การเหยียดสีผิว เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนระดับโลก เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากและมักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งลูกอาจยังไม่รู้ว่าการพูดกับเพื่อนอย่างไรคือการเหยียดสีผิว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรรู้วิธีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงควรสอนและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเหยียดสีผิวให้ลูกเข้าใจ เพื่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-vaccination-tool]
พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่อง การเหยียดสีผิว
การพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวนั้น ควรพูดคุยให้เหมาะสมกับอายุในแต่ละวัย เพื่อให้เด็กค่อย ๆ เข้าใจเรื่องของความเสมอภาคและเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติ โดยการพูดในขณะที่เด็กกำลังเติบโตนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพูดเรื่องการเหยียดสีผิว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจทำได้ ดังนี้
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
เด็กในวัยนี้อาจจะเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างในคนรอบตัวได้เห็น ซึง่คุณพ่อคุณแม่อาจมีโอกาสที่จะวางรากฐานโลกทัศน์ของเด็กได้ ด้วยภาษาที่เหมาะสมกับอายุและเข้าใจง่าย ดังนี้
- การจำแนกความแตกต่าง ถ้าเด็กถามเกี่ยวกับเรื่องสีผิวของใครบางคน คุณพ่อคุณแม่อาจใช้โอกาสนี้บอกเด็กว่า ผู้คนนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันจริง แต่ก็ต้องพยายามชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่มีเหมือนกัน โดยคุณพ่อคุณแม่อาจพูดกับเด็กได้ว่า “ทุกคนเป็นมนุษย์ แต่ทุกคนก็ล้วนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจ”
- เปิดกว้าง คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามทำให้เด็กเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่เปิดรับคำถามของเด็กอยู่เสมอ และสนับสนุนให้เด็กสามารถถามคำถามกับตัวเองได้ หากเด็กชี้ให้เห็นคนที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่ควรหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถาม เนื่องจากเด็กในวัยนี้มักจะทำด้วยความอยากรู้อยากเห็น ไม่เช่นนั้นเด็กจะรู้สึกว่าเป็นหัวข้อที่ต้องห้าม
- ใช้ความเป็นธรรมสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุประมาณ 5 ขวบ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเข้าใจแนวคิดเรื่องความยุติธรรมค่อนข้างดี การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเหยียดสีผิวว่าไม่ยุติธรรมและนั่นเป็นสาเหตุที่ทุกคนต้องร่วมมือกันทำให้เรื่องนี้ดีขึ้น
เด็กอายุ 6-11 ปี
เด็กในวัยนี้จะพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเองได้ดีกว่า และกระตือรือร้นที่จะหาคำตอบ เด็กอยากได้รับข้อมูลที่ยากขึ้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความเข้าใจกับสิ่งที่เด็กรู้เสียก่อน ดังนี้
- การฟังและถามคำถาม เป็นขั้นตอนแรกที่จะเริ่มพูดคุยกับเด็กในวัยนี้ที่มีอยากรู้อยากเห็น เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจถามสิ่งที่เด็กได้ยินที่โรงเรียน ทางโทรทัศน์ หรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์
- อภิปรายเกี่ยวกับสื่อด้วยกัน สื่อต่าง ๆ และสื่อสังคมออนไลน์ อาจเป็นแหล่งข้อมูลหลักของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงความสนใจในสิ่งที่เด็กกำลังอ่าน รวมถึงการสนทนาที่กำลังคุยผ่านสื่อออนไลน์ พยายามค้นหาโอกาสในการสำรวจตัวอย่างของแบบแผนและความลำเอียงทางเชื้อชาติในสื่อ เช่น ทำไมบางคนถึงเป็นคนร้ายในขณะที่คนอื่นไม่ได้เป็น
- พูดคุยอย่างเปิดเผย การพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องเหยียดสีผิว ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และความละม้ายคล้ายคลึง มักจะทำให้เด็ก ๆ มาหาคุณพ่อคุณแม่พร้อมด้วยคำถามและความกังวล หากเด็กเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นแหล่งแนะนำที่เชื่อถือได้ ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในการพูดคุยหัวข้อนี้มากขึ้น
เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป
วัยรุ่นนั้นสามารถเข้าใจแนวคิดที่เป็นนามธรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถแสดงความคิดเห็นที่อาจจะรู้มากกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิด บางครั้งเด็กอาจจะมีอารมณ์รุนแรงในหัวข้อที่สนทนา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่า เด็กรู้สึกอย่างไร รู้อะไรบ้าง และพยายามทำให้บทสนทนาดำเนินต่อไป ดังนี้
- ทำความเข้าใจกับเด็ก รู้ว่าเด้กรู้อะไร คุณพ่อคุณแม่อาจค้นหาสิ่งที่เด็ก ๆ อยากรู้เกี่ยวกับการเหยียดสีผิว การเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติ พยายามพูดคุยกับเด็กว่า ได้ยินข่าวอะไรมาบ้างจากที่โรงเรียนหรือจากเพื่อน ๆ
- ถามคำถามเพื่อเพิ่มโอกาส เช่น เหตุการณ์ในข่าวสำหรับการสนทนากับเด็กเกี่ยวกับการเหยียดสีผิว ถามสิ่งที่คิด และแนะนำเด็กในมุมมองที่แตกต่าง เพื่อช่วยขยายความเข้าใจ
- ส่งเสริมการกระทำ การมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวัยรุ่นหลายคน บางคนอาจเริ่มคิดถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมออนไลน์ คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามกระตุ้นเด็กให้ทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นวิธีโต้ตอบและมีส่วนร่วมกับปัญหาทางเชื้อชาติ
6 เคล็ดลับในการพูดคุยกับเด็กเรื่องการเหยียดสีผิว
นอกจากวิธีข้างต้นสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย ยังมีเคล็ดลับสำหรับการคุยกับเด็กเกี่ยวกับเรื่องการเหยียดสีผิว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. พูดถึงเชื้อชาติ
การพูดถึงชนชาติ คือ การพูดถึงเชื้อชาติ ปล่อยให้เด็ก ๆ รู้ว่าไม่มีอะไรผิดปกติกับการสังเกตลักษณะทางกายภาพและความแตกต่าง อย่างไรก็ตาม เด็กต้องการที่จะระวังไม่ให้ทำการตัดสินใจในเชิงลบ โดยยึดตามความแตกต่างเหล่านั้น
2. ปลูกฝังทัศนคติการคิดในแง่บวก
พูดเกี่ยวกับแง่บวกของการแตกต่างและความคล้ายคลึงในทุกกลุ่ม ความต่างกันไม่ได้แปลว่า แปลก หรือไม่ดี
3. บอกเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พร้อมยกตัวอย่าง
พูดคุยเกี่ยวกับชนชาติในอดีต การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ สามารถช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมคำหรือข้อความบางคำ จึงเป็นอันตราย และเพราะเหตุใดเหตุการณ์ปัจจุบันถึงเกิดขึ้น และควรเน้นว่า เรื่องเหยียดสีผิวนั้นไม่ใช่เรื่องของอดีต
4. เน้นย้ำเรื่องความเท่าเทียม
พูดคุยกับเด็กว่า บางครั้งผู้คนที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพราะสีผิวนั้น คือ ความไม่เท่าเทียมกัน สำหรับเด็กโต คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบที่ช่วยรักษาความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้
5. ใช้สื่อที่มีประโยชน์เพิ่มเติม
ใช้เครื่องมืออย่างสื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมในการสนทนา หนังสือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการมีส่วนร่วมและอธิบายแนวคิดสำหรับเด็ก
6. สอนเรื่องแนวทางปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
พูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่เด็กอาจเปลี่ยนแปลงได้ หัวข้อนี้อาจจะรวมถึงการมีน้ำใจต่อทุกคน ทุกภูมิหลัง รวมถึงการรับฟัง และทำความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์หรือความรู้สึกของผู้อื่นที่แตกต่างกัน