backup og meta

โรคอ้วน สาเหตุ เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/07/2022

    โรคอ้วน สาเหตุ เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไร

    โรคอ้วน สาเหตุ หลักมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลสูง การไม่ค่อยขยับร่างกายหรือออกกำลังกาย มักนั่งหรือนอนอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายสะสมพลังงานหรือแคลอรี่เอาไว้ในปริมาณมากและเผาผลาญไม่ทัน จนมีไขมันสะสมและทำให้เกิดโรคอ้วน อย่างไรก็ตาม โรคอ้วนสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

    โรคอ้วน คืออะไร

    โรคอ้วน (Obesity) คือ โรคที่เกิดจากการมีไขมันปริมาณมากสะสมอยู่ในร่างกาย และร่างกายไม่สามารถเผาผลาญไขมันได้ทั้งหมด ไขมันจึงไปสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งบางชนิด โรคข้อเข่าเสื่อม โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)

    การตรวจสอบว่าเป็นโรคอ้วนหรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้หรือไม่ ในเบื้องต้นอาจทำได้โดยการวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานความสมดุลของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูง มีวิธีคำนวณ คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง

    การแปลผลค่าดัชนีมวลกาย โดยทั่วไป มีดังนี้

    • ค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5 แปลว่า มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์
    • ค่าดัชนีมวลกาย 18.5-22.9 แปลว่า มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • ค่าดัชนีมวลกาย 23-24.9 แปลว่า มีน้ำหนักเกินเกณฑ์
    • ค่าดัชนีมวลกาย 25-29.9 แปลว่า เป็นโรคอ้วนระดับที่ 1
    • ค่าดัชนีมวลกาย 30 ขึ้นไป แปลว่า เป็นโรคอ้วนระดับที่ 2

    ตัวอย่างการคำนวณดัชนีมวลกายของผู้หญิงน้ำหนัก 65 กิโลกรัม ส่วนสูง 165 เซนติเมตร (1.65 เมตร) สามารถทำได้ดังนี้

    ดัชนีมวลกาย (BMI) = 65 ÷ (1.60 x 1.60)

    ดัชนีมวลกาย (BMI) = 65 ÷ 2.72

    ดัชนีมวลกาย (BMI) = 23.89

    ดัชนีมวลกายเท่ากับ 23.89 ถือว่า มีน้ำหนักเกินเกณฑ์

    ทั้งนี้ ผลค่าดัชนีมวลกายอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น เป็นผู้ป่วยโรคไตหรือโรคตับ เป็นนักกีฬาที่มีมวลกล้ามเนื้อเยอะ

    โรคอ้วน สาเหตุ เกิดจากอะไร

    โรคอ้วนเกิดจากร่างกายสะสมแคลอรี่ไว้มากกว่าปกติ โดยทั่วไปร่างกายจะได้รับแคลอรี่และสารอาหารจากการรับประทานอาหาร แคลอรี่ที่ได้รับจะถูกนำมาใช้เป็นพลังงานให้กับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่หากรับประทานอาหารมากเกินความจำเป็นของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูปอย่างแฮม เบคอน หนังและไขมันสัตว์อย่างหนังไก่ทอด หมูกรอบ อาหารทอดอย่างเฟรนช์ฟรายส์ ปีกไก่ทอด อาหารที่มีคอเลสตอรอลสูงอย่างไข่หมึกทอด ขนมขบเคี้ยว ชาบูปิ้งย่าง ชานมไข่มุก แล้วไม่ค่อยเผาผลาญพลังงานด้วยการออกกำลังกายและทำกิจกรรมทางกาย หรือมักไม่ขยับตัว นั่งทำงานหรือดูโทรทัศน์ที่เดิมเป็นเวลาหลายชั่วโมง พลังงานส่วนเกินเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันและสะสมอยู่ทั่วทุกส่วนของร่างกาย ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเกิดเป็นโรคอ้วนซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้

    โรคอ้วนนอกจากจะเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารแล้ว ก็อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ได้เช่นกัน

    • กระบวนการเมแทบอลิซึม กระบวนการเมแทบอลิซึม (Metabolism) คือ กระบวนการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานให้เซลล์ในร่างกาย แต่ละคนจะมีระดับการเผาผลาญไม่เท่ากัน ผู้ที่เผาผลาญแคลอรี่ได้น้อยจะเสี่ยงมีแคลอรี่ส่วนเกินสะสมอยู่ในร่างกายได้มากกว่า
    • การออกกำลังกาย หากไม่ค่อยออกกำลังกายและขยับร่างกายน้อย เช่น นั่งดูโทรทัศน์นานหลายชั่วโมงต่อวัน นั่งทำงานทั้งวันโดยไม่ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย จะทำให้ร่างกายไม่ได้เผาผลาญไขมัน จึงมีไขมันสะสมพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเสี่ยงเกิดโรคอ้วนได้
    • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น กระบวนการเมแทบอลิซึมจะทำงานได้ช้าลง และสูญเสียมวลกล้ามเนื้อง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้น้อยลง และควบคุมไขมันส่วนเกินได้ยากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้
    • คุณภาพการนอนหลับ การนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเลปติน (Leptin) และเกรลิน (Ghrelin) ที่ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหารและการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้รู้สึกหิวจนต้องรับประทานอาหารในตอนกลางวันมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคอ้วนได้
    • ความเครียด เมื่อเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ในปริมาณมากเพื่อรับมือกับความเครียด ซึ่งจะไปกระตุ้นให้อยากอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีน้ำตาล และอาหารรสเค็มจัด หากรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมาก ก็อาจทำให้เกิดไขมันสะสมที่หน้าท้อง และเป็นโรคอ้วนลงพุงได้
    • พันธุกรรม พันธุกรรมมีส่วนในการกำหนดปริมาณไขมันที่สะสมภายในร่างกาย รวมไปถึงประสิทธิภาพการเผาผลาญพลังงาน นอกจากนี้ วิธีการเลี้ยงดูของที่บ้านก็อาจส่งผลให้เป็นโรคอ้วนตั้งแต่เด็กได้

    โรคอ้วนกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

    ผลกระทบของโรคอ้วนต่อสุขภาพ อาจมีดังนี้

  • ระดับความดันโลหิตสูง เมื่อเป็นโรคอ้วน ระดับฮอร์โมนภายในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง ทำให้การหดตัวและคลายตัวของเส้นเลือดผิดปกติ ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตสูง
  • ระดับคอเลสเตอรอลสูง เกิดจากร่างกายได้รับพลังงานจากอาหารที่รับประทานมากเกินไปและเผาผลาญได้ไม่หมด ไขมันจึงตกค้างอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมไปถึงในกระแสเลือด ส่งผลให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วนทำให้มีปริมาณกรดไขมันมากขึ้นและเกิดภาวะอักเสบภายในร่างกาย ทั้งยังส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ซึ่งเป็นภาวะที่ตับอ่อนหลั่งอินซูลินที่ต้องใช้ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ไม่เพียงพอ จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และอาจเกิดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • ปัญหาบริเวณข้อต่อที่เกิดจากน้ำหนักเกิน เมื่อข้อต่อต้องรองรับน้ำหนักมากเกินไปเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดแรงกดทับบริเวณกระดูกข้อต่อและเกิดภาวะอักเสบ ที่อาจทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้
  • โรคนิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากคอเลสเตอรอลปริมาณมากเข้าไปสะสมอยู่ในถุงน้ำดี จนเกิดเป็นตะกอนสะสมและกลายเป็นนิ่วภายในถุงน้ำดี ซึ่งหากติดเชื้อ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ปัญหาการนอนหลับ ผู้มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน อาจมีเนื้อเยื่ออ่อนในทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นและไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการนอนหลับได้ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ
  • วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคอ้วน

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนได้

    การป้องกันโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่น

    • ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนในครอบครัวให้ดีต่อสุขภาพ เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ในอาหารแต่ละมื้อให้มากขึ้น จัดปริมาณอาหารให้เหมาะสม ตักอาหารแต่ละมื้อให้เด็กรับประทานได้พออิ่ม อย่าให้เด็กรับประทานมากเกินไป เพื่อไม่ให้เด็กได้รับแคลอรีส่วนเกิน
    • ควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารเป็นรางวัล และหากเด็กทำผิดก็ไม่ควรใช้วิธีอดอาหารเป็นการลงโทษ
    • ส่งเสริมให้เด็กดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อวัน และควรควบคุมการดื่มเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผลไม้ใส่น้ำตาล ที่อาจทำให้เด็กติดรับประทานอาหารรสหวาน
    • ไม่ควรให้เด็กกินจุกจิกระหว่างวัน และควรสอนให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียด จะช่วยให้ร่างกายใช้เวลาย่อยอาหารน้อยลงและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยทำให้อิ่มเร็ว ส่งผลดีต่อการควบคุมปริมาณอาหาร

    การป้องกันโรคอ้วนในผู้ใหญ่

    • เน้นการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง อย่างผักใบเขียว เช่น คะน้า บล็อกโคลี ปวยเล้ง กวางตุ้ง กะหล่ำปลี หรือผลไม้ เช่น แก้วมังกร อะโวคาโด แอปเปิล รวมไปถึงธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เพราะอาจช่วยลดการดูดซึมไขมันในลำไส้ และอาจช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากมีส่วนช่วยเพิ่มใยอาหารและปริมาณน้ำในกระเพาะอาหาร ทำให้รู้สึกหิวน้อยลง
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการแปรรูป เช่น น้ำตาลขาว แป้ง และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เบคอน หมูยอ แฮม ชีส หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรรับประทานแต่น้อย และออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานเป็นประจำ
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ดัชนีมวลกายที่เหมาะสม หากเลือกออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น เล่นเทนนิส ปั่นจักรยาน ควรออกอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที และหากออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูง เช่น วิดพื้น ซิทอัพ กระโดดเชือก ควรออกอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์
    • ขยับร่างกายเป็นประจำ เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ เดินไปร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านแทนการขับรถไป และหลีกเลี่ยงการนอนทั้งวันหรืออยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรี่ที่ไม่จำเป็นได้ดีขึ้นและช่วยให้ลดน้ำหนักส่วนเกินได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา