backup og meta

ท้องลายหลังคลอด เกิดจากอะไร และควรดูแลอย่างไร

ท้องลายหลังคลอด เกิดจากอะไร และควรดูแลอย่างไร

ท้องลายหลังคลอด อาจเกิดจากการที่ผิวหนังบริเวณหน้าท้องขยายตัวอย่างรวดเร็วขณะตั้งครรภ์ จนส่งผลให้โครงสร้างของผิวหนังเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันจนเกิดเป็นรอยแตกลาย เมื่อคลอดแล้ว รอยแตกลายนั้นก็ยังคงอยู่ ถึงแม้ว่าท้องลายหลังคลอดจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่ก็อาจสร้างความกังวลใจให้กับคุณแม่ ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพผิวหลังคลอดเพื่อให้ริ้วรอยต่าง ๆ ลดลง

ท้องลายหลังคลอด เกิดจากอะไร

ท้องลายหลังคลอด อาจเกิดจากการยืดและขยายของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องอย่างรวดเร็วขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้โครงสร้างของคอลลาเจนและอีลาสติน (Elastin) ที่ช่วยเสริมความยืดหยุ่นและการสมานตัวของผิวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพผิวอ่อนแอ ขาดความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่น เมื่อผิวหนังบริเวณหน้าท้องขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้เกิดรอยแตกลายได้ง่ายและอาจขยายเป็นวงกว้างได้มากกว่าผู้ที่มีสุขภาพผิวแข็งแรง

นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) รวมทั้งระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความเครียดขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เส้นใยและความยืดหยุ่นของผิวอ่อนแอลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยแตกลายขณะตั้งครรภ์

การดูแลท้องลายหลังคลอด

สำหรับคุณแม่หลังคลอดบางคนอาจมีอาการท้องลายหลังคลอดเกิดขึ้นได้ การดูแลผิวด้วยวิธีต่อไปนี้อาจช่วยทำให้ท้องลายหลังคลอดดีขึ้นได้ ดังนี้

  • ดื่มน้ำประมาณวันละ 2 ลิตร เป็นประจำทุกวัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือยาเรตินอยด์ที่มีส่วนผสมของวิตามินอี ไฮดรอกซีโพรลิซิเลน-ซี (Hydroxyprolisilane-C) น้ำมันโรสฮิป (Rosehip Oil) ใบบัวบกและไตรเทอร์พีน (Triterpenes) เตรติโนอิน (Tretinoin) เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ลดรอยแตกลาย ป้องกันการลุกลามของรอยแตกลาย และอาจช่วยป้องกันการเกิดรอยใหม่
  • เลือกใช้ครีมกันแดดที่มี SPF30 ขึ้นไป เพื่อป้องกันผิวจากการถูกทำร้ายของรังสียูวีในแสงแดด ที่อาจทำให้เม็ดสีมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้น และอาจช่วยให้รอยแตกลายจางลงได้
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิวบริเวณรอยแตกลาย เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ สีผิวเปลี่ยนแปลงและอาจทำให้รอยแตกลายแย่ลง
  • รอยแตกลายสีม่วงหรือแดง อาจรักษาได้ง่ายกว่ารอยแตกลายสีขาว โดยวิธีการรักษารอยแตกลายสีม่วงหรือแดง อาจทำได้โดยการใช้เลเซอร์ที่มีลำแสงความเข้มข้นสูง (Intensive Pulsed Light หรือ IPL) เลเซอร์เพาซ์ดายด์ (Pulsed Dye Laser หรือ PDL) หรือเลเซอร์เอ็นดี แย็ก (Nd:YAG Laser) ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและการผลัดเซลล์ผิวใหม่ ช่วยลดรอยแตกลาย
  • การรักษารอยแตกลายสีขาว อาจทำได้โดยการใช้พลังงานคลื่นวิทยุที่เปลี่ยนเป็นพลังงานเลเซอร์ช่วยรักษาปัญหาผิว รอยแตกลาย จุดด่างดำ รอยแผลเป็น โดยการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและผลัดเซลล์ผิวใหม่
  • การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี วิตามินซี โอเมก้า 3 อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพผิวให้แข็งแรง อ่อนนุ่ม ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังซึ่งจะช่วยให้ผิวสุขภาพดี อาจช่วยลดและป้องกันรอยแตกลายได้ เช่น ทูน่า แซลมอน ไข่ขาว ถั่วเหลือง สาหร่าย วอลนัท เมล็ดเจีย เกรปฟรุต ส้ม มะนาว แบล็กเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ เชอร์รี่ สตรอวเบอร์รี่ มะเขือเทศ พริกแดง หอมแดง แครอท มันเทศ ฟักทอง

การป้องกันปัญหาท้องลายหลังคลอด

การป้องกันปัญหาท้องลายที่อาจเกิดขึ้นหลังคลอด อาจสามารถทำได้ดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนัก ทั้งก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์เพื่อไม่ให้ผิวหนังขยายตัวอย่างรวดเร็วมากเกินไปจนอาจทำให้ผิวแตกลายได้ โดยน้ำหนักตัวที่เหมาะสมขณะตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับค่า BMI ก่อนตั้งครรภ์ หากค่า BMI เกณฑ์ปกติก่อนตั้งครรภ์คือ 18.5-24.9 ดังนั้น น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ประมาณ 11.5-16 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นประจำทุกวัน ควรดื่มน้ำประมาณ 2.7 ลิตร/วัน เพื่อให้ผิวชุ่มชื้นและอ่อนนุ่ม ลดปัญหาผิวแห้งแตกที่อาจทำให้เกิดรอยแตกลาย
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี สังกะสี โปรตีน สารอาหารเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระปกป้องผิวจากสารอนุมูลอิสระที่อาจทำร้ายผิว เช่น แสงแดด ฝุ่น ควัน และช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนซึ่งเป็นโครงสร้างของผิวหนัง ช่วยให้ผิวยืดหยุ่นและแข็งแรง ซึ่งสามารถป้องกันรอยแตกลายได้
  • ให้ความชุ่มชื้นกับผิวด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ครีมหรือโลชั่น อาจสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับผิวได้ โดยเลือกครีมหรือออยล์ที่ไม่มีส่วนผสมที่อันตรายสำหรับคนท้อง เช่น พาราเบน วิตามินเอหรือเรตินอยด์ สารปรอท เป็นต้น

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

STRETCH MARKS: WHY THEY APPEAR AND HOW TO GET RID OF THEM. https://www.aad.org/public/cosmetic/scars-stretch-marks/stretch-marks-why-appear. Accessed April 16, 2022

Tiger stripes – pregnancy stretch marks. https://www.tommys.org/pregnancy-information/blogs-and-stories/after-birth/pregnancy-insider-blog/tiger-stripes-pregnancy-stretch-marks. Accessed April 16, 2022

Linea nigra. https://www.babycenter.com/pregnancy/your-body/linea-nigra_40008034. Accessed April 16, 2022

Stretch Marks. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK436005/. Accessed April 16, 2022

Stretch marks during pregnancy: a review of topical prevention. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/bjd.13426. Accessed April 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/06/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน สาเหตุและการดูแล

แผลผ่าคลอดปริ เกิดจากอะไร คุณแม่ควรดูแลแผลอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา