backup og meta

เลิกบุหรี่ไม่ได้ เพราะสาเหตุอะไรกันแน่

เลิกบุหรี่ไม่ได้ เพราะสาเหตุอะไรกันแน่

หลายคนอาจคิดว่า การเลิกบุหรี่ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่จริง ๆ แล้วสามารถทำได้หากตั้งใจจริง การจะเลิกบุหรี่ให้สำเร็จจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และพยายามหาตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด แต่หากยัง เลิกบุหรี่ไม่ได้ สักที อาจเป็นเพราะปัจจัยบางอย่างที่ยากเกินควบคุม ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการที่จะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น หรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีการเลิกบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ

สาเหตุที่อาจทำให้ เลิกบุหรี่ไม่ได้

นิโคติน

นิโคติน คือสารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในบุหรี่ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็ว แต่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ทำให้มีอาการเสพติดการสูบบุหรี่ รู้สึกว่าขาดการสูบบุหรี่ไม่ได้ เมื่อไม่ได้สูบบุหรี่ก็อาจแสดงอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ จนในที่สุดก็ต้องกลับไปสูบบุหรี่อีก หลายคนจึงเลิกบุหรี่ไม่ได้เสียที

การสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายได้รับนิโคตินเข้าสู่ปอดและซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น หัวใจ หลอดเลือด สมอง และระบบเผาผลาญพลังงาน อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรก น้ำคร่ำ เลือด และหากทารกกินนมแม่ที่สูบบุหรี่ ก็อาจได้รับนิโคตินผ่านน้ำนมแม่ด้วย

พันธุกรรม

พันธุกรรม เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อการเลิกบุหรี่ โดยเฉพาะเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 (CYP2A6) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญนิโคติน จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์บูรพา เมื่อปี พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับการยับยั้งเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 ที่ย่อยสลายนิโคตินในคน พบว่า ผู้ที่มีอัตราการทำงานของเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 ต่ำอาจมีแนวโน้มเลิกบุหรี่ได้ง่ายและเร็วกว่าผู้ที่มีอัตราการทำงานของเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 สูง ดังนั้น การบำบัดโดยใช้ยายับยั้งเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 ร่วมกับการบำบัดเพื่อเลิกบุหรี่อื่น ๆ จึงอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการเลิกบุหรี่ให้สำเร็จได้มากขึ้นนั่นเอง

สมอง

นิโคตินในบุหรี่เป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์ทำให้เสพติดสูงมาก เนื่องจากเมื่อสูบบุหรี่ นิโคตินจะเดินทางเข้าสู่สมองและไปเกาะตัวรับสารนิโคติน จากนั้นตัวรับสารนิโคตินจะหลั่งโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นเวลามีความสุข ทำให้รู้สึกดีและผ่อนคลาย สมองจึงเชื่อมโยงความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นกับการสูบบุหรี่ และหากเลิกสูบบุหรี่ เซลล์ประสาทในสมองส่วนกลางจะกระตุ้นให้เกิดอาการขาดนิโคตินหรือที่เรียกว่าอาการถอนบุหรี่ ส่งผลให้หงุดหงิด กังวล ไม่มีสมาธิ น้ำหนักขึ้น ซึ่งกระตุ้นให้กลับไปสูบบุหรี่อีก เป็นวงจรอย่างนี้เรื่อยไป

วิธีช่วยให้เลิกบุหรี่ง่ายขึ้น

หากผู้ที่เลิกบุหรี่ไม่ได้ใช้วิธีต่อไปนี้ อาจช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

  • กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน การพยายามเลิกบุหรี่โดยไม่ตั้งเป้าหมายและวางแผนให้ชัดเจนอาจทำให้รู้สึกเลื่อนลอย ท้อ หมดกำลังใจ และเลิกบุหรี่ไม่ได้สักที ดังนั้น จึงควรกำหนดเป้าหมายและเหตุผลในการเลิกบุหรี่ให้ชัดเจน เช่น อยากเลิกบุหรี่เพื่อสุขภาพของตัวเอง อยากเลิกบุหรี่เพื่อคนในครอบครัว และคอยคำนึงถึงเป้าหมายนี้ตลอดเวลาการพยายามเลิกบุหรี่
  • การใช้นิโคตินทดแทน (Nicotine replacement therapy: NRT) คือ การบำบัดด้วยการให้นิโคตินในขนาดต่ำในรูปแบบอื่น ๆ แทนการสูบบุหรี่ เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคติน ที่อาจช่วยลดอาการถอนบุหรี่ เช่น ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ ทั้งยังช่วยให้ร่างกายไม่ต้องรับสารพิษอื่น ๆ จากการสูบบุหรี่ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ น้ำมันดินหรือทาร์ สารหนู ตะกั่ว
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นให้รู้สึกอยากสูบบุหรี่ เช่น บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไฟแช็ค ถาดเขี่ยบุหรี่ รวมไปถึงสถานที่หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ เช่น การอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่ จุดพักสูบบุหรี่ สถานบันเทิงหรือร้านอาหารที่อนุญาตให้สูบบุหรี่
  • เบี่ยงเบนความสนใจจากการสูบบุหรี่ หากรู้สึกอยากสูบบุหรี่ อาจหาสิ่งอื่นมาทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองไปจากความคิดเรื่องการสูบบุหรี่ เช่น หาสมุดโน้ตมาขีดเขียนเล่น เคี้ยวหมากฝรั่ง รับประทานขนมขบเคี้ยว ออกกำลังกาย ทำความสะอาด
  • ผ่อนคลายความเครียด ความเครียดอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้อยากสูบบุหรี่ได้ ดังนั้น จึงควรจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม โดยอาจคลายเครียดด้วยการทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง อ่านหนังสือ รวมไปถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน
  • รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ การปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเลิกบุหรี่ เกี่ยวกับคำแนะนำและวิธีเลิกบุหรี่อย่างถูกต้อง อาจช่วยแก้ปัญหาเลิกบุหรี่ไม่ได้ โดยคุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาที่ช่วยเลิกบุหรี่แบบไม่มีนิโคติน เช่น ยาวาเรนิคลิน (Varenicline) ที่ช่วยขัดขวางตัวรับนิโคตินในสมอง ทำให้ได้รับความพึงพอใจจากการสูบบุหรี่น้อยลงจนรู้สึกไม่อยากสูบบุหรี่ ยาบูโพรพิออน (Bupropion) ซึ่งเป็นยาต้านซึมเศร้าชนิดหนึ่งที่อาจช่วยในการเลิกบุหรี่ได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ยาเหล่านี้ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเสมอ

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างทางพันธุกรรมของ CYP2A6 กับเภสัชจลนศาสตร์ของนิโคตินและระดับนิโคตินเมแทบอไลต์ในเส้นผมของผู้สูบบุหรี่ที่มาตรวจสุขภาพ. https://www.car.chula.ac.th/display7.php?bib=b2256975. Accessed November 17, 2022.

Nicotine. https://adf.org.au/drug-facts/nicotine/. Accessed November 17, 2022.

Nicotine Replacement Therapy to Help You Quit Tobacco. https://www.cancer.org/healthy/stay-away-from-tobacco/guide-quitting-smoking/nicotine-replacement-therapy.html. Accessed November 17, 2022.

Stop smoking treatments. https://www.nhs.uk/conditions/stop-smoking-treatments/. Accessed November 17, 2022.

How Can I Quit Smoking?. https://kidshealth.org/en/teens/quit-smoking.html. Accessed November 17, 2022.

Quitting smoking: 10 ways to resist tobacco cravings. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/quit-smoking/in-depth/nicotine-craving/art-20045454. Accessed November 17, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/11/2022

เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีเลิกบุหรี่ และอันตรายจากการสูบบุหรี่

ยาช่วยเลิกบุหรี่ บูโพรพิออน ใช้ดีจริงกับทุกคนหรือเปล่า


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 18/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา