่ปวดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนการเจ็บท้องจริงหรือเจ็บท้องคลอด ทั้งนี้ อาการเจ็บท้องเตือนไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติหรือเป็นอาการใกล้คลอด และไม่ทำให้ปากมดลูกขยายแต่อย่างใด หากคุณแม่มีอาการเจ็บท้องเตือน อาจบรรเทาได้ด้วยการดื่มน้ำให้มาก ๆ เปลี่ยนอิริยาบถ พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

    เจ็บท้องเตือน เกิดจากอะไร

    อาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องหลอก (Braxton Hicks contraction/False Labor Pain) เกิดจากกล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวหรือหดรัดตัวเป็นระยะ เพียงเวลาสั้น ๆ ไม่สม่ำเสมอ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอด แต่ไม่ได้หมายความว่าการคลอดกำลังจะเริ่มขึ้นจริง ๆ โดยทั่วไปจะพบอาการเจ็บท้องเตือนได้บ่อยในไตรมาสที่ 3 หรือประมาณเดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงใกล้คลอด แต่บางคนก็อาจรู้สึกถึงอาการนี้ได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 หรือเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์

    นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยบางประการที่ทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บท้องเตือน เช่น

  • ดื่มน้ำน้อย ได้รับของเหลวไม่เพียงพอ
  • ขยับร่างกายมากเกินไป
  • กระเพาะปัสสาวะเต็ม
  • มีเพศสัมพันธ์
  • ยกของหนัก
  • เจ็บท้องเตือน เป็นแบบไหน

    เจ็บท้องเตือนอาจมีอาการดังนี้

    • ปวดบริเวณหน้าท้อง แต่ไม่ปวดร้าวไปจนถึงหลังส่วนล่างหรือบริเวณมดลูกส่วนล่าง
    • มีอาการปวดไม่สม่ำเสมอและไม่เป็นจังหวะ อาจปวดนาน 15-30 วินาที หรือบางครั้งอาจนานถึง 2 นาที
    • มักปวดไม่รุนแรงมาก หรืออาจทำให้อึดอัดมากกว่าเจ็บปวด
    • มักเกิดอาการปวดแบบคาดเดาไม่ได้ แต่อาการจะไม่เกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
    • อาจหายปวดโดยสิ้นเชิงหลังเปลี่ยนท่าทาง

    เจ็บท้องเตือน บรรเทาอาการอย่างไร

    วิธีดูแลตัวเองต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บท้องเตือนได้

    • อาบน้ำอุ่นเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต แต่ไม่ควรอาบนานเกิน 10 นาที
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและช่วยให้ร่างกายมีของเหลวเพียงพอในการหล่อเลี้ยงมดลูก
    • ฝึกควบคุมลมหายใจเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการการนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ เป็นต้น
    • รับประทานขนมหรืออาหารว่าง โดยเลือกอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันและน้ำตาลต่ำ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสีอย่างข้าวโอ๊ต ควินัว ผลไม้หวานน้อยอย่างฝรั่ง แก้วมังกร มะละกอไม่สุกจัด มะเฟือง อะโวคาโด
    • เปลี่ยนอิริยาบถเมื่อเจ็บท้อง เช่น เปลี่ยนจากนอนเอนเป็นนอนหงาย เปลี่ยนจากนอนตะแคงเป็นนั่งชิดผนัง เปลี่ยนจากนั่งเฉย ๆ เป็นเดินระยะสั้น
    • อาการเจ็บท้องอาจเกิดจากการปวดปัสสาวะ คุณแม่ควรไปถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่ปวด เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะที่มักพบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์
    • นวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปวดท้องในลักษณะต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของการเจ็บท้องคลอดจริงหรืออาจเกิดความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ที่ควรไปพบคุณหมอผู้ดูแลครรภ์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับการดูแลอย่างเหมาะสม

    • ปวดท้องเป็นจังหวะ ปวดนานตั้งแต่ 30-70 วินาที และปวดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ทุก ๆ 5 นาที
    • เริ่มปวดที่ท้องแล้วอาจลามไปยังหลังส่วนล่างและต้นขา หรืออาจปวดหลังแล้วลามมาที่ท้อง
    • ปวดรุนแรงจนไม่สามารถเดินได้
    • พยายามเปลี่ยนท่าทาง หรือดื่มน้ำแล้วก็ยังไม่หายปวดท้อง
    • มีน้ำใส ๆ หรือมูกเลือด(Mucus plug) ไหลออกมาจากช่องคลอด
    • มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด
    • ทารกในครรภ์เคลื่อนไหวแปลกไป เช่น ทารกดิ้นน้อยลงหรือดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ใน 2 ชั่วโมง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา