backup og meta

การเลี้ยงลูก ให้สุขทั้งกายและใจ ทำได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/03/2022

    การเลี้ยงลูก ให้สุขทั้งกายและใจ ทำได้อย่างไรบ้าง

    ครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญที่สุดที่อาจช่วยสนับสนุนให้ลูกเติบโตได้อย่างแข็งแรงทั้งทางด้านสุขภาพกายใจ มีทักษะการใช้ชีวิตและการเข้าสังคมที่เหมาะสม การศึกษาเคล็ดลับใน การเลี้ยงลูก ให้มีความสุขทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เช่น การดูแลเอาใจใส่ลูกให้ดี การเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำในสิ่งที่สนใจ การรับฟังปัญหาทุกข์ใจของลูก จึงถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตได้ว่าลูกอาจมีปัญหาสุขภาพกายใจ ควรปรึกษาคุณหมอโดยเร็วที่สุด คุณหมอจะได้วินิจฉัยและรักษาได้อย่างตรงจุด

    เคล็ดลับ การเลี้ยงลูก ให้สุขทั้งกายและใจ

    การเลี้ยงลูก ให้มีสุขภาพกายที่ดี

    คุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนให้ลูกมีสุขภาพกายที่ดีได้ ดังนี้

    การเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้ลูก

    สอนให้ลูกรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นหลัก อาจเริ่มจากการให้เมนูสุขภาพเป็นจานหลักในทุกมื้ออาหาร ให้ลูกช่วยเลือกวัตถุดิบ ช่วยจ่ายตลาด หรือเป็นคนคิดเมนูเอง ซึ่งอาจทำให้ลูกรู้สึกมีส่วนร่วมและอยากรับประทานอาหารจานนั้น ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารร่วมกันทั้งครอบครัว เนื่องจากเด็กที่ร่วมโต๊ะอาหารกับคนในครอบครัวมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารที่หลากหลายและให้สารอาหารครบถ้วน

    ให้ความสำคัญกับเวลานอนของลูก

    • ในช่วงเวลาที่ลูกเข้านอน ควรหรี่หรือปิดไฟในห้อง เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายของลูกหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยทำให้รู้สึกง่วงนอนและพร้อมพักผ่อนในเวลากลางคืน
    • ไม่ควรมีโทรทัศน์ไว้ภายในห้องนอนลูก เนื่องจากเสียงและแสงสว่างจากโทรทัศน์อาจรบกวนการนอนของลูก ทำให้ลูกนอนไม่หลับหรือนอนดึกกว่าที่ควร
    • ควรให้ลูกเข้านอนตรงเวลาทุกวัน และควรให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จำนวนชั่วโมงในการนอนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย อาจมีดังนี้
    • เด็กอายุ 4-12 เดือน ควรนอน 12-16 ชั่วโมงต่อวัน (รวมการนอนกลางวัน)
    • เด็กอายุ 1-2 ปี ควรนอน 11-14 ชั่วโมงต่อวัน (รวมการนอนกลางวัน)
    • เด็กอายุ 3-5 ปี ควรนอน 10-13 ชั่วโมงต่อวัน (รวมการนอนกลางวัน)
    • เด็กอายุ 6-12 ปี ควรนอน 9-12 ชั่วโมงต่อวัน

    บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจใช้เวลาก่อนนอนร่วมกับลูก ด้วยการทำกิจกรรมเบา ๆ ร่วมกัน เช่น การอ่านหนังสือนิทาน การฟังลูกเล่าเรื่องที่โรงเรียน หรือชวนกันทำกิจกรรมผ่อนคลายอื่น ๆ เช่น การฝึกหายใจเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งอาจช่วยลดความเครียด อาการแพนิค หรือความวิตกกังวล ช่วยให้จิตใจสงบ และหลับสบายในเวลากลางคืน

    ขั้นตอนการทำสมาธิก่อนนอนที่เหมาะสมกับลูก อาจมีดังนี้

  • สูดลมหายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ ลึก ๆ (ประมาณ 5 วินาที) ให้รู้สึกว่าท้องป่อง
  • กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ จากนั้นหายใจออกทางปากช้า ๆ (ประมาณ 5 วินาที) จนรู้สึกว่าท้องแฟ่บ
  • ทำซ้ำประมาณ 3-5 นาที
  • การเลี้ยงลูก ให้มีสุขภาพใจที่ดี

    คุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนให้ลูกมีสุขภาพใจที่ดีได้ ดังนี้

    มีเวลาให้ลูกเสมอ

    ใช้เวลาที่มีค่าร่วมกับลูกบ่อย ๆ ทั้งการใช้เวลาร่วมกันทำกิจกรรมภายในบ้าน เช่น จัดเวรทำความสะอาดบ้าน ใช้เวลาเล่นกับลูกหลังมื้อเย็นหรือก่อนเข้านอน รวมถึงการทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ไปออกกำลังกาย ไปเที่ยวด้วยกันในวันหยุด ออกไปซื้อของเข้าบ้านด้วยกัน พยายามมีส่วนร่วมในชีวิตของลูกในช่วงเวลาที่ลูกต้องการ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียน การใช้เวลากับลูกในวันเกิด การเอาใจใส่ลูกอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้นแล้ว ยังอาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้สัญญาณของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตลูก และช่วยให้คำปรึกษาหรือแก้ไขได้ทันท่วงที

    เป็นผู้ฟังและให้คำปรึกษาที่ดี

    การใช้เวลาพูดคุยและรับฟังลูก ช่วยหาทางแก้ไข หรือให้คำแนะนำเมื่อลูกมีปัญหาในชีวิต เช่น ทะเลาะกับเพื่อน มีปัญหาการเรียน อาจช่วยให้ลูกรู้สึกสบายใจขึ้น และไม่เก็บเรื่องที่กังวลใจไว้เพียงลำพัง จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจและสุขภาพร่างกายของลูก เช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้า โรคแพนิค โรควิตกกังวล คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยวางแผนอนาคต และสนับสนุนกิจกรรมที่ลูกสนใจอยากทำ เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองหาประสบการณ์ และพัฒนาทักษะในด้านนั้น ๆ การที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจและสนับสนุนความคิดของเด็ก อาจทำให้เด็กกระตือรือร้นในการวางแผนเกี่ยวกับเรื่องอนาคตและอยากทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น แต่ทั้งนี้ ไม่ควรบังคับหรือกดดันลูกมากจนเกินไปด้วย

    ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก

    ลูกมักเลียนแบบพฤติกรรมและยึดถือคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบในทุกเรื่อง การแสดงให้ลูกเห็นว่าพฤติกรรมไหนควรทำหรือไม่ควรทำ รวมไปถึงวิธีการรับมือกับปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น การรับมือกับปัญหาที่เผชิญในทางบวก ไม่ใช้อารมณ์หรือใช้ความรุนแรง จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ควรมีความคิดและทัศนคติในเรื่องต่าง ๆ ที่ดี จะได้เป็นตัวอย่างให้กับลูกได้ เช่น หากต้องการให้ลูกดูแลสุขภาพของตัวเอง ก็ควรออกกำลังกายให้ลูกเห็นเป็นประจำ หรือพาลูกไปออกกำลังกายด้วย และควรทำอาหารที่ให้สารอาหารครบถ้วนรับประทานกันในครอบครัวเป็นประจำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา