ช่วงไหนท้องง่ายที่สุด อาจเป็นอีกหนึ่งคำถามที่คนอยากมีลูกสงสัยมากที่สุด โดยทั่วไปแล้วช่วงที่ท้องง่ายที่สุด คือ ช่วงวันไข่ตก หรือประมาณ 10-16 วันก่อนมีประจำเดือน เพราะอสุจิสามารถเดินทางไปผสมกับไข่และปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนได้ดีที่สุด แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถนับวันไข่ตกที่แน่ชัดได้ การมีเพศสัมพันธ์ทุก ๆ 2-3 วันโดยไม่คุมกำเนิด อาจช่วยเพิ่มโอกาสให้ตัวอสุจิที่มีชีวิตในมดลูกสามารถเข้าไปผสมกับไข่ได้เลยเมื่อถึงวันไข่ตก
ช่วงไหนท้องง่ายที่สุด
ปกติแล้วโอกาสที่ดีที่สุดในการตั้งครรภ์ คือ ประมาณ 10-16 วันก่อนมีประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไข่ตก หากทราบวันไข่ตกที่แน่ชัด การมีเพศสัมพันธ์ในวันไข่ตกก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ควรมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุก ๆ 2-3 วันโดยไม่คุมกำเนิด เพื่อให้ตัวอสุจิที่แข็งแรงเข้าไปรออยู่ในมดลูกก่อนถึงเวลาไข่ตก หรือในระยะเวลาที่ไข่ตก โดยอสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในมดลูกได้ประมาณ 3-5 วันโดยยังไม่ผสมกับไข่ และไข่สามารถอยู่ที่ปลายท่อนำไข่ได้นาน 12-24 ชั่วโมง
การสังเกตช่วงเวลาตกไข่
ผู้หญิงบางคนอาจไม่สามารถทราบช่วงเวลาไข่ตกที่แน่ชัดได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากยาคุมกำเนิดจะทำหน้าที่หยุดการตกไข่ ช่วงไหนท้องง่ายที่สุด เรื่องน่ารู้สำหรับคนอยากมีลูก อย่างไรก็ตาม การสังเกตความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจช่วยให้ทราบวันตกไข่ได้
-
- การนับวันไข่ตก โดยปกติการตกไข่มักเกิดขึ้นประมาณ 10-16 วันก่อนเริ่มมีประจำเดือนครั้งถัดไป การจดบันทึกช่วงเวลาการมีประจำเดือนจึงอาจช่วยให้ทราบช่วงเวลาตกไข่ได้ โดยการหาหาช่วงระยะเวลารอบเดือนของตนเอง (Interval of menstruation)
- การเปลี่ยนแปลงของมูกปากมดลูก ปากมดลูกจะหลั่งมูกเหนียวสีขาวออกมาตลอดรอบเดือน แต่ในช่วงก่อนหรือระหว่างไข่ตก มูกจะเพิ่มปริมาณ และมีลักษณะลื่นและเหนียวมากขึ้น เพื่อช่วยให้ตัวอสุจิสามารถว่ายเข้าไปในมดลูกได้ง่ายขึ้น
- อุณหภูมิร่างกาย ในช่วงเวลาไข่ตก อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นจากปกติประมาณ 0.2 องศาเซลเซียส
- ชุดทดสอบการตกไข่ (Ovulation predictor kits: OPK) เป็นเครื่องตรวจสอบฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing hormone: LH) ในปัสสาวะ ฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นการตกไข่และจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงตกไข่ ทำให้อาจระบุช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเตรียมตั้งครรภ์ได้
เคล็ดลับที่อาจช่วยให้ตั้งครรภ์ได้เร็วขึ้น
เคล็ดลับเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
- ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ก่อนการตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานอาหาร เช่น การรับประทานกรดโฟลิก (Folic acid) ซึ่งสำคัญต่อการตั้งครรภ์และการพัฒนาการด้านร่างกายของทารก และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะการพัฒนาของระบบประสาทส่วนกลางและไขสันหลัง ในทารกได้ด้วย นอกจากนี้ ในการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ คุณหมอยังอาจตรวจหาโรคแฝงที่อาจส่งผลต่อครรภ์ด้วย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเบาหวาน
- ทำความเข้าใจเรื่องรอบเดือนและการตกไข่ การสังเกตตนเองและการจดบันทึกรอบเดือนอาจทำให้สามารถระบุช่วงเวลาตกไข่ที่เหมาะสมที่สุดในการมีเพศสัมพันธ์เพื่อตั้งครรภ์ และอาจช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้
- มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อย่างน้อยทุก ๆ 2-3 วัน โดยเริ่มมีเพศสัมพันธ์หลังประจำเดือนหมด 1 สัปดาห์ และควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงใกล้ไข่ตกหรือในวันไข่ตก เพราะอาจยิ่งทำให้ตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น
- ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น การเดินเร็ว การเต้นแอโรบิค อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ อาจช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้นและเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อวงจรการตกไข่ นอกจากนี้ การรักษาน้ำหนักให้เป็นปกติ ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป ก็อาจช่วยไม่ให้เกิดภาวะไข่ตกผิดปกติได้ด้วย
- จัดการกับความเครียดให้ดี เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลต่อการตกไข่ หากเครียดควรคลายเครียดด้วยการนวด การอ่านหนังสือ การเล่นโยคะ การทำสวน การร้องเพลง เป็นต้น เพื่อให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตแข็งแรง ซึ่งอาจส่งผลต่อการตกไข่และการตั้งครรภ์ได้
สิ่งที่ควรเลี่ยงหากอยากตั้งครรภ์
การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ อาจช่วยทำให้ตั้งครรภ์ง่ายขึ้นได้
- การสูบบุหรี่ สารเคมีในควันบุหรี่ เช่น นิโคติน ไซยาไนด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ อาจเร่งอัตราการสูญเสียไข่ในผู้หญิง และอาจส่งผลให้จำนวน การเคลื่อนไหว และรูปร่างของตัวอสุจิในผู้ชายผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการผสมกับไข่ จนอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจทำให้ผู้ชายมีความต้องการทางเพศและสมรรถภาพทางเพศลดลง หรือส่งผลต่อคุณภาพของอสุจิ และอาจทำให้ผู้หญิงมีประจำเดือนผิดปกติ มีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ และอาจส่งผลต่อการตกไข่ ทำให้ตั้งครรภ์ยากขึ้นด้วย
- อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากอาจส่งผลต่อคุณภาพของอสุจิได้ ส่วนผู้หญิงก็ไม่ควรควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเกิน 200 มิลลิลิตร/วัน เพราะหากรับประทานมากเกินไปอาจเสี่ยงมีบุตรยาก เกิดภาวะแท้งบุตร ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าคาเฟอีนส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ในผู้ชายและผู้หญิงอย่างไร แต่หากได้รับในปริมาณสูงอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้
- การออกกำลังกายอย่างหักโหม การออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูง หรือออกกำลังกายอย่างหักโหมมากกว่า 5 ชั่วโมง/สัปดาห์ อาจทำให้การตกไข่ลดลงได้
- ความเครียด ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าความเครียดเพียงอย่างเดียวส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างไร แต่ความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า อาจขัดขวางความสามารถในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงได้ เช่น ความเครียดอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และอาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้ด้วย
[embed-health-tool-ovulation]