backup og meta

5 สาเหตุที่ทำให้ น้ำหนักหลังคลอด ไม่ลดลง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 21/02/2022

    5 สาเหตุที่ทำให้ น้ำหนักหลังคลอด ไม่ลดลง

    หลังจากผ่านพ้นการตั้งครรภ์ยาวนานกว่า 9 เดือน สิ่งหนึ่งที่คุณแม่หลายคนอาจให้ความสนใจก็คือ น้ำหนักหลังคลอด ที่อาจเพิ่มขึ้นมาอย่างมากในช่วงตั้งครรภ์ โดยสาเหตุที่อาจทำให้น้ำหนักหลังคลอดไม่ยอมลดลง อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การไม่ออกกำลังกาย การสะสมของไขมัน ดังนั้น จึงควรศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้น้ำหนักหลังคลอดของคุณแม่กลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง

    สาเหตุที่ทำให้น้ำหนักหลังคลอดไม่ลดลง

    คุณแม่แต่ละท่านอาจมีความสามารถในการลดน้ำหนักหลังให้กำเนิดลูกแตกต่างกันไป คุณแม่หลายท่านอาจสามารถลดน้ำหนักจนเหลือเท่ากับช่วงก่อนตั้งครรภ์อย่างรวดเร็วตามที่ตั้งใจไว้ ในขณะที่บางท่านต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าน้ำหนักจะลด ในความเป็นจริง ยังมีคุณแม่บางส่วนที่น้ำหนักตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังคลอด จนกระทั่งกลายเป็นโรคอ้วน

    การลดน้ำหนักนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คุณแม่อาจต้องทุ่มเทอย่างมาก เพื่อให้ได้น้ำหนักตัวกลับมาเท่ากับช่วงก่อนการตั้งครรภ์ มีปัจจัยหลายประการ ที่อาจทำให้การลดน้ำหนักหลังตั้งครรภ์เป็นเรื่องยาก ดังนี้

    ความเครียดและความเหนื่อยล้า

    ทั้งสองสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดาของพ่อแม่มือใหม่ในช่วงเดือนแรก หลังคลอด ความเครียดและความเหนื่อยล้าเป็นตัวกระตุ้นให้อยากรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้เป็นพลังงาน นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การลดน้ำหนักกลายเป็นเรื่องยากนั่นเอง

    พักผ่อนไม่เพียงพอ

    หลังคลอด คุณแม่หลายท่านมักประสบกับปัญหาการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถเป็นสาเหตุของความเครียดและความเหนื่อยล้าได้ โดยการนอนหลับไม่เพียงพอนั้นจะไปรบกวนระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับความอยากอาหาร

    ความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญในร่างกายทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เมื่อระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานช้าลงจึงทำให้ไขมันสะสมในร่างกายมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ระดับของคอร์ติซอลในร่างกายสามารถเพิ่มสูงขึ้นได้หากคุณแม่นั้นออกกำลังกายมากเกินไป

    ไม่ออกกำลังกาย

    การไม่ออกกำลังกาย หรือแทบจะไม่ออกกำลังกายเลยนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้พลังงานที่ได้รับสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้น และเป็นสาเหตุให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้การเผาผลาญของร่างกายทำงานช้าลง ยิ่งไปกว่านั้น ระบบเผาผลาญในร่างกายก็จะทำงานช้าลงตามอายุที่มากขึ้นด้วย

    การสะสมไขมันหลังคลอด

    ร่างกายของคุณแม่นั้นสะสมไขมันไว้ก่อนการคลอดเพื่อเตรียมพลังงานไว้สำหรับการให้นมลูก ไขมันที่ร่างกายสะสมไว้นี้จะไม่หายไปโดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

    ประเด็นนี้ สอดคล้องกับข้อมูลขององค์กร La Leche League International ที่ระบุว่า แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจสามารถลดน้ำหนักได้ 6-7 กิโลกรัมต่อเดือน ในช่วง 4-6 เดือนแรก หลังคลอด และหลังจากนั้นการลดน้ำหนักอาจช้าลงเป็นลำดับ ส่วนในรายที่เลี้ยงลูกด้วยนมผงนั้น ไขมันที่สะสมไว้ในร่างกายอาจถูกนำไปใช้ได้ยากกว่าและน้ำหนักตัวก็จะลดลงได้ยากกว่า

    นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่า คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์แต่ละครั้งอีกด้วย หากตั้งครรภ์หลายครั้ง ร่างกายอาจสะสมน้ำหนักจากการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ซึ่งทำให้การลดน้ำหนักที่ตั้งเป้าหมายไว้นั้นเป็นไปได้ยากขึ้น

    ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังการคลอด

    รูปร่างของคุณแม่อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดหลังคลอด ซึ่งหลายคนอาจบ่นว่า ทำไมหน้าท้องยังไม่ยุบเหมือนปกติสักที แม้ว่าจะคลอดบุตรมาแล้วอย่างน้อย 1-2 ปีแล้ว ปัญหานี้อาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ภายหลังการคลอดบุตรนั่นเอง

    ผู้หญิงบางคนอาจมีการถ่ายทอดทางกรรมพันธ์ุ ที่ก่อให้เกิดหน้าท้องลายและผิวหนังหย่อนคล้อยได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจดูลดเลือนลง แต่อาจจะไม่หายไปทั้งหมด ลักษณะนี้อาจเกิดจากการที่ผิวหนังสูญเสียการยืดหยุ่น หลังคลอด หรือด้วยอายุที่มากขึ้นเพื่อไม่ให้อาการเหล่านี้แย่ลง ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นการทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องกลับเข้าที่อาจเป็นเรื่องยาก และนอกจากการออกกำลังกายสม่ำเสมอแล้ว ยังควรดูแลและควบคุมอาหาร รวมทั้งนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

    นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายที่เกินพอดี ซึ่งอาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและอาจเป็นสาเหตุให้อัตราเผาผลาญพลังของร่างกายต่ำลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 21/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา