backup og meta

อาการท้อง ที่ควรสังเกต เตรียมตัวตั้งครรภ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 08/05/2022

    อาการท้อง ที่ควรสังเกต เตรียมตัวตั้งครรภ์

    อาการท้อง อาจปรากฏขึ้นหลังจากอสุจิปฏิสนธิกับไข่ และฝังตัวลงในผนังมดลูกของผู้หญิงได้ 4-6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประจำเดือนขาด คัดเต้านม เพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัดควรตรวจครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจครรภ์จากคุณหมอ เมื่อมั่นใจว่าตั้งครรภ์แน่ชัดแล้ว ควรเอาใจใส่ดูแลสุขภาพตนเองระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีของทารก

    อาการท้อง สังเกตจากอะไร

    อาการท้อง อาจสังเกตได้จากสัญญาณเตือน ดังต่อไปนี้

    อาการเริ่มต้นการตั้งครรภ์ที่เห็นได้ชัดคือประจำเดือนขาดนานกว่า 2 เดือน บางคนอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยจากการฝังตัวของมดลูก อย่างไรก็ตาม การที่ประจำเดือนขาดอาจไม่ได้หมายความว่าตั้งครรภ์เสมอไป แต่อาจมีสาเหตุมาจากความเครียด การใช้ยาคุมกำเนิด ความเหนื่อยล้า น้ำหนักที่เพิ่มหรือลดลงผิดปกติ

    • ปวดท้องส่วนล่าง

    หลังจากอสุจิปฏิสนธิกับไข่และฝังตัวในผนังมดลูกได้ 6-12 สัปดาห์ บางคนอาจมีอาการปวดท้องเกร็งคล้ายกับอาการปวดท้องประจำเดือน และมีตกขาว ผู้หญิงตั้งครรภ์อาจมีอาการตกขาวมากขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ยกเว้นกรณีตกขาวมีกลิ่น พร้อมกับมีอาการแสบร้อนและคันช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ช่องคลอดควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสาเหตุให้แน่ชัด

    • เต้านมคัด

    เป็นอีกหนึ่งอาการท้องที่เริ่มขึ้นหลังการปฏิสนธิ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมผลิตน้ำนมให้ทารกหลังคลอด ส่งผลให้หน้าอกขยายใหญ่ หัวนมเปลี่ยนสี รู้สึกเจ็บเมื่อถูกสัมผัสหรือเสียดสี

    • แพ้ท้อง

    อาการแพ้ท้องเกิดจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปแต่ละบุคคลที่ โดยส่วนใหญ่อาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นลม ไวต่อกลิ่น เหม็นอาหารบางอย่างแม้แต่อาหารที่ชื่นชอบ อยากรับประทานอาหารแปลก ๆ อาการเหล่านี้อาจบรรเทาลงในช่วงสัปดาห์ที่ 13-14 ของการตั้งครรภ์

    • เหนื่อยล้า

    อาการเหนื่อยล้า อาจเกิดขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเพิ่มระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)ที่ทำให้ร่างกายเพิ่มการผลิตเลือดเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก จึงอาจส่งผลให้คุณแม่อ่อนเพลีย

    • ปัสสาวะบ่อย

    เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 6-8 อาจส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นเนื่องจากมดลูกขยายตัวกดทับกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้อาจปัสสาวะบ่อยขึ้นตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็อาจส่งผลให้มีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้นเช่นกัน

    • อาการท้องผูก

    การตั้งครรภ์อาจทำให้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ทำให้การเคลื่อนอาหารผ่านลำไส้ลดลง จนนำไปสู่อาการท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์

    วิธีตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง

    หากมีอาการท้อง ควรตรวจครรภ์เพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัดว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจโดยใช้ชุดอุปกรณ์ตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง หรือการตรวจที่โรงพยาบาล สำหรับการตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง ควรตรวจครรภ์ในช่วงเช้าโดยใช้ปัสสาวะแรกของวัน เพราะอาจมีฮอร์โมนการตั้งครรภ์ระดับเข้มข้น ช่วยให้ผลการตรวจครรภ์มีความแม่นยำมากขึ้น

    ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองมี 2 รูปแบบ ดังนี้

    1. ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบจุ่ม

    ภายในกล่องมีถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ กระดาษหรือเครื่องพลาสติกที่มีส่วนปลายไว้จุ่มปัสสาวะ

    วิธีใช้

    • ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
    • นำกระดาษทดสอบ หรือนำอุปกรณ์พลาสติกส่วนปลายลงไปจุ่มไม่เกินเส้นที่กำหนด 7-10 วินาที
    • ปิดฝาหรือวางกระดาษในบนพื้นที่ที่สะอาด รอเวลา 5 นาที

    2. ชุดทดสอบตั้งครรภ์แบบหยด

    ประกอบด้วยถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ หลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ ตลับพลาสติกทดสอบการตั้งครรภ์

    วิธีใช้

    • ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
    • นำหลอดดูดน้ำปัสสาวะหยดลงบนตลับการทดสอบที่มีตัวอักษร S ประมาณ 3-6 หยด
    • วางตลับทดสอบการตั้งครรภ์ 3 นาที

    บนกระดาษ อุปกรณ์พลาสติก และตลับการทดสอบ จะมีตัวอักษร C และ T  ที่บ่งบอกถึงผลลัพธ์ เมื่อครบเวลาตามกำหนดแล้ว หากพบว่ามีเส้นสีแดงขึ้นตรงกับตัวอักษร C เพียง 1 ขีด อาจมีความหมายว่า “ไม่ตั้งครรภ์” แต่หากมีเส้นสีแดงตรงกับตัวอักษร C และ T หรือ 2 ขีด อาจมีความเป็นไปได้ว่ากำลัง “ตั้งครรภ์”  แต่หากเส้นสีแดงที่ขึ้นเป็นสีจาง ๆ อาจจำเป็นต้องทำการทดสอบการตั้งครรภ์ใหม่ในช่วงเช้า หรือเข้ารับการตรวจครรภ์จากคุณหมอด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือด

    การดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์

    วิธีดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำได้ดังนี้

    • เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์
    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โดยเฉพาะอาหารเสริมโฟลิก 400 โครกรัม/วัน เพื่อช่วยป้องกันข้อบกพร่องของระบบประสาทและไขสันหลังของทารกในครรภ์
    • ไม่ควรรับประทานยา อาหารเสริม และสมุนไพรเอง โดยไม่ผ่านการอนุญาตจาคุณหมอ เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ตั้งครรภ์ ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพของทารกระยะยาว เช่น ปัญหาระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำ
    • ฉีดวัคซีนเพิ่มประสิทธิภาพให้ภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนหัดเยอรมัน โรคคางทูม ไข้หวัดใหญ่
    • รักษาน้ำหนักตามมาตรฐานด้วยการออกกำลังกายระดับเบา เช่น แอโรบิก คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป เพราะการมีน้ำหนักน้อยขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก และหากมีน้ำหนักเกินก็อาจก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
    • ดูแลสุขภาพจิตใจให้แจ่มใจ ลดความเครียด ความกังวล หากไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ อาจจำเป็นต้องปรึกษาคุณหมอด้านสุขภาพจิตเพื่อขอคำแนะนำ หรือรับการบำบัด
    • หลีกเลี่ยงการสูดดมและสัมผัสกับสารเคมีรอบตัว เช่น โลหะ ยาฆ่าแมลง เพราะอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตทารกในครรภ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 08/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา