backup og meta

อยากมีลูกต้องทำไง และปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีบุตรยาก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    อยากมีลูกต้องทำไง และปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีบุตรยาก

    อยากมีลูกต้องทำไง อาจเป็นหนึ่งในคำถามที่ผู้ต้องการมีลูก และผู้ที่มีลูกยากอยากทราบคำตอบมากที่สุด ปัญหามีลูกยากอาจมาจากคุณภาพไข่หรืออสุจิไม่ดี พฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นต้น อย่างไรก็ดี อาจมีหลายวิธีที่สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ และการทราบสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีลูกยาก ก็อาจทำให้สามารถหาวิธีเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

    ปัญหาที่ทำให้มีลูกยาก

    ภาวะมีบุตรยากพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 

    • อายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากอายุที่มากขึ้นอาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ ทำให้คุณภาพไข่ของผู้หญิงและจำนวนอสุจิของผู้ชายลดลง ส่งผลกระทบต่อการมีลูก
    • น้ำหนักตัวน้อยหรือมากกว่าเกณฑ์ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย หากน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลกัน และอาจไปขัดขวางการตกไข่ของผู้หญิงและการผลิตอสุจิของผู้ชาย หรือหากมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์อาจส่งผลให้ไม่มีสารอาหารไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตกหรือผลิตอสุจิ 
    • สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ได้ เนื่องจากสารต่าง ๆ ในบุหรี่ เช่น นิโคติน สารตะกั่ว แคดเมียม อาจทำให้อสุจิผิดปกติและไม่แข็งแรงพอที่จะเข้าไปผสมกับไข่ รวมถึงอาจลดประสิทธิภาพการทำงานมดลูกที่เป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อนด้วย
    • ท่อนำไข่อุดตัน หากท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างอุดตัน อาจทำให้ไข่ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปยังท่อนำไข่ และอสุจิไม่สามารถเคลื่อนเข้าสู่รังไข่ได้ จึงส่งผลให้ไม่มีการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ 
    • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เกิดจากเยื่อบุมดลูกไปเจริญภายนอกมดลูก ซึ่งอาจส่งผลให้การทำงานของรังไข่ มดลูก และท่อนำไข่ผิดปกติ จนเกิดภาวะมีบุตรยาก 

    อยากมีลูกต้องทำไง 

    เคล็ดลับเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ 

    • นับวันตกไข่ ทำความเข้าใจเรื่องวงจรการตกไข่และวิธีนับวันตกไข่อย่างถูกต้อง ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 5 วันก่อนถึงวันตกไข่และในวันตกไข่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ โดยปกติ ไข่จะตกในช่วง 12-16 วันก่อนเริ่มมีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงแต่ละคนอาจมีวงจรการตกไข่ต่างกัน หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาและขอคำแนะนำในการนับวันตกไข่จากคุณหมอ
    • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลายและสมดุล อาจช่วยปรับภาวะเจริญพันธุ์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตกไข่หรือการผลิตอสุจิของผู้ชาย ผู้หญิงที่อยากตั้งครรภ์ควรรับประทานกรดโฟลิกอย่างน้อย 400 ไมโครกรัม/วัน เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความบกพร่องท่อประสาท ซึ่งเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของทารกได้ 
    • ออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที/วัน เช่น เดินเร็ว วิ่ง แอโรบิก เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและช่วยควบคุมน้ำหนัก ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ผู้หญิงไม่ควรออกกำลังกายหักโหม เพราะอาจส่งผลให้ไข่ตกน้อยลง
    • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เครียด เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลกระทบการทำงานของระบบสืบพันธุ์ และยับยั้งการตกไข่ ควรทำกิจกรรมคลายเครียดบ้าง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย รวมถึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วย 
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์และระบบสืบพันธุ์ รวมถึงอาจส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและการตกไข่

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

    ผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันเป็นประจำอย่างน้อย 1 ปี แล้ว แต่ยังไม่ตั้งครรภ์ และผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันเป็นประจำอย่างน้อย 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ตั้งครรภ์ ควรเข้าพบคุณหมอเพราะอาจมีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ซึ่งในบางกรณีอาจต้องใช้เทคนิคทางการแพทย์เข้าช่วยเพื่อทำให้ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ครอบครัวที่วางแผนว่าจะมีบุตรก็ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็คสุขภาพร่างกายเป็นประจำเช่นกัน หากพบปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ คุณหมอจะได้รักษาได้อย่างตรงจุด และจะได้แนะนำวิธีเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมยิ่งขึ้นได้ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา