backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เม็ดเลือดขาวต่ำ อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 09/10/2023

เม็ดเลือดขาวต่ำ อาการ สาเหตุ การรักษา

เม็ดเลือดขาวต่ำ คือ ภาวะที่ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวมีจำนวนลดลงผิดปกติ หากจำนวนเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 4,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร อาจเป็นสัญญาณของเม็ดเลือดขาวต่ำ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นตัวบ่งชี้สุขภาพร่างกายและเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ เช่น ภาวะขาดวิตามิน โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  รวมถึงผลข้างเคียงของการรักษามะเร็ง

คำจำกัดความ

เม็ดเลือดขาวต่ำ คืออะไร 

เม็ดเลือดขาว ถูกสร้างขึ้นภายในไขกระดูก เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันที่มีหน้าที่คอยปกป้องร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อ และสิ่งแปลกปลอม ค่าปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว คือ 4,500-10,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร โดยในแต่ละวันร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวประมาณ 1 แสนล้านเซลล์

เม็ดเลือดขาวต่ำ คือ ภาวะที่ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวมีจำนวนลดลงผิดปกติ น้อยกว่า 4,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร โดยเม็ดเลือดขาวสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (Neutrophil) ประกอบด้วย 55-70% ของเม็ดเลือดขาว เป็นชนิดที่มีมากที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ต่อสู้การติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย 
  • เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่พบรองเป็นอันดับ 2 ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายในการติดเชื้อไวรัส 
  • เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงซ่อมแซมภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกาย 
  • เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophil) ทำหน้าที่ในการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เช่น โรคหอบหืด 
  • เม็ดเลือดขาวชนิดบาโซฟิล (Basophil) ชนิดเม็ดเลือดขาวที่มีปริมาณน้อย ทำหน้าที่สร้างสารป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว รวมถึงช่วยป้องกันและรักษาการติดเชื้อจากบาดแผล

เม็ดเลือดขาวต่ำ พบได้บ่อยแค่ไหน 

ปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำ โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลด์ อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งเม็ดเลือดขาวต่ำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยค่าปกติของเม็ดเลือดขาวมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปตามอายุ

อาการ

อาการของเม็ดเลือดขาวต่ำ 

ผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำอาจไม่แสดงอาการ แต่หากพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำมากกว่าปกติที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจมีอาการร่วมดังต่อไปนี้

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น 
  • ไอ และหายใจลำบาก 
  • มีแผลในปาก 
  • การติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะบ่อยขึ้น

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการควรปรึกษาคุณหมอ 

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด 

การตรวจพบจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากคุณหมอมีการตรวจทดสอบวินิจฉัยจากการตรวจเลือด ถึงจะทราบผลค่าทดสอบของเม็ดเลือดขาว หากทราบว่าเม็ดเลือดขาวต่ำ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์

สาเหตุ

สาเหตุของเม็ดเลือดขาวต่ำ 

เม็ดเลือดขาวต่ำอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

  • ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคคอสแมนน์ (Kostmann’s Syndrome) ร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลได้น้อย โรคไมโลคาเธซิส (Myelokathexis) เกิดความผิดปกติในไขกระดูก ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำเรื้อรัง
  • ภาวะขาดสารอาหาร การขาดวิตามินหรือสารอาหารต่าง ๆ  เช่น วิตามินบี 12 ทองแดง สังกะสี โฟเลต อาจทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น ไขหวัดใหญ่ อาจทำให้ไปรบกวนการทำงานของไขกระดูกที่ผลิตเม็ดเลือดขาวชั่วคราว 
  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคลูปัส (Lupus) ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติที่ร่างกายโจมตีตัวเอง 
  • โรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) วัณโรค อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เนื่องจากร่างกายอาจอ่อนแอที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย 
  • โรคมะเร็ง เช่น ลูคีเมีย รวมถึงการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด อาจทำลายไขกระดูกและทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง 
  • ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของเม็ดเลือดขาวต่ำ

    หากเม็ดเลือดขาวต่ำอาจส่งผลกระทบต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ เพราะเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ในการช่วยต่อสู้ และป้องกันกับเชื้อไวรัส แบคทีเรียที่เข้ามาภายในร่างกาย ซึ่งทุกคนอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ โดยเฉพาะบุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) อาจเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วไป  

    การวินิจฉัยและการรักษา

    การวินิจฉัยและการรักษาเม็ดเลือดขาวต่ำ 

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม 

    การวินิจฉัยเม็ดเลือดขาวต่ำ 

    เม็ดเลือดขาวต่ำมักไม่ค่อยแสดงอาการ ดังนั้น การวินิจฉัยจำเป็นต้องตรวจเลือด เป็นการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์จากตัวอย่างเลือดด้วยวิธีตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาว

    การรักษาเม็ดเลือดขาวต่ำ 

    การรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ วิธีการรักษาอาจมีดังต่อไปนี้ 

  • การใช้ยา เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มกระตุ้นจำนวนเม็ดเลือดขาว หรือต่อสู้กับการติดเชื้อที่ทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • หยุดการรักษาบางอย่างที่เป็นสาเหตุของภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เช่น เคมีบำบัด เพื่อให้ร่างกายมีเวลาในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดมากขึ้น เนื่องจากจำนวนเซลล์เม็ดเลือดอาจเพิ่มขึ้นได้เองตามธรรมชาติ
  • การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    เพื่อลดโอกาสในการเกิดภาวะจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ แม้อาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่อาจสามารถปฏิบัติได้ดังต่อไปนี้ 

    • ฝึกสุขอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือหลังใช้ห้องน้ำ ก่อนทำอาหาร หรือล้างมืออย่างสม่ำเสมอ 
    • รับประทานอาหารที่สุกสะอาดผ่านความร้อน เพื่อเป็นการการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว ปลาทู นมวัวไขมันต่ำ 
    • พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากร่างกายมีการฟื้นฟู และซ่อมแซมในช่วงเวลาที่พักผ่อน 
    • หลีกเลี่ยงกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น บุคคลที่เป็นหวัด เป็นไข้ ไอ จาม รวมถึงหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด 
    • หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า มีดโกนหนวด รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหาร ช้อน ส้อม แก้วน้ำ 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 09/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา