backup og meta

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ภายในบ้านที่อาจทำให้ลูกเสี่ยงเป็นโรคหอบหืด

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ภายในบ้านที่อาจทำให้ลูกเสี่ยงเป็นโรคหอบหืด

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ปกครองใช้เพื่อทำความสะอาดบ้าน เสื้อผ้าและที่นอนของลูก เพื่อขจัดสิ่งสกปรกและป้องกันเชื้อโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกรัก แต่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเหล่านี้ อาจเป็นหนึ่งตัวการที่ทำให้ลูกเสี่ยงเป็นโรคหอบหืดได้ เนื่องจากสารเคมีรุนแรงที่เป็นอันตรายอาจซึมเข้าสู่ผิวและระบบทางเดินหายใจ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอักเสบ จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะหายใจมีเสียงหวีดและโรคหืดในเด็กได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคหอบหืดในเด็ก

ผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Canadian Medical Association Journal เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกับสุขภาพทางเดินหายใจ เผยว่า เด็กวัยแรกเกิดถึง 3 เดือน ที่สัมผัสหรือสูดดมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ่อยครั้ง จะทำให้เด็กมีความเสี่ยงเกิดโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นถึง 37% โดยจะพบอาการเมื่อเด็กมีอายุได้ 3 ปี และไม่ใช่แค่โรคหอบหืด แต่ความเสี่ยงในการเกิดภาวะหอบเฉียบพลันและฟังปอดพบเสียงหวีด หรือภาวะหายใจมีเสียงหวีดกำเริบซ้ำหลายครั้ง (Recurrent Wheezing) อาจเพิ่มขึ้นถึง 35%

โดยนักวิจัยเผยว่า สาเหตุที่เด็กทารกได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมากกว่าเด็กวัยอื่น อาจเป็นเพราะเด็กวัยนี้ใช้เวลากว่า 80-90% ในบ้าน อีกทั้งยังมีอัตราการหายใจสูงกว่า และมักสัมผัสกับพื้นผิวในบ้านเป็นประจำ สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจึงเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปอดและผิวหนังได้มากกว่า

ทีมนักวิจัยทำการเก็บข้อมูล โดยให้ผู้ปกครองของเด็กที่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 4 เดือน กว่า 2,000 คน ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ และผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ผู้ปกครองใช้ ได้แก่ สบู่เหลวล้างมือ น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดพื้นสูตรสำหรับหลายพื้นผิว น้ำยาเช็ดกระจก และสบู่ซักผ้าหรือน้ำยาซักผ้า พบว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดประเภทสเปรย์และมีกลิ่นสังเคราะห์ สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืดได้มากที่สุด

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กได้ อาจเป็นเพราะ สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำร้ายระบบทางเดินหายใจของเด็ก โดยการกระตุ้นกลไกการอักเสบของระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังอาจทำให้ไมโครไบโอม (Microbiome) ซึ่งเป็นดีเอ็นเอของจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพในร่างกายของเด็กเปลี่ยนแปลงไป จนนำไปสู่อาการหอบหืดและหายใจมีเสียงหวีดได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Canadian Medical Association Journal เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกับสุขภาพทางเดินหายใจ พบว่า เด็กส่วนใหญ่ที่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมีความเสี่ยงเป็นโรคหอบหืดและหายใจมีเสียงหวีด เนื่องจากการอักเสบของระบบภูมิคุ้มกัน จนอาจนำไปสู่อาการภูมิแพ้ในอนาคต

วิธีป้องกันความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

เพื่อป้องกันโรคหอบหืดและปัญหาภาวะหายใจมีเสียงหวีดในเด็ก เนื่องจากสารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด คุณพ่อคุณแม่อาจสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ หรือน้ำยาทำความสะอาดในรูปแบบสเปรย์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) เป็นส่วนประกอบ เพราะเป็นสารที่เมื่อระเหยสู่บรรยากาศ สามารถส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เและอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ ทั้งยังก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ มลภาวะทางอากาศหรือมลภาวะทางดินได้ จึงควรหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ปราศจากกลิ่นสังเคราะห์ แอลกอฮอล์ และสารเคมีอันตราย โดยอ่านฉลากและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ หรือได้รับการรับรองว่าปลอดภัยกับเด็ก
  • ป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกเข้าบ้าน เช่น เช็ดเท้าก่อนเข้าบ้าน ถอดรองเท้าไว้นอกบ้าน เพื่อลดปริมาณฝุ่นและสิ่งสกปรก อาจช่วยลดระยะเวลาในการทำความสะอาดและลดการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีสารเคมีรุนแรง
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในปริมาณน้อย โดยการเจือจางด้วยน้ำเปล่าเพื่อลดความเป็นกรดที่อาจส่งผลกระทบต่อทางเดินหายใจและผิวของเด็ก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Keeping Your House Clean Without Harsh Chemicals. https://www.webmd.com/children/features/safer-cleaning-products. Accessed November 30, 2022.

Association of use of cleaning products with respiratory health in a Canadian birth cohort. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7030878/. Accessed November 30, 2022.

Green Parent Guide: Chemicals to Avoid. https://www.womensvoices.org/avoid-toxic-chemicals/pregnancy/non-toxic-baby-tips/toxic-chemicals-in-baby-products/. Accessed November 30, 2022.

Adult Asthma. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2020829/. Accessed November 30, 2022.

Babies frequently exposed to cleaning products at higher risk of asthma: study. https://www.cbc.ca/news/canada/british-columbia/babies-cleaning-products-asthma-study-1.5467244. Accessed November 30, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/11/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกพร้อมอยู่บ้านคนเดียว

รับมือ เหตุฉุกเฉินในบ้าน ควรต้องทำอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา