backup og meta

เลือดเป็นกรด (Acidosis) สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการ วิธีรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    เลือดเป็นกรด (Acidosis) สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการ วิธีรักษา

    เลือดเป็นกรด (Acidosis) คือ ภาวะที่เกิดจากร่างกายมีกรดสะสมในเลือดมากเกินไปและมีระดับด่างหรือเบสน้อย จนร่างกายเสียสมดุล ภาวะนี้อาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ เลือดเป็นกรดจากกระบวนการเผาผลาญ ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อาจหายใจเร็วและลึกกว่าปกติ และเลือดเป็นกรดจากระบบทางเดินหายใจ มักทำให้มีอาการปวดศีรษะ สับสนมึนงง หายใจไม่อิ่ม หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นหมดสติ ช็อก และเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปคุณหมอจะรักษาเลือดเป็นกรดจากสาเหตุเป็นหลัก ภาวะนี้จัดเป็นภาวะอันตราย หากมีอาการที่สงสัยว่าเกิดจากเลือดเป็นกรด ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

    เลือดเป็นกรด คืออะไร

    เลือดเป็นกรด เกิดจากร่างกายมีระดับกรดในกระแสเลือดมากเกินไป หรือเมื่อร่างกายสูญเสียไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) หรือด่างในปริมาณมาก จนทำให้ภาวะกรด-ด่างเสียสมดุล โดยทั่วไป ค่าความเป็นกรด-ด่างหรือค่า pH ในร่างกายจะแสดงเป็นสเกล 0-14 ตามปกติเลือดจะมีค่า pH อยู่ระหว่าง 7.35-7.45 และร่างกายจะรักษาค่า pH ของเลือดให้ใกล้เคียง 7.40 แต่หากค่า pH ของเลือดต่ำกว่า 7.35 แสดงว่าร่างกายมีกรดมากเกินไปจนระดับความเป็นกรด-ด่างเสียสมดุล และอยู่ในภาวะเลือดเป็นกรด

    เมื่อเลือดเป็นกรด สมองส่วนที่ควบคุมการหายใจจะกระตุ้นให้ร่างกายหายใจเร็วและลึกขึ้น เพื่อให้ขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางการหายใจออกได้มากที่สุด และปรับให้ค่า pH ของเลือดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะเดียวกันไตก็ต้องทำงานหนักเพื่อขับกรดออกทางปัสสาวะให้มากขึ้นด้วย แต่หากร่างกายยังคงผลิตกรดมากเกินไปอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ระบบร่างกายไม่สามารถขับกรดออกได้ทันท่วงที จนนำไปสู่ภาวะเลือดเป็นกรดอย่างรุนแรง ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และอาจทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะโคม่าหรือเกิดภาวะช็อกได้

    สาเหตุของ เลือดเป็นกรด

    สาเหตุของเลือดเป็นกรด อาจแบ่งได้ดังนี้

    เลือดเป็นกรดจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolic Acidosis)

    เกิดจากร่างกายผลิตกรดมากเกินไป หรืออาจเกิดจากไตไม่สามารถกำจัดกรดส่วนเกินได้ จึงมีกรดสะสมอยู่ในกระแสเลือด เลือดเป็นกรดจากกระบวนการเผาผลาญเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากโรคเบาหวาน (Diabetic acidosis หรือ Diabetic ketoacidosis, DKA) หรือเรียกว่า ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรด เกิดจากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลินที่ช่วยลำเลียงน้ำตาลในกระแสเลือดไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่าง ๆ ร่างกายจึงย่อยสลายกล้ามเนื้อไปใช้เป็นพลังงานแทนการใช้พลังงานจากน้ำตาล กระบวนการนี้ทำให้เกิดสารที่เรียกว่าคีโตน (Ketone) และทำให้เลือดเป็นกรด มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายได้เป็นเวลานาน
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกในเลือดสูง (Lactic acidosis) เกิดจากมีกรดแลคติกปริมาณมากสะสมอยู่ในเลือด อาจมีสาเหตุมาจากโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคตับวาย ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ความดันโลหิตลดต่ำมาก ภาวะพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide poisoning) การออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานาน อาการชัก ภาวะขาดออกซิเจนเป็นเวลานานจากภาวะช็อก หัวใจล้มเหลว หรือโลหิตจางรุนแรง การใช้ยาบางชนิดอย่างซาลิไซเลต (Salicylates) เมตฟอร์มิน (Metformin) ยาต้านรีโทรไวรัส (Anti-retrovirals)
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากหลอดไตฝอย (Renal tubular acidosis) เกิดจากกระบวนการกำจัดกรดของหลอดไตผิดปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับกรดส่วนเกินออกทางปัสสาวะได้หมด และส่งผลให้มีกรดสะสมอยู่ในกระแสเลือด อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โรคไต เป็นต้น
  • ภาวะเลือดเป็นกรดร่วมกับคลอไรด์ในเลือดสูง (Hyperchloremic Acidosis) เกิดจากร่างกายสูญเสียโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) มากเกินไปพร้อมกับมีไอออนิกคลอไรด์ (Ionic chloride) เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีสาเหตุจากอาการท้องเสียรุนแรงจนร่างกายสูญเสียของเหลวในปริมาณมาก
  • เลือดเป็นกรดจากระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Acidosis)

    เกิดขึ้นเมื่อปอดไม่สามารถกำจัดของเสียอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ด้วยการหายใจออก ทำให้มีก๊าซสะสมอยู่ภายในร่างกาย ส่งผลให้เลือดและของเหลวในร่างกายมีสภาพเป็นกรดมากเกินไป อาจเกิดจากอัตราการหายใจที่ลดลงจนทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ การใช้ยาที่กดการหายใจ เช่น ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) (โดยเฉพาะเมื่อใช้ยา 2 ชนิดนี้ร่วมกันหรือใช้ยาร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) หรืออาจเกิดจากภาวะสุขภาพบางประการ เช่น  โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD) โรคพังผืดที่ปอด (Pulmonary Fibrosis) โรคปอดบวม ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) โรคอ้วนที่ทำให้หายใจไม่อิ่ม (Obesity-hypoventilation syndrome)

    อาการของเลือดเป็นกรด

    อาการของเลือดเป็นกรด อาจแบ่งตามสาเหตุได้ดังนี้

    อาการของเลือดเป็นกรดจากกระบวนการเผาผลาญ

    • ปวดศีรษะ
    • หายใจเร็ว
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • สับสน มึนงง
    • รู้สึกอ่อนแรง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
    • ไม่อยากอาหาร
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ลมหายใจมีกลิ่นหวานเหมือนผลไม้ ในกรณีที่มีภาวะเลือดเป็นกรดจากโรคเบาหวาน

    อาการของเลือดเป็นกรดจากระบบทางเดินหายใจ

    • ปวดศีรษะ
    • สับสน
    • วิตกกังวล กระวนกระวาย
    • อ่อนเพลียง่าย
    • ง่วงนอน เซื่องซึม
    • หายใจไม่อิ่ม
    • ตัวสั่น
    • เหงื่อออกมาก
    • ตัวอุ่นและผิวแดง
    • มีปัญหาด้านความจำ
    • เอ็นกล้ามเนื้อมีปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง
    • กล้ามเนื้อกระตุก

    เลือดเป็นกรด ภาวะ แทรกซ้อน มีอะไรบ้าง

    เลือดเป็นกรด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ ซึ่งอาจยิ่งรุนแรงขึ้น หากไม่สามารถควบคุมโรคที่ทำให้เลือดเป็นกรดได้

    • อวัยวะสำคัญล้มเหลว เช่น ระบบหายใจ
    • ไตเสียหายรุนแรง
    • มีภาวะโคม่า
    • อาการช็อก
    • ความดันในกะโหลกศีรษะสูง

    การรักษาเลือดเป็นกรด

    การรักษาเลือดเป็นกรด อาจทำได้ดังนี้

    • เลือดเป็นกรดจากกระบวนการเผาผลาญ การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก เช่น หากเป็นโรคเบาหวานอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการให้อินซูลินหรือน้ำเกลือทางหลอดเลือดในปริมาณที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ หากเลือดเป็นกรดจากสารพิษอาจต้องรักษาด้วยการขจัดสารพิษออกจากเลือด หรือในกรณีอื่น ๆ อาจให้น้ำเกลือ ออกซิเจน ยาปฏิชีวนะ โซเดียมไบคาร์บอเนต ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ
    • เลือดเป็นกรดจากระบบทางเดินหายใจ การรักษามีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการทำงานของปอดให้ใกล้เคียงปกติที่สุด เช่น การให้ยาที่เปิดทางเดินหายใจหรือขยายหลอดลมอย่างอัลบูเทอรอล (Albuterol) อาจช่วยให้ปอดของผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทำงานได้ดีขึ้น ในกรณีของผู้ที่มีปัญหาหายใจด้วยตัวเองไม่ได้อาจใช้เครื่องช่วยหายใจ ในกรณีที่เลือดเป็นกรดจากการใช้ยาอาจบรรเทาอาการด้วยการใช้สารแก้พิษ (Antidotes) และในกรณีที่ร่างกายสูญเสียโซเดียมไบคาร์บอเนตจากการท้องเสีย อาจบรรเทาอาการด้วยการให้ไบคาร์บอเนตทางหลอดเลือดดำ วิธีนี้ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังเนื่องจากอาจทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมและน้ำมากเกินไป

    เลือดเป็นกรด ป้องกันได้หรือไม่

    เลือดเป็นกรดไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเลือดเป็นกรดได้

    • งดสูบบุหรี่ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคปอดบวม โรคปอดบวมน้ำหรือน้ำท่วมปอด (Pulmonary Edema) โรคมะเร็งปอด หากโรคเหล่านี้อยู่ในระยะรุนแรง อาจนำไปสู่การเกิดภาวะเลือดเป็นกรดในระบบทางเดินหายใจได้ และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่ด้วย เนื่องจากอาจได้รับควันบุหรี่มือสองที่เป็นอันตรายต่อร่างกายไม่แพ้กับการสูบบุหรี่ด้วยตัวเอง
    • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดในระบบทางเดินหายใจจากโรคอ้วนที่ทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในตอนตื่นหลังจากหายใจไม่เต็มอิ่มในเวลากลางคืน
    • ใช้ยา เช่น ยาในกลุ่มระงับประสาทอย่างซาลิไซเลต (Salicylate) ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเมทฟอร์มิน (Metformin) ยารักษาโรคเอดส์อย่างยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral drugs หรือเรียกย่อว่า ARV) ในปริมาณที่เหมาะสม ปฏิบัติตามคำสั่งคุณหมออย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome หรือ OSAS) อาจต้องรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์ซีพีเอพี (CPAP) ทั้งนี้ ควรศึกษาวิธีใช้อุปกรณ์อย่างละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถหายใจรับออกซิเจนได้อย่างเพียงพอขณะนอนหลับ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา