backup og meta

สำลักอาหาร จะรับมือและจัดการอย่างไรดี

สำลักอาหาร จะรับมือและจัดการอย่างไรดี

หลายๆ คนคงจะเคย สำลักอาหาร มาบ้างสักครั้งหนึ่งในชีวิต การสำลักอาหาร หมายถึงการที่มีเศษอาหาร เข้าไปติดในหลอดลม ทำให้ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ การสำลักอาหารนี้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ทำการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที บทความนี้จะมานำเสนอวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากมีคน สำลักอาหาร

สัญญาณและอาการของการ สำลักอาหาร

สัญญาณและอาการของการสำลักนั้น สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายอย่างชัดเจน ผู้ที่สำลักอาหารส่วนใหญ่ มักจะไอไม่หยุด จนกว่าอาหารที่ติดอยู่ในคอหรือหลอดลมหลุดออกไป แต่ในบางครั้ง อาหารนั้นอาจจะติดแน่นอยู่ในหลอดลม และปิดกั้นทางเดินหายใจจนสนิท ทำให้ขาดอากาศหายใจ และอาจเสียชีวิตได้

สัญญาณและอาการของคนที่กำลังสำลักมีดังนี้

  • พูดไม่ได้
  • หายใจไม่ออก หรือหายใจมีเสียงดัง
  • ไอ สามารถมีทั้งอาการไอเบาๆ อย่างอ่อนแรง หรือไออย่างรุนแรง
  • ผิวหนัง ริมฝีปาก และเล็บ อาจจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วง เนื่องจากขาดอากาศหายใจ
  • หมดสติ
  • บางคนอาจจะเอามือจับคอ เพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าตัวเองกำลังสำลัก

อย่างไรก็ตาม หากเด็กทารกสำลัก เราอาจจะไม่สามารถสังเกตเห็นอาการที่กล่าวมาด้านบนได้อย่างชัดเจนเท่าไหร่นัก ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรให้การสังเกตเด็กทารกอย่างใกล้ชิด หากพบว่าทารกมีอาการดังต่อไปนี้ อาจจะเป็นสัญญาณว่าทารกกำลังสำลักได้

  • หายใจไม่ออก
  • ร้องไห้เบาๆ อย่างอ่อนแรง
  • ไอเบาๆ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับอาการสำลักอาหาร

การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่กำลังสำลักที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างมากที่สุด คือวิธีรัดกระตุกหน้าท้อง (Heimlich maneuver) เมื่อเราพบว่ามีคนสำลัก หรือตัวเองกำลังสำลัก และหลังจากไอมาสักพักหนึ่งแล้วก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ควรรีบทำการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือในทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้คนผู้นั้นขาดอากาศหายใจ จนสมองเกิดความเสียหาย หรือเสียชีวิตได้

การปฐมพยาบาลหากตัวเองสำลัก

เมื่อคุณพบว่าตัวเองสำลัก ควรรีบโทรแจ้งหน่วยพยาบาลฉุกเฉินในทันที และหากในบริเวณโดยรอบไม่มีใครที่สามารถให้การช่วยเหลือคุณได้อย่างทันท่วงที คุณสามารถทำการรัดกระตุกหน้าท้องตัวเองได้ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • กำหมัดให้แน่น แล้ววางไว้บนหน้าท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือเล็กน้อย
  • เอามืออีกข้างมากุมกับมือนั้น หาขอบโต๊ะ เคาน์เตอร์ หรือพนักเก้าอี้ เอียงตัวพิงไปข้างหน้า ดันขอบใส่หน้าท้องตัวเองแรงๆ พร้อมกับกดมือกระทุ้งท้อง ดันมือที่กำอยู่ให้กดลงในท้องและเฉียงขึ้นบน จนกว่าเศษอาหารจะหลุดออกมา

การปฐมพยาบาลหากผู้ใหญ่ และเด็กโตสำลัก

หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ สภากาชาดจะแนะนำให้ใช้หลักการ หลักตบหลัง 5 – กดท้อง 5 (Five and five method) โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ตบหลัง 5 ครั้ง ยืนด้านหลังของผู้ป่วย หากผู้ป่วยเป็นเด็กให้คุกเข่าลงมา วางมือข้างหนึ่งไว้บนหน้าอกของผู้ป่วยเพื่อทำการพยุง เอียงตัวผู้ป่วยให้ช่วงตัวบนขนานกับพื้น ใช้สันมือตบลงไปบนหลังของผู้ป่วย ตรงกลางระหว่างสะบักทั้งสองข้าง ด้วยความแรงพอสมควร เป็นจำนวน 5 ครั้ง
  • กดท้อง 5 ครั้ง กดท้องผู้ป่วย 5 ครั้ง ด้วยวิธีการรัดกระตุกหน้าท้อง โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
  • ยืนด้านหลังของผู้ป่วย ใช้มือโอบเอวของผู้ป่วย
  • ก้มตัวลงมาด้านหน้า
  • กำมือให้แน่น โดยเก็บนิ้วโป้งไว้ด้านใน ให้อีกสี่นิ้วกำทับนิ้วโป้ง
  • วางมือที่กำไว้บนท้องของผู้ป่วย บริเวณใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือ
  • ใช้มืออีกข้างที่ว่างอยู่มากำหมัดนั้น แล้วกดลงกระทุ้งดันมือที่กำหมัดเข้าไปในท้องและเฉียงขึ้นบน
  • หากเป็นกรณีของผู้ตั้งครรภ์ หรืออ้วนลงพุง ให้ทำการรัดกระตุกที่บริเวณหน้าอกของผู้ป่วยแทน
  • ทำขั้นตอนทั้งสองชุดนี้สลับกันไปมา จนกว่าเศษอาหารจะออกมาจากหลอดลม

หากผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก (อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป) ไม่ควรใช้หลักการตบหลัง 5 – กดท้อง 5 แต่ควรเริ่มต้นที่วิธีการรัดกระตุกหน้าท้องเลย และวิธีการรัดกระตุกหน้าท้องนี้ ไม่ควรใช้กับเด็กทารก

การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่เป็นทารก (อายุน้อยกว่า 1 ปี)

สำลักอาหาร-ปฐมพยาบาล

วิธีการปฐมพยาบาลสำหรับเด็กทารก คือต้องใช้วิธีการตบหลัง 5 ครั้ง และกดหน้าอก 5 ครั้ง ห้ามใช้วิธีการรัดกระตุกหน้าท้อง โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • นั่งเก้าอี้หรือคุกเข่าลง วางเด็กทารกไว้บนตัก
  • หากเป็นไปได้ควรถอดเสื้อผ้าเด็กออก เพื่อให้สามารถมองเห็นตำแหน่งที่ต้องตบหลังและกดหน้าอกอย่างชัดเจน
  • ใช้มือด้านหนึ่งประคองศีรษะและกรามของเด็กทารกให้มั่นคง คว่ำหน้าเด็กลง วางตัวเด็กบนท่อนแขน ให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัว
  • ใช้สันมือตบลงบนกึ่งกลางระหว่างสะบักทั้งสองข้างในแนวเฉียงลง ด้วยแรงพอสมควร ทำซ้ำ 5 ครั้ง
  • พลิกตัวเด็กกลับมาในท่านอนหงาย ประคองตัวเด็กให้มั่นคง
  • กดหน้าอก 5 ครั้ง ในบริเวณกึ่งกลางอก บนกระดูกหน้าอกส่วนล่าง
  • ตรวจดูว่าสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาหรือไม่ หากมีให้ใช้นิ้วกวาดออกมา หากไม่แน่ใจไม่ควรทำแบบนั้น
  • หากยังไม่มีสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาและเด็กหมดสติ ให้ทำการ CPR ทันที

การปฐมพยาบาลในกรณีผู้ป่วยหมดสติ

  • หากผู้ป่วยหมดสติไม่รู้ตัวแล้ว ควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงายราบบนพื้น
  • เริ่มทำการกดหน้าอกนวดหัวใจทันที โดยไม่ต้องประเมินชีพจร โดยการกดนวดหัวใจอย่างต่อเนื่อง 30 ครั้ง
  • ทำการช่วยหายใจ โดยการจัดท่าเพื่อเปิดปากผู้ป่วย ควรมองหาสิ่งแปลกปลอมในปากของผู้ป่วยก่อน ถ้ามีให้ใช้นิ้วกวาดออก แต่ถ้าไม่แน่ใจอย่ากวาดนิ้ว เพราะอาจจะทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปลึกกว่าเดิม
  • เริ่มทำการช่วยหายใจ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งบีบจมูกผู้ป่วย จากนั้นก็เป่าลมเข้าปากของผู้ป่วย 2 ครั้ง

ทำขั้นตอนการกดนวดหัวใจและเป่าปากสลับกันอย่างต่อเนื่อง คือกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง ทำซ้ำประมาณ 5 รอบ หรือ 2 นาที จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา หรือจนกว่าการช่วยเหลือจากแพทย์จะมาถึง

 

Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Choking: First aid. https://www.mayoclinic.org/first-aid/first-aid-choking/basics/art-20056637. Accessed 14 December 2019

Choking. https://www.emedicinehealth.com/choking/article_em.htm#facts_you_should_know_about_choking.Accessed 14 December 2019

What should I do if someone is choking? https://www.nhs.uk/common-health-questions/accidents-first-aid-and-treatments/what-should-i-do-if-someone-is-choking/. Accessed 14 December 2019

What You Should Know About Choking https://www.healthline.com/health/choking-adult-or-child-over-1-year. Accessed 14 December 2019

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน จากการสำลักสิ่งแปลกปลอม. https://meded.psu.ac.th/binla/class01/388-100/Foreign_Body_Airway/index.html?fbclid=IwAR0QflbrA5DqSCEIWh-_r94ZuV38A8IKigUAhVTzxEmYF1KymS8e3YkDMm4. Accessed 14 December 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Chayawee Limthavornrak


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขาดอากาศหายใจ สาเหตุการเสียชีวิตของเด็กที่พ่อแม่ควรใส่ใจ

ลักษณะการไอ ของคุณเป็นแบบไหน ลองเช็คอาการไอ 5 รูปแบบต่อไปนี้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา