backup og meta

น้ำคาวปลาหลังคลอด คืออะไร แล้วกี่วันถึงจะหมด

น้ำคาวปลาหลังคลอด คืออะไร แล้วกี่วันถึงจะหมด

หลังจากคลอดลูก ไม่ว่าจะเป็นการคลอดแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอด จะมีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากช่องคลอด หรือที่เรียกว่า น้ำคาวปลาหลังคลอด ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการกำจัดของเสีย เช่น เลือด เยื่อบุโพรงมดลูก เนื้อเยื่อรก ออกจากร่างกายของคุณแม่หลังคลอด ปริมาณน้ำคาวปลาที่ถูกขับออกมาของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ดังนั้น ช่วงหลังคลอดจึงควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องคลอดให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้ 

น้ำคาวปลาหลังคลอด คืออะไร 

น้ำคาวปลาหลังคลอด คือ ของเหลวที่ขับออกมาผ่านทางช่องคลอดหลังจากคลอดลูก ประกอบไปด้วยเลือด เยื่อบุโพรงมดลูก เนื้อเยื่อรก สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลังคลอดทุกคน ไม่ว่าจะคลอดตามธรรมชาติหรือผ่าคลอด โดยทั่วไป น้ำคาวปลาหลังคลอดจะมีลักษณะคล้ายเลือดประจำเดือน ซึ่งระยะเวลาและปริมาณของน้ำคาวปลาที่ขับออกมานั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล 

น้ำคาวปลาหลังคลอดจะหมดเมื่อไร 

น้ำคาวปลาหลังคลอดแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังต่อไปนี้ 

  • ระยะที่ 1 ช่วง 1-3 วันหลังคลอด เลือดจะออกมามากที่สุด โดยลักษณะเลือดจะเป็นสีแดงเข้มหรือสีแดงสด เป็นลิ่มเลือดขนาดเล็ก หากมีขนาดใหญ่ควรไปพบคุณหมอ 
  • ระยะที่ 2 ช่วง 4-10 วันหลังคลอด เลือดที่ขับออกมาทางช่องคลอดจะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลักษณะเลือดจะเป็นสีน้ำตาลอมชมพู และเหลวมากขึ้น ไม่ค่อยเป็นก้อนเหมือนช่วงระยะแรก 
  • ระยะที่ 3 ช่วง 11-28 วันหลังคลอด ลักษณะเลือดจะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลอมชมพูเป็นสีขาวอมเหลือง หรือสีครีม 

น้ำคาวปลาหลังคลอดจะค่อย ๆ น้อยลงและหมดไปตามระยะเวลา คุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่จะมีน้ำคาวปลาประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังคลอด หรือบางคนอาจนานถึง 6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น คลอดเองตามธรรมชาติ คลอดลูกแฝด 

วิธีจัดการน้ำคาวปลาหลังคลอด 

การดูแลเมื่อมีน้ำคาวปลาหลังคลอด อาจทำได้ดังนี้ 

  • ซื้อผ้าอนามัยเตรียมไว้ เนื่องจากอาจต้องใช้ผ้าอนามัยเป็นจำนวนมาก หากสะดวก อาจซื้อผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิงหลังคลอดโดยเฉพาะ
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ 
  • เปลี่ยนผ้าอนามัยเป็นประจำทุก 2 ชั่วโมงในช่วงเริ่มต้น จากนั้นค่อยเปลี่ยนทุก 3-4 ชั่วโมงเมื่อน้ำคาวปลาเริ่มลดลง 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือถ้วยอนามัยเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ 
  • ไม่ควรแช่น้ำหรือว่ายน้ำในช่วงที่มีน้ำคาวปลา
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในโพรงมดลูกได้
  • สามารถอาบน้ำและทำความสะอาดได้ตามปกติ แต่ควรซับทำความสะอาดช่องคลอดให้แห้งทุกครั้ง 

ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่

หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างทันท่วงที

  • ผ่านมา 3 วันแล้วแต่น้ำคาวปลายังมีสีแดงสด 
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ 
  • เลือดออกมามากผิดปกติเกิน 3 วันหลังคลอด และใช้ผ้าอนามัยมากกว่า 1 แผ่น/ชั่วโมง 
  • เลือดที่ออกมาเป็นลิ่มเลือด หรือเป็นก้อนใหญ่ขนาดเท่าลูกพลัม 
  • วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม 
  • คลื่นไส้ 
  • เป็นไข้ หนาวสั่น 
  • ตาพร่ามั่ว มองไม่ชัด 
  • ความดันโลหิตต่ำ 
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ  

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bleeding after birth: 10 things you need to know. https://www.nct.org.uk/life-parent/your-body-after-birth/bleeding-after-birth-10-things-you-need-know. Accessed March 25, 2022

Vaginal Bleeding After Birth: When to Call a Doctor. https://www.webmd.com/women/vaginal-bleeding-after-birth-when-to-call-doctor. Accessed March 25, 2022

Your body after the birth. https://www.nhs.uk/pregnancy/labour-and-birth/after-the-birth/your-body/. Accessed March 25, 2022

Postpartum bleeding (lochia). https://www.babycenter.com/baby/postpartum-health/postpartum-normal-bleeding-and-discharge-lochia_11722. Accessed March 25, 2022

Bleeding after birth (lochia). https://www.babycentre.co.uk/a553465/bleeding-after-birth-lochia#ixzz51hKCS9RJ. Accessed March 25, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

การคลอดลูก มีกี่วิธี และควรดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างไร

เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด วิธีสังเกตอาการเจ็บท้องเตือนและเจ็บท้องคลอด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา