backup og meta

ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ควรตรวจอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ควรตรวจอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    การ ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ อาจช่วยให้ผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตรทราบถึงภาวะสุขภาพที่อาจส่งผลต่อโอกาสการตั้งครรภ์หรือกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกขณะตั้งครรภ์ ทำให้สามารถรักษาโรคหรือเฝ้าระวังเพื่อลดความเสี่ยงได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้การวางแผนการตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนอายุ 35 ปี และดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น งดสูบบุหรี่และสูดดมควันบุหรี่มือสอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ รับประทานกรดโฟลิก จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ รักษาภาวะสุขภาพที่อาจทำให้มีปัญหาการเจริญพันธุ์ให้หายเสียก่อน อาจช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์และทำให้คุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์

    การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์สำคัญอย่างไร

    การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์อาจช่วยให้ผู้ที่กำลังวางแผนการตั้งครรภ์สามารถคัดกรองภาวะสุขภาพที่อาจเป็นปัญหาต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทำให้มีบุตรยาก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ คุณหมอจะตรวจสุขภาพทั่วไปและตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ หากพบโรคจะได้รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการตั้งครรภ์ในครั้งนี้จะดำเนินไปได้ด้วยดี

    ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ควรตรวจอะไร

    ผู้ที่ต้องการ ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ สามารถไปพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพตามรายการตรวจต่อไปนี้ เพื่อหาความผิดปกติของร่างกายที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์และโอกาสในการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ รายการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ

    • การซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยา ประวัติครอบครัว ประวัติการตั้งครรภ์ในครรภ์ก่อน ๆ รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนที่เคยเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ๆ ประวัติการฉีดวัคซีน ประวัติการผ่าตัด พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และจะมีการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจวัดความดันโลหิต รวมทั้งตรวจร่างกายโดยทั่วไป เพื่อดูสุขภาพโดยรวมและความสมบูรณ์ของร่างกายว่าพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์หรือมีข้อห้าม หรือข้อควรระวังใด ๆ กับการตั้งครรภ์หรือไม่ และอาจตรวจภายในเพื่อหาความผิดปกติของรังไข่และมดลูกที่อาจทำให้มีบุตรยากหรือเกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ร่วมด้วย เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
    • การตรวจเลือดและหมู่เลือด การตรวจเลือดจะทำให้ทราบระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ทั้งยังมีการวัดความเข้มข้นของเลือดเพื่อหาภาวะโลหิตจาง รวมถึงการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคพันธุกรรมแฝงที่พบได้บ่อย คือ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคต่อมไทรอยด์ และการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อไวรัสเอชไอวี เชื้อซิฟิสิส รวมถึงการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อที่สำคัญ คือ ภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสหัดเยอรมัน ส่วนการตรวจหมู่เลือดจะทั้งระบบเอบีโอ (ABO) เพื่อให้ทราบกรุ๊ปเลือดของคุณแม่ และระบบอาร์เอช (Rh Type) เพื่อคัดกรองโรคจากหมู่เลือดอาร์เอช (Rhesus Disease) ซึ่งเป็นภาวะที่คุณแม่และทารกในครรภ์มีหมู่เลือดอาร์เอช (Rh หรือ Rhesus) ไม่ตรงกัน
    • ตรวจสุขภาพฟัน การตรวจสุขภาพฟันและรักษาโรคในช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ ฟันผุ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อแบคทีเรียไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรก และอาจป้องกันการเกิดภาวะผิดปกติ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย
    • ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส ที่อาจทำให้มีบุตรยาก นอกจากนี้ การตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนตั้งครรภ์ยังลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไปยังทารก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการ ทำให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีพัฒนาการที่ล่าช้าไม่สมวัย หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

    คนเตรียมตั้งครรภ์ ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    ผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สดสะอาด ไม่มีสารปนเปื้อน เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมสูง
    • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์อย่างภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษที่ทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติ
    • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง/วัน
    • รับประทานอาหารเสริม เช่น กรดโฟลิก (ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ ต่อเนื่องไปจนเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์) ธาตุเหล็ก ไอโอดีน ตามคำแนะนำของคุณหมอ และควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับยาที่ใช้ได้หรือไม่ควรใช้ขณะวางแผนตั้งครรภ์
    • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกขณะอยู่ในครรภ์ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน ในกรณีที่ตรวจแล้วไม่พบระดับภูมิคุ้มกันในเลือด
    • งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ เพราะอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ทั้งยังดีต่อสุขภาพโดยรวม ช่วยลดความเสี่ยงของการแท้งบุตร ภาวะทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อย และการคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก รังสี และไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา