backup og meta

ลิ่มเลือดอุดตัน เลือดคั่งหลังผ่าตัด ผลข้างเคียงจากการศัลยกรรมที่ป้องกันได้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 22/01/2021

    ลิ่มเลือดอุดตัน เลือดคั่งหลังผ่าตัด ผลข้างเคียงจากการศัลยกรรมที่ป้องกันได้

    การผ่าตัดทุกชนิดย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อน และหนึ่งในอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของการผ่าตัดก็คือ การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือ เลือดคั่งหลังผ่าตัด ที่ในบางกรณี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ วันนี้มารู้เรื่องนี้กับกับ Hello คุณหมอ

    เลือดคั่งหลังผ่าตัด… ภาวะอันตราย

    การสร้างลิ่มเลือด (Blood clot formation) หรือการแข็งตัวของเลือด (Blood coagulation) คือกระบวนการทำให้เลือดกลายเป็นลิ่มเลือด ซึ่งเป็นกลไกการห้ามเลือดตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น เมื่อเราโดนมีดบาดนิ้วจนเลือดออก ร่างกายก็จะสร้างลิ่มเลือดขึ้นในบริเวณรอยมีดบาด เพื่อห้ามเลือด ช่วยรักษาแผล และช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายต้องเสียเลือดมากเกินไป

    ลิ่มเลือดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนในร่างกาย หากเป็นลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นเมื่อเรามีแผล ส่วนใหญ่จะอยู่บนผิวหนัง หรือที่เรียกว่าสะเก็ดแผล เมื่อแผลหาย สะเก็ดแผลหรือลิ่มเลือดก็จะหลุดออกไปได้เอง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่ในบางกรณี เช่น ขณะผ่าตัด หรือหลังผ่าตัด ก็อาจมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ และหากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นไหลไปตามหลอดเลือด เข้าไปยังปอด ก็อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ที่เรียกว่า โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism) ทำให้หายใจเหนื่อยหอบเฉียบพลัน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือหากลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ก็เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตเช่นกัน

    อาการของเลือดคั่งหลังผ่าตัดที่ควรรู้

    อาการของเลือดคั่งหลังผ่าตัดนั้นจะแตกต่างกันไป ตามบริเวณที่เกิดเลือดคั่ง ซึ่งคุณสามารถสังเกตเบื้องต้นได้ดังนี้

    • หัวใจ : รู้สึกเจ็บหน้าอก มือชา แขนชา รู้สึกไม่สบายบริเวณร่างกายท่อนบน หายใจไม่อิ่ม เหงื่อออก คลื่นไส้ วิงเวียน
    • ปอด : เจ็บแปลบบริเวณหน้าอก หายใจรัวหรือหายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม เหงื่อออก มีไข้ ไอเป็นเลือด
    • สมอง : แขน ขา หรือใบหน้าอ่อนแรง พูดลำบาก มีปัญหาในการมองเห็น ปวดศีรษะรุนแรงและเฉียบพลัน เวียนศีรษะ
    • แขน หรือขา : เจ็บปวดแขนขาแบบเฉียบพลัน หรือค่อย ๆ ปวด มีอาการบวม อาการกดเจ็บ หรือรู้สึกอุ่น ๆ บริเวณแขนขา
    • หน้าท้อง : ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ท้องเดิน

    หากคุณสงสัยว่ามีเลือดคั่งหลังผ่าตัด ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที แพทย์จะได้หาวิธีรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับคุณได้โดยเร็วที่สุด

    ปัจจัยเสี่ยงเลือดคั่งหลังผ่าตัด

    การเกิดเลือดคั่งในระหว่างผ่าตัด หรือหลังผ่าตัด ถือเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป สาเหตุหลักของภาวะนี้ก็คือ การนอนนิ่ง ๆ อยู่บนเตียงผ่าตัดเป็นเวลานาน บวกกับหลังผ่าตัดเสร็จ คนส่วนใหญ่มักจะนอนอยู่บนเตียงพักฟื้นเฉย ๆ เนื่องจากเจ็บแผลผ่าตัด ทำให้ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวเท่าที่ควร จึงยิ่งเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือมีเลือดคั่งหลังผ่าตัดมากขึ้น

    นอกจากนี้ การผ่าตัดบางประเภทยังอาจเสี่ยงเกิดเลือดคั่งหลังผ่าตัดได้มากกว่าการผ่าตัดชนิดอื่น เช่น การผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดแดง เนื่องจากร่างกายจะสร้างลิ่มเลือดขึ้นมาเพื่อห้ามเลือด หรือหากคุณเข้ารับการผ่าตัดที่ทำให้หัวใจหยุดเต้น อย่างการผ่าตัดทําทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass graft หรือ CABG)  ก็ทำให้เสี่ยงเกิดเลือดคั่งหลังผ่าตัดได้เช่นกัน

    และไม่ใช่แค่นั้น เพราะสภาวะโรค หรือไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้ ก็ทำให้เสี่ยงเกิดลิ่มเลือดหลังผ่าตัดได้

    • มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)
    • กำลังตั้งครรภ์
    • เป็นโรคมะเร็งบางชนิด
    • เคยเกิดลิ่มเลือดอุดตันมาก่อน
    • คนในครอบครัวมีประวัติลิ่มเลือดอุดตัน
    • กำลังเข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy หรือ HRT)
    • สูบบุหรี่
    • เป็นโรคอ้วน
    • ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน
    • เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว
    • มีภาวะขาดน้ำ

    ไม่อยากให้ลิ่มเลือดอุดตันหลังผ่าตัด เราป้องกันได้

    แพทย์อาจให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) เพื่อป้องกันไม่ให้เลืองคั่งหลังผ่าตัด หรือใช้อุปกรณ์เพิ่มแรงบีบจากภายนอก เช่น การใช้เครื่องบีบไล่เลือดเป็นจังหวะ การใส่ถุงน่อง การพันผ้ายืด เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้เป็นปกติ แต่นอกจากวิธีของแพทย์แล้ว คุณเองก็สามารถป้องกันเลือดคั่งหลังผ่าตัดได้ง่าย ๆ ด้วยการลุกจากเตียงพักฟื้น แล้วเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง อย่าเอาแต่นอนนิ่ง ๆ และต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายชุ่มชื้น เลือดจะได้ไม่อุดตัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 22/01/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา