backup og meta

โรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ ควรดูแลตัวเองอย่างไร

โรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ ควรดูแลตัวเองอย่างไร

โรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์แทบทุกคน และอาจเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ แต่โอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคเบาหวาน สามารถรักษาตามคำแนะนำและวิธีการของคุณหมอเพื่อให้ตนเองและลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพดีได้

[embed-health-tool-due-date]

โรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร

โดยทั่วไปคุณแม่ตั้งครรภ์ย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มากกว่าผู้หญิงปกติที่ไม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากเมื่อเริ่มมีการตั้งครรภ์ ร่างกายของเพศหญิงจะมีความสามารถในการตอบสนองต่ออินซูลินลดลง เพื่อให้ร่างกายมีน้ำตาลเพียงพอที่จะให้พลังงานในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษากับคุณหมอที่รับฝากครรภ์ หรือเข้ารับการตรวจสุขภาพตามใบนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังและคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • อายุ หากมีอายุ 35 ปีขึ้นไป อาจจะมีความเสี่ยงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • น้ำหนัก หากมีน้ำหนักเกิน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) มากกว่า 35 ขึ้นไป ก่อนตั้งครรภ์
  • ชาติพันธุ์ หากมีเชื้อสายแอฟริกา เชื้อสายเอเชีย เชื้อสายสเปน หรือเชื้อสายชนพื้นเมืองอเมริกัน
  • กรรมพันธุ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีกรรมพันธ์ุ ประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน ย่อมมีความเสี่ยงโรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์
  • มีภาวะก่อนเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงก่อนตั้งครรภ์
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เคยผ่านการเป็นเบาหวานมาก่อนในการตั้งครรภ์ครั้งแรก ย่อมมีความเสี่ยงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อีกเมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

การดูแลตัวเองเมื่อเป็น โรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์

แม้ว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถดูแลตนเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ตนเองและทารกในครรภ์มีสุขภาพดีได้ ด้วยการปฏิบัติตน ดังนี้

ควบคุมอาหาร

การควบคุมอาหาร เป็นวิธีการที่จะช่วยจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มสูงระหว่างตั้งครรภ์ได้ จำกัดปริมาณแคลอรี่โดยสอบถามจากคุณหมอถึงพลังงานและสารอาหารที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับในแต่ละวัน

เลือกรับประทานอาหาร

ควรเลือกรับประทานอาหารตามที่คุณหมอแนะนำ อาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีน้ำตาลน้อย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อยต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังควรงดของหวานและของกินเล่นจุบจิบ

หากไม่สามารถอดใจงดของหวานได้ คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรจะรับประทานของหวานอย่างระมัดระวัง ไม่รับประทานมากเกินไป หันมารับประทานน้ำตาลจากธรรมชาติ ที่ได้จากผักและผลไม้แทน เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอ ซึ่งผลไม้เหล่านี้ นอกจากมีรสหวานอร่อยถูกใจแล้ว ยังอุดมไปด้วยใยอาหารสำคัญอีกด้วย

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นตลอดเวลาช่วงที่ตั้งครรภ์ และหลังจากคลอดบุตร ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการว่ายน้ำ ต่างก็เป็นตัวเลือกที่ดีทั้งนั้น

การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายได้ใช้น้ำตาลโดยไม่ต้องการอินซูลินเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนที่จะเริ่มวางแผนการออกกำลังกาย เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับภาวะสุขภาพ

ใช้ยาหรืออินซูลิน

คุณหมอจะติดตามผลน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เพื่อพิจารณาว่าจะต้องให้ยาหรืออินซูลินหรือไม่ โดยปกติแล้วคุณหมอมักเลือกให้ใช้อินซูลินมากกว่ายารักษาโรคเบาหวานอื่น ๆ เนื่องจากมีความปลอดภัยต่อคุณแม่ตั้งครรภ์มากกว่า โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อินซูลินจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย

ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกวันอย่างเคร่งครัด

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 4-7 ครั้ง/วัน การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกวันนั้นนอกจากจะเป็นการติดตามผลการรักษาดูแลโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ว่ามีประสิทธิภาพมากแค่ไหนแล้ว ยังช่วยให้ทราบว่าควรปรับเปลี่ยนแผนการรักษา หรือเข้ารับการรักษาฉุกเฉินหรือไม่ หากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้นไม่ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการตรวจน้ำตาลที่บ้าน ควรใช้เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง

แม้ว่าหคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แต่สามารถดูแลตนเองเพื่อลดโอกาสเสี่ยงได้ตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น เพื่อสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพ ทั้งกับตัวคุณแม่และลูกน้อย หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาคุณหมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gestational Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/gestational-diabetes-guide/gestational-diabetes#2. Accessed May 10, 2022.

Gestational diabetes: Treatment & Perspective. https://www.diabetes.org/diabetes/gestational-diabetes/how-to-treat-gestational-diabetes. Accessed May 10, 2022.

Gestational diabetes. https://ghr.nlm.nih.gov/condition/gestational-diabetes?_ga=2.227719517.199930875.1567130510-604436350.1566191191#genes. Accessed May 10, 2022.

Gestational Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/gestational.html#:~:text=Gestational%20diabetes%20is%20a%20type,pregnancy%20and%20a%20healthy%20baby. Accessed October 11, 2022

Gestational diabetes. https://www.nhs.uk/conditions/gestational-diabetes/. Accessed October 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/10/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้หญิงเป็นเบาหวาน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รับมืออย่างไรได้บ้าง

คุณแม่ตั้งครรภ์กินน้ำตาลเยอะเกินไป ส่งผลอย่างไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา