backup og meta

ก้างติดคอ อาการ และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 03/12/2021

    ก้างติดคอ อาการ และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

    ก้างติดคอ เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป อาจเกิดจากการรับอาหารประเภทปลา หรือมีส่วนประกอบของปลาเร็วเกินไป หรืออาจเพราะมีก้างปลาหลงอยู่ในอาหาร เมื่อไม่ได้สังเกตและรับประทานเข้าไป จึงอาจทำให้ก้างติดคอได้ ภาวะนี้แม้จะพบได้ทั่วไป แต่หากปล่อยไว้ อาจส่งผลต่อการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงกว่า เช่น คออักเสบ คอติดเชื้อ

    ก้างติดคอ มีอาการอย่างไร

    หากมีอาการดังต่อไปนี้หลังจากรับประทานอาหารประเภทปลา หรืออาหารที่มีก้างหรือกระดูกเล็ก ๆ อาจเป็นสัญญาณว่าก้างติดคอ

    • รู้สึกเสียวแปล๊บ เหมือนมีอะไรทิ่มหรือติดอยู่ในลำคอ
    • มีอาการเจ็บหรือปวดในลำคออย่างรุนแรง
    • กดที่ลำคอแล้วรู้สึกเจ็บ
    • มีอาการไอ ระคายเคืองคอ
    • กลืนอาหารลำบาก หรือรู้สึกเจ็บปวดเวลากลืนอาหาร
    • ถ่มน้ำลายแล้วมีเลือดปนออกมา

    วิธีปฐมพยาบาลเมื่อก้างติดคอ

    วิธีการดังต่อไปนี้ อาจช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อก้างติดคอได้

    การดื่มน้ำ

    การดื่มน้ำอึกใหญ่ อาจช่วยให้ก้างปลาที่ติดคออยู่หลุดออกไปได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว วิธีนี้อาจใช้ได้ผลเมื่อก้างอยู่ไม่ลึกมาก เช่น บริเวณลำคอ บริเวณทอนซิล

    การไอ

    ก้างปลามักจะไปติดอยู่ที่บริเวณลำคอ หรือบริเวณต่อมทอนซิล การไอหรือกระแอมอาจทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่เพียงพอจะทำให้ก้างที่ติดอยู่หลุดออกมาได้

    น้ำส้มสายชู

    หากการกระแอมหรือการไอไม่ได้ผล อาจดื่มน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำสะอาด 1 แก้ว หรือจะดื่มน้ำส้มสายชูเพียว ๆ 1 ช้อนโต๊ะก็ได้เช่นกัน น้ำส้มสายชูมีสภาพเป็นกรดจึงอาจช่วยกัดกร่อนให้ก้างนิ่มลง จนสามารถกลืนลงไปได้ง่ายขึ้น

    มาร์ชเมลโลว์

    การรับประทานขนมหวานลักษณะนิ่มเหนียวอย่างมาร์ชเมลโลว์ อาจช่วยยึดเกาะและดันให้ก้างหลุดเข้าไปยังกระเพาะอาหารได้

    กล้วย

    หากรู้สึกว่าก้างติดคอ อาจลองกัดกล้วยคำใหญ่ ๆ แล้วอมไว้ในปากประมาณ 1 นาที เพื่อให้กล้วยซับเอาน้ำลายในปาก จากนั้นกลืนกล้วยลงไป กล้วยที่ซับน้ำลายนี้อาจช่วยยึดเกาะและดันให้ก้างหลุดเข้าไปยังกระเพาะอาหารได้

    ขนมปังและน้ำ

    แช่ขนมปังไว้ในน้ำสะอาดประมาณ 1 นาที เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับขนมปัง จากนั้นกัดขนมปังคำใหญ่ ๆ แล้วกลืนลงไป น้ำหนักของขนมปังอาจช่วยดันให้ก้างหลุดจากคอ และไหลลงสู่กระเพาะอาหารได้

    น้ำมันมะกอก

    น้ำมันมะกอกเป็นน้ำมันสกัดจากธรรมชาติที่สามารถรับประทานได้ และมีคุณสมบัติในการหล่อลื่น การรับประทานน้ำมันมะกอกแบบเพียว ๆ 1-2 ช้อนโต๊ะ อาจช่วยให้น้ำมันไปหล่อลื่นลำคอ และทำให้ก้างที่ติดคออยู่หลุดออก หรือช่วยให้กลืนก้างที่ติดอยู่ได้ง่ายขึ้น

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

    โดยปกติแล้วปัญหาก้างติดคอไม่จำเป็นจะต้องไปพบคุณหมอ เพราะเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปอีก ก็มักทำให้ก้างที่ติดคออยู่หลุดออกได้ อย่างไรก็ตาม รอยขีดข่วนจากก้างปลาอาจทำให้ลำคอติดเชื้อหรืออักเสบได้ และหากลองใช้วิธีปฐมพยาบาลก้างติดคอต่าง ๆ แล้ว แต่ยังรู้สึกว่ามีก้างปลาติดคออยู่เช่นเดิม และไม่สามารถนำก้างออกมาได้ด้วยตัวเอง ควรไปพบคุณหมอ โดยคุณหมออาจมีการส่องกล้องเข้าไปในลำคอ และใช้เครื่องมือทางการแพทย์หยิบก้างออกมา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 03/12/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา