backup og meta

ที่ตรวจครรภ์แบบหยด ใช้งานอย่างไร และวิธีอ่านผลการตรวจครรภ์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    ที่ตรวจครรภ์แบบหยด ใช้งานอย่างไร และวิธีอ่านผลการตรวจครรภ์

    ที่ตรวจครรภ์แบบหยด (Pregnancy Test Cassette) เป็นชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่สามารถทราบผลได้ภายใน 5 นาที สามารถให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำสูงถึง 99% เมื่อใช้หลังจากประจำเดือนมาช้ากว่าปกติอย่างน้อย 1 สัปดาห์และใช้ตามวิธีที่แนะนำอย่างถูกต้อง ที่ตรวจครรภ์แบบหยด 1 ชุด จะประกอบด้วยหลอดหยด (Droper) ถ้วยรองปัสสาวะ และแท่งทดสอบปัสสาวะ (Strip) อย่างละ 1 ชิ้น และเพื่อป้องกันผลตรวจคลาดเคลื่อน ผู้ทดสอบควรตรวจสอบวันหมดอายุ และอ่านคำแนะนำที่แนบมากับผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนใช้งานทุกครั้ง

    ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน

    หากสงสัยว่าตั้งครรภ์หรือไม่ สามารถเริ่มตรวจการตั้งครรภ์ได้เมื่อประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนดอย่างน้อย 7 วัน โดยการตรวจวัดระดับฮอร์โมนเอชซีจี (HCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่ผลิตจากเซลล์ของรกหลังจากไข่และอสุจิผสมกันเรียบร้อยแล้ว ฮอร์โมนนี้จะช่วยควบคุมฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Oestrogen) ทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปตามปกติ หากอาการประจำเดือนมาช้าอย่างน้อย 7 วันที่พบเกิดจากการตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนเอชซีจีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอยู่ในระดับที่สามารถตรวจจับได้จากการตรวจเลือดและการตรวจปัสสาวะ แต่หากตรวจเร็วกว่านี้ ฮอร์โมนนี้อาจยังอยู่ในระดับต่ำเกินไปจนทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้

    การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองด้วยที่ตรวจครรภ์แบบหยดควรทำในช่วงเช้าและใช้ปัสสาวะแรกหลังตื่นนอน ซึ่งเป็นช่วงที่ปัสสาวะเข้มข้นและมีระดับฮอร์โมนเอชซีจีสูงกว่าช่วงอื่นของวัน หากมีแถบสีแดงขึ้นบนที่ตรวจครรภ์ 2 ขีด นั่นคือผลเป็นบวก แสดงว่าตั้งครรภ์ แต่หากมีขีดขึ้นที่ตัวอักษร T แบบจาง ๆ อาจต้องรอประมาณ 2-3 วันจึงตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันผลทดสอบ

    ที่ตรวจครรภ์แบบหยด ใช้งานอย่างไร

    วิธีใช้ ที่ตรวจครรภ์แบบหยด อาจทำได้ดังนี้

    1. ถ่ายปัสสาวะใส่ถ้วยรองปัสสาวะตามขีดที่กำหนด
    2. ใช้หลอดหยดดูดปัสสาวะในถ้วยรองขึ้นมา แล้วหยดปัสสาวะ 3-4 หยดลงในหลุมของแท่งทดสอบปัสสาวะทีละหยด รอให้หยดก่อนหน้าแห้งก่อนจึงค่อยหยดใหม่
    3. วางแท่งทดสอบปัสสาวะไว้บนภาชนะสะอาดหรือพื้นผิวสะอาด แล้วรอการประมวลผลประมาณ 3-5 นาที หรือตามคำแนะนำที่ระบุไว้ข้างฉลากผลิตภัณฑ์
    4. เมื่อครบเวลาที่กำหนดแล้วจึงอ่านผลการตรวจครรภ์ที่แสดงบนแท่งทดสอบปัสสาวะ

    วิธีอ่านผลการตรวจครรภ์

    ที่ตรวจครรภ์แบบหยด จะแปลค่าผลการตั้งครรภ์ด้วยการขึ้นแถบสีแดงทั้งหมด 2 ขีด ได้แก่ แถบสีแดงที่อยู่ตรงกับตัวอักษร C (Control Line) และแถบสีแดงที่อยู่ตรงกับตัวอักษร T (Test Line) หากชุดทดสอบปกติ จะต้องมีแถบสีแดงขึ้นตรงตัวอักษร C ซึ่งเป็นแถบด้านบน ส่วนผลการตั้งครรภ์ จะขึ้นอยู่กับแถบสีแดงที่อยู่ตรงกับตำแหน่งตัวอักษร T ที่อยู่แถบด้านล่างของที่ตรวจครรภ์

    ความหมายของผลที่แสดง มีดังนี้

    • ตั้งครรภ์หรือผลเป็นบวก (Positive) หากมีแถบสีแดงขึ้น 2 ขีด ตรงตัวอักษร C 1 ขีด และตรงตัวอักษร T อีก 1 ขีด แสดงว่า ตั้งครรภ์ แต่หากแถบสีแดงตรงตัวอักษร T ขึ้นเป็นขีดจาง ๆ อาจต้องตรวจใหม่อีกครั้งในวันถัดไป หรือรออีก 1 สัปดาห์
    • ไม่ตั้งครรภ์หรือผลเป็นลบ (Negative) หากมีแถบสีแดงขึ้นในตำแหน่งตัวอักษร C เพียง 1 ขีด แสดงว่า ไม่ตั้งครรภ์ หรืออาจหมายถึงผู้ทดสอบใช้ที่ตรวจครรภ์เร็วเกินไปจึงยังไม่สามารถตรวจจับระดับฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะได้
    • ชุดตรวจหมดอายุหรือใช้ผิดวิธี หากแถบสีแดงไม่ขึ้นตรงกับตำแหน่งใดเลย หรือหากแถบสีแดงขึ้นที่ตัวอักษร T เพียงตำแหน่งเดียว แสดงว่า อ่านค่าไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดจากที่ตรวจครรภ์หมดอายุหรือใช้ที่ตรวจครรภ์ผิดวิธี

    หากที่ตรวจครรภ์ขึ้นแถบสีแดง 2 ขีดชัดเจน หรือขึ้น 2 ขีดจาง ๆ ร่วมกับมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ เช่น ประจำเดือนขาด มีอาการแพ้ท้อง มีเลือดล้างหน้าเด็กไหลออกจากช่องคลอด ควรเข้ารับการตรวจครรภ์ในสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด คุณหมออาจตรวจเลือด หรืออัลตราซาวด์ เพื่อให้ได้ผลตรวจการตั้งครรภ์ที่แม่นยำมากที่สุด และหากทราบผลแน่ชัดว่าตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการฝากครรภ์ทันที โดยคุณหมออาจซักประวัติ ตรวจสุขภาพของคุณแม่ และนัดหมายให้คุณแม่มาตรวจสุขภาพเป็นระยะตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าการตั้งครรภ์จะดำเนินไปได้ตามปกติจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด

    สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าตั้งครรภ์แต่ไม่ประสงค์จะดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไป สามารถติดต่อหน่วยงานรัฐบาลเพื่อรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1663 ซึ่งเป็นสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ที่ให้บริการตั้งแต่ 09:00-21:00 น. ของทุกวัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา