backup og meta

ANC คือ อะไร ดีต่อสุขภาพการตั้งครรภ์อย่างไร

ANC คือ อะไร ดีต่อสุขภาพการตั้งครรภ์อย่างไร

ANC (Antenatal Care) คือ การฝากครรภ์ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรปฏิบัติโดยเร็วเมื่อทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ เพื่อช่วยให้คุณหมอสามารถตรวจสุขภาพร่างกายของคุณแม่เพื่อป้องกันโรคที่อาจส่งต่อสู่ทารกในครรภ์ และสามารถติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ให้เติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งยังช่วยป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะคลอดก่อนกำหนด ภาวะแท้ง และวางแผนสำหรับช่วงเวลาและวิธีการคลอดที่เหมาะสมกับคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละราย

[embed-health-tool-due-date]

ANC คืออะไร

ANC คือ การฝากครรภ์ที่เป็นการดูแลสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ในระหว่างตั้งครรภ์จากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ มีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมทั้งมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่นการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ ประเมินสิ่งต่างๆ เช่น หมู่เลือด ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจโรคประจำตัวของคุณแม่ที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ เพื่อสรุปเป็นความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ในคุณแม่แต่ละราย ซึ่งคุณแม่ควรเข้ารับการฝากครรภ์โดยเร็วที่สุดเมื่อทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ จากนั้นคุณหมอจะนัดหมายคุณแม่ในแต่ละสัปดาห์ของการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ และตอบคำถามเกี่ยวข้อสงสัยต่าง ๆ ของคุณแม่

ควรเริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่

คุณแม่ควรฝากครรภ์โดยเร็วที่สุดเมื่อทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ โดยสามารถเข้าฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ได้ทุกโรงพยาบาล ซึ่งคุณหมออาจนัดหมายให้เข้ามาตรวจสุขภาพครรภ์ประมาณ 8-10 ครั้ง สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกและไม่มีปัญหาสุขภาพ แต่สำหรับผู้ที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนคุณหมออาจนัดหมายประมาณ 7-9 ครั้ง หากไม่เคยมีปัญหาสุขภาพในระหว่างตั้งครรภ์ โดยอาจมีตารางการนัดหมาย โดยประมาณ ดังนี้

  • สัปดาห์ที่ 4-28 ของการตั้งครรภ์ พบคุณหมอ 1 ครั้ง/เดือน
  • สัปดาห์ที่ 28-36 ของการตั้งครรภ์ พบคุณหมอ 1 ครั้งก่อนคลอดในทุก 2 สัปดาห์
  • สัปดาห์ที่ 36-40 ของการตั้งครรภ์ พบคุณหมอ 1 ครั้งก่อนคลอดทุกสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม จำนวนครั้งในการเข้าพบคุณหมออาจเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพการตั้งครรภ์ของคุณแม่ หากคุณแม่มีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ คุณหมออาจจำเป็นต้องนัดหมายเพิ่มเติมเพื่อติดตามสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น

  • ตั้งครรภ์ในอายุ 35 ปีขึ้นไป เพราะทารกในครรภ์อาจมีโอกาสพิการแต่กำเนิด และอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคลูปัส โรคโลหิตจาง โรคอ้วน คุณหมอจะช่วยดูแลและจัดการโรคอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์หรือสุขภาพของทารกในครรภ์
  • ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด หากเคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด อาจมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด หรือเริ่มมีอาการคลอดก่อนกำหนด

ประโยชน์ของการฝากครรภ์

การฝากครรภ์มีประโยชน์อย่างมากทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ดังนี้

  • คุณหมอสามารถตรวจสุขภาพโดยรวมของคุณแม่และทารกในครรภ์ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้น
  • คุณหมอสามารถตรวจเพื่อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี  และให้การป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการติดต่อไปถึงทารกใครรภ์ได้
  • คุณหมอสามารถตรวจโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่ในขณะตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะคลอดก่อนกำหนด ภาวะแท้ง
  • คุณหมอสามารถตรวจคัดกรองโรคโลหิตจางแต่กำเนิดที่พบได้บ่อย เช่น โรคธาลัสซีเมีย
  • คุณหมอสามารถอัลตราซาวด์เพื่อติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์
  • คุณหมอสามารถตรวจคัดกรองก่อนคลอดเพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น ดาวน์ซินโดรม
  • คุณหมอสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การรับประทานวิตามินเสริม
  • คุณหมอสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับช่วงเวลาและช่องทางการคลอดที่เหมาะสมในคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละราย และตอบคำถามเกี่ยวกับข้อสงสัยต่าง ๆ ในระหว่างตั้งครรภ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How Often Do I Need Prenatal Visits?. https://www.webmd.com/baby/how-often-do-i-need-prenatal-visits. Accessed December 16, 2022

Thai guideline antenatal care (ANC) 2559. https://w1.med.cmu.ac.th/family/knowledge/for-doctor/guideline/2807. Accessed December 16, 2022

Antenatal care during your pregnancy. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/antenatal-care-during-your-pregnancy. Accessed December 16, 2022

Antenatal care.

https://data.unicef.org/topic/maternal-health/antenatal-care/. Accessed December 16, 2022

Your antenatal care. https://www.nhs.uk/pregnancy/your-pregnancy-care/your-antenatal-care/. Accessed December 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/02/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบํารุงมดลูก ก่อนตั้งครรภ์ และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

ปวดท้องหน่วงๆ ตั้งครรภ์อ่อนๆ เกิดจากอะไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา