เกล็ดเลือดต่ำ เป็นภาวะที่ร่างกายมีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และอาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า ฟกช้ำง่าย เลือดออกไม่หยุด เลือดออกจากเหงือกหรือจมูก หากไม่ทำการรักษาอาจทำให้เลือดออกภายในซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงต่อสุขภาพได้ จึงควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
เกล็ดเลือดต่ำ คืออะไร
เกล็ดเลือดต่ำ คือ ภาวะที่ร่างกายมีจำนวเกล็ดเลือดต่ำกว่า 150,000 เกล็ดเลือด/ไมโครลิตร ซึ่งจำนวนเกล็ดเลือดปกติในผู้ใหญ่คือ 150,000-450,000 เกล็ดเลือด/ไมโครลิตร จำนวนเกล็ดเลือดที่ลดลงอาจเกิดจากความผิดปกติของไขกระดูกที่ไม่สามารถผลิตเกล็ดเลือดได้เป็นปกติ หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ซึ่งภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง
บางกรณีอาจทำให้เลือดออกภายในซึ่งเป็นอันตรายได้เช่นกัน โดยเลือดออกภายในเป็นภาวะร้ายแรงและอาจเกิดขึ้นได้ หากจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่า 10,000 หรือ 20,000 เกล็ดเลือด/ไมโครลิตร
อาการ
อาการเกล็ดเลือดต่ำ
อาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีดังนี้
- มีอาการเหนื่อยล้า
- มีเลือดออกในผิวหนังจุดสีม่วง สีแดง มักเกิดขึ้นที่ขาส่วนล่าง
- ผิวหนังมีอาการช้ำง่าย
- เลือดออกไม่หยุดหรือเป็นเวลานานเมื่อเกิดบาดแผล
- มีเลือดออกจากเหงือกหรือจมูก
- มีเลือดออกเมื่อปัสสาวะหรืออุจจาระ
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- ม้ามโต
หากมีอาการเลือดออกไม่หยุดหรือเลือดออกมากเกินไปควรรีบพบคุณหมอทันทีเพื่อทำการรักษา
สาเหตุ
สาเหตุเกล็ดเลือดต่ำ
เกล็ดเลือดต่ำ ส่วนใหญ่ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพหรือการใช้ยาบางชนิด หรืออาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้
- การผลิตเกล็ดเลือดลดลง อาจมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตเกล็ดลดลงลง เช่น โรคโลหิตจาง การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบซีหรือเอชไอวี มะเร็งเม็ดเลือดขาว การฉายรังสีหรือเคมีบำบัด การดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
- การสลายเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น ภาวะสุขภาพร่างกายอาจส่งผลต่อการสลายเกล็ดเลือดอย่างรวดเร็วทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ได้แก่
- การตั้งครรภ์ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจเกิดขึ้นได้แต่ไม่เป็นอันตรายรุนแรง และหลังจากคลอดปริมาณเกล็ดเลือดจะกลับมาเป็นปกติ
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเกล็ดเลือดเหมือนต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งมักเกิดขึ้นในเด็ก เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัส
- การติดเชื้อแบคทีเรียในเลือดสามารถทำลายเกล็ดเลือดได้
- โรค TTP หรือ Thrombotic Thrombocytopenic Purpura เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เส้นเลือดอุตัน มักเกิดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic Uremic) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ยาก ส่งผลให้เกล็ดเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว
- ยาบางชนิดอาจลดจำนวนเกล็ดเลือด เช่น เฮปาริน (Heparin) ควินิน (Quinine) และยากันชัก
- ม้ามดักจับเกล็ดเลือดมากเกินไป โดยปกติม้ามมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค กรองสารบางชนิดออกจากเลือด เมื่อม้ามโตอย่างผิดปกติซึ่งอาจเกิดจากไขกระดูกผิดปกติ โรคมะเร็ง หรือโรคตับ ส่งผลให้ม้ามดักจับเกล็ดเลือดมากขึ้นทำให้จำนวนเกล็ดเลือดที่ไหลเวียนในเลือดลดลง
- สารเคมีที่เป็นพิษ การสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง สารหนู อาจส่งผลทำให้การผลิตเกล็ดเลือดช้าลง
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงเกล็ดเลือดต่ำ
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีดังนี้
- สัมผัสกับสารเคมีหรือสารพิษบางชนิด
- การรับประทานยาบางชนิด
- การติดเชื้อไวรัส
- ภาวะทางพันธุกรรม
- มะเร็งบางชนิด
- โรคภูมิต้านตนเอง
- โรคโลหิตจางชนิดอะพลาสติก (Aplastic Anemia) เป็นภาวะที่ร่างกายหยุดผลิตเซลล์เม็ดเลือด อาจทำให้มีอาการเหนื่อยล้า หรือเลือดออกไม่หยุด
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเกล็ดเลือดต่ำ
การวินิจฉัยภาวะเกล็ดเลือดต่ำสามารถทำได้ ดังนี้
- ตรวจร่างกายเพื่อดูขนาดของม้ามและตรวจหาสัญญาณเลือดออกบนร่างกาย
- การทดสอบระดับเกล็ดเลือด เช่น การนับเม็ดเลือดที่สมบูรณ์ (Complete Blood Count หรือ CBC) การตรวจฟิล์มเลือด (Blood Smear) การทดสอบไขกระดูก
การรักษาเกล็ดเลือดต่ำ
การรักษาเกล็ดเลือดต่ำหากมีจำนวนเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่สำหรับบางกรณีที่เกล็ดเลือดต่ำส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย คุณหมออาจต้องทำการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำโดยตรง คือ โรคเกล็ดเลือดต่ำ (Immune Thrombocytopenic Purpura หรือ ITP) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือดตัวเองเช่นเดียวกับทำลายเชื้อโรค คุณหมออาจต้องรักษาด้วยวิธี ดังนี้
- ยารับประทานคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) จะทำให้เกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์หลังการรักษา อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ปัญหาการนอนหลับ สิว ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- รักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ (Immune Globulin) หรือ IVIG สามารถเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือดได้อย่างรวดเร็ว แต่อาจเพิ่มเพียงชั่วคราวเท่านั้น และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ หนาวสั่น
- การผ่าตัดเอาม้ามออก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำลายเกล็ดเลือด แต่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรคและเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- ยาริตูซิแมบ (Rituximab) คุณหมออาจให้ยาชนิดนี้หากผ่าตัดม้ามแล้วแต่เกล็ดเลือดยังต่ำอยู่ อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ปวดหัว
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการเกล็ดเลือดต่ำ
การดูแลตัวเองอาจไม่สามารถป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ แต่สามารถป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากเกล็ดเลือดต่ำ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารให้ความหวานอย่างควินิน (Quinine) และแอสพาเทม (Aspartame) เพราะอาจทำให้สารเคมีตกค้างในร่างกาย ส่งผลต่อการผลิตเกล็ดเลือด
- ป้องกันการบาดเจ็บที่ทำให้เลือดออกหากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เพราะอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุดและไม่แข็งตัว
- หลีกเลี่ยงการกินยาที่ลดจำนวนเกล็ดเลือดหรืออาจทำให้เลือดออกง่าย เช่น แอสไพรินและไอบูโพรเฟน
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้การผลิตเกล็ดเลือดช้าลง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง สารหนู เพราะอาจทำให้การผลิตเกล็ดเลือดช้าลง