backup og meta

หลังคลอดบุตรแม่ควรพักฟื้นประมาณกี่วัน และควรดูแลตัวเองอย่างไร

หลังคลอดบุตรแม่ควรพักฟื้นประมาณกี่วัน และควรดูแลตัวเองอย่างไร

คุณแม่มือใหม่อาจมีคำถามว่า หลังคลอดบุตรแม่ควรพักฟื้นประมาณกี่วัน โดยปกติการพักฟื้นหลังคลอดอาจใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองเพื่อช่วยบรรเทาอาการหลังคลอด และช่วยฟื้นฟูให้สุขภาพร่างกายกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

[embed-health-tool-due-date]

หลังคลอดบุตรแม่ควรพักฟื้นประมาณกี่วัน

โดยทั่วไปหลังคลอดบุตรคุณแม่อาจต้องใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 6 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง โดยในช่วงเวลาหลังคลอดร่ายกายจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเพื่อกลับสู่สภาพเดิมเหมือนกับก่อนตั้งครรภ์ เช่น มดลูกหดตัว การรักษาบาดแผล การปรับระดับฮอร์โมนในร่างกาย รวมไปถึงอาการหลังคลอดต่าง ๆ

อาการหลังคลอดบุตร

คุณแม่หลังคลอดอาจมีอาการ ดังนี้

  • เจ็บปวดช่องคลอด เพราะการฉีกขาดของช่องคลอดในขณะคลอดบุตร คุณแม่อาจมีอาการเจ็บปวดช่องคลอดประมาณ 2-3 สัปดาห์ รวมทั้งอาจมีน้ำคาวปลาไหลออกมาด้วย
  • ตกขาว อาจมีตกขาวเป็นเยื่อเมือกผสมกับเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดปริมาณมากประมาณ 2-3 วันแรกหลังคลอด และอาจยังไหลออกมาเรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งสีของตกขาวอาจค่อย ๆ จางลงเป็นสีชมพู สีน้ำตาล และสีขาวอมเหลือง
  • การหดตัวของมดลูกและหลอดเลือด หลังคลอดบุตรประมาณ 2-3 วัน มดลูกจะค่อย ๆ หดตัวกลับ และมดลูกจะบีบตัวเพื่อห้ามเลือด จึงอาจทำให้มีอาการคล้ายปวดประจำเดือน ปวดหลังหรือเสียวซ่าบริเวณหน้าท้อง
  • ปัญหาในการปัสสาวะ การคลอดบุตรอาจทำให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อเสียหาย ซึ่งอาจทำให้รู้สึกแสบเมื่อปัสสาวะ รวมทั้งอาจทำให้มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยเฉพาะเมื่อจามหรือหัวเราะ
  • เต้านมบวมและเจ็บเต้านม หลังคลอดบุตรประมาณ 3-4 วัน เต้านมจะสร้างน้ำนมเหลืองที่อุดมด้วยสารอาหารซึ่งอาจช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้กับทารก หลังจากนั้นเต้านมจะบวมขึ้นและอาจมีอาการคัดตึงเพราะมีน้ำนมเต็มเต้านม
  • ริดสีดวงทวาร การเบ่งลูกแรง ๆ ขณะคลอดอาจเป็นสาเหตุของริดสีดวงทวาร ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดบริเวณทวารหนักหลังจากทารกคลอด
  • ท้องผูก เป็นอาการที่พบบ่อยหลังคลอด ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากยาแก้ปวดที่ได้รับระหว่างการคลอด
  • เบบี้บลูส์ (Baby Blues) เป็นความแปรปรวนทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังคลอด คุณแม่บางคนอาจมีอาการเศร้า กังวลใจและวิตกกังวลหลังจากคลอดประมาณ 2 สัปดาห์

การดูแลตัวเองหลังคลอดบุตร

การดูแลตัวเองหลังคลอดบุตรมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาอาการหลังคลอด และส่งเสริมสุขภาพให้กลับไปเป็นปกติโดยเร็ว ซึ่งการดูแลตัวเองอาจทำได้ดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยฟื้นฟูพลังงานที่สูญเสียไป และช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าอ่อนเพลียหลังจากคลอดบุตร นอกจากนี้ ยังอาจช่วยจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นหลังคลอดด้วย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คุณแม่หลังคลอดบุตรควรรับประทานอาหารที่หลากหลายทั้งเนื้อสัตว์ แป้ง ใยอาหาร ผักและผลไม้ เพื่อช่วยเติมพลังงานให้กับร่างกายและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารมากขึ้นอาจช่วยป้องกันอาการท้องผูกและริดสีดวงทวารที่อาจเกิดขึ้นหลังคลอดได้
  • ออกกำลังกาย เช่น ออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน ฝึกขมิบ อาจช่วยเร่งการฟื้นตัวของอุ้งเชิงกรานและช่วยในการหดตัวของมดลูก โดยฝึกขมิบประมาณครั้งละ 5 วินาที 5 ครั้งติดต่อกัน ประมาณ 3 เซ็ต/วัน หรือตามที่ต้องการ
  • เข้าพบคุณหมอตามนัดหมายเสมอ เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายหลังคลอด และพูดคุยกับคุณหมอหากคุณแม่มีอาการเบบี้บลูส์ เพื่อหาแนวทางในการบำบัดสุขภาพจิตหลังคลอด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Postpartum care: What to expect after a vaginal birth. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/labor-and-delivery/in-depth/postpartum-care/art-20047233. Accessed March 27, 2023

Recovering from Delivery (Postpartum Recovery). https://familydoctor.org/recovering-from-delivery/. Accessed March 27, 2023

Vaginal Delivery Recovery. https://www.webmd.com/parenting/baby/recovery-vaginal-delivery. Accessed March 27, 2023

Looking after your body after having a baby. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/looking-after-your-body. Accessed March 27, 2023

Your body after the birth (the first 6 weeks). https://www.tommys.org/pregnancy-information/after-birth/your-body-after-birth. Accessed March 27, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

คลอดลูก สัญญาณเตือน ความเสี่ยงและการดูแลตัวเอง

การคลอดลูก มีกี่วิธี และควรดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา