backup og meta

ท่าให้นม ท่าไหนดีที่เหมาะสมทั้งคุณแม่และลูกน้อย

ท่าให้นม ท่าไหนดีที่เหมาะสมทั้งคุณแม่และลูกน้อย

ท่าให้นม เป็นท่านั่งสำหรับคุณแม่ที่ต้องเน้นลักษณะท่าทางที่ผ่อนคลาย เนื่องจากเป็นการนั่งที่อาจต้องใช้เวลานาน หากนั่งผิดท่านอกจากจะไม่สบายตัวแล้ว อาจส่งผลต่อสุขภาพหลังและสุขภาพด้านอื่น ๆ ในระยะยาว ดังนั้น คุณแม่จึงควรเลือกท่าให้นมที่เหมาะสมกับสรีระ รวมทั้งต้องคำนึงถึงท่าทางการดื่มนมของลูกน้อยด้วย เพื่อลูกจะได้ดื่มนมอย่างถูกวิธีไม่เกิดปัญหาการสำลัก แก๊สในกระเพาะอาหาร หรือปัญหาอื่น ๆ ตามมา

[embed-health-tool-due-date]

ท่าให้นมที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่

1. ท่าลูกนอนขวางตัก (Cradle Hold)

ท่านี้เป็นท่าให้นมที่พบมากที่สุด โดยคุณแม่จะนั่งตัวตรง หลังพิงเก้าอี้หรือหมอนตามความถนัด ร่วมกับการงอแขนแล้วประคองตัวลูก โดยให้ศีรษะของลูกวางอยู่ที่ด้านในของข้อศอก ใช้ฝ่ามือของแขนข้างเดียวกัน ประคองก้นของลูกเอาไว้ ให้ลำตัวของลูกหันเข้ามาลำตัวของแม่ ซึ่งหน้าท้องของเด็กต้องอยู่แนบกับหน้าท้องของแม่ จากนั้นยกลูกขึ้นหาเต้านม โดยใช้มืออีกข้างหนึ่งเพื่อจับเต้านม เพื่อให้หัวนมอยู่ในตำแหน่งที่พอดีกับปากของลูก เพื่อให้ลูกอมหัวนมได้ง่ายขึ้น

2. ท่าลูกนอนขวางตักแบบประยุกต์ (Cross-cradle hold)

ท่านี้คล้ายกับท่าลูกนอนขวางตัก แต่การวางตำแหน่งแขนจะต่างกัน นั่นคือให้ใช้แขนข้างที่ถนัดโอบด้านหลังลูก แล้วใช้มือข้างนั้นประคองศีรษะลูกเอาไว้ พร้อมกับหันตัวลูกเข้าหาลำตัวของแม่ โดยหน้าท้องของเด็ก และแม่อาจต้องแนบชิดกัน หรือหากไม่ถนัด อาจใช้หมอนรองแขน เพื่อช่วยยกตัวลูกให้อยู่ในระดับที่ใกล้กับหัวนมมากขึ้น แล้วใช้มืออีกด้านหนึ่งประคองเต้านมเอาไว้ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยอมหัวนมได้ถนัดขึ้น

3. ท่าอุ้มฟุตบอล (Football Hold)

ถือได้ว่าเป็นอีกท่าที่เหมาะสำหรับแม่ที่คลอดลูกด้วยการผ่าท้องคลอด หรือแม่ที่มีขนาดหน้าอกค่อนข้างใหญ่ ท่านี้ลำตัวส่วนล่างของเด็กจะถูกหนีบอยู่ใต้แขนของแม่ คล้ายกับการล็อคลำตัวของเด็กไว้ไม่ให้เคลื่อนขณะให้นม จากนั้นแม่จะใช้มือข้างเดียวกันประคองศีรษะของเด็กเอาไว้ และหันหน้าเด็กเขาหาเต้านม พร้อมนำอีกมือหนึ่งของแม่ประคองเต้านมไว้ร่วม เพื่อให้ลูกดื่มนมจากเต้าคุณแม่ได้ถนัดขึ้น

4. ท่าตะแคงข้าง (Side Lying)

ท่านี้อาจเหมาะสำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอด เนื่องจากจะทำให้ตัวของลูกน้อยไม่นอนทับบริเวณแผลหน้าท้องคุณแม่ ซึ่งคุณแม่อาจเริ่มต้นด้วยการนอนตะแคงข้าง แล้วจับตัวลูกให้ตะแคงข้างหันเข้าหาเต้านม โดยให้จมูกของลูกอยู่ในตำแหน่งตรงกับหัวนมของแม่ ใช้แขนที่อยู่ด้านล่างโอบประคองด้านหลังของลูก เพื่อให้ลูกน้อย และตัวคุณแม่รู้สึกสบายมากขึ้น

เคล็ดลับเพื่อความสบายในการให้นมลูก

  • ร่างกายควรอยู่ในท่าที่ผ่อนคลายที่สุด

กรณีที่คุณแม่ต้องการจะนั่งบนเก้าอี้ในระหว่างการให้นมลูก ควรเลือกเก้าอี้ที่นั่งสบาย มีที่วางแขน พร้อมทั้งนำหมอน หรือเบาะมารองหลัง และเท้าร่วม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องก้มหลังลงมาหาลูกมากนัก ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ปวดหลังได้ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในท่าใดก็ตาม ควรยกตัวลูกเข้าหาตัวของคุณแม่และเต้านมแทนการก้มหลังลงมาหาลูกรัก หากไม่อยากให้เกิดอาการปวดหลังระยะยาว

  • ประคองเต้านม

ปกติแล้วเต้านมของแม่จะใหญ่และหนักขึ้นในระหว่างการให้นมลูก การใช้มือช่วยประคองเต้านมเอาไว้ จะช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น โดยควรวางนิ้วสี่นิ้วที่ด้านใต้ของเต้านม และนิ้วโป้งอยู่ด้านบน

  • พยุงร่างกายของเด็ก

นอกจากแขนแม่ที่ประคองตัวลูกน้อยอยู่แล้ว ยังอาจเลือกใช้หมอนช่วยหนุนพยุงร่างกายของลูกเอาไว้ เพื่อให้เด็กอยู่ใกล้เต้านม และกินนมจากเต้าคุณแม่ได้ถนัดขึ้น

  • ทดลองใช้หลาย ๆ ท่าในการให้นม

ควรลองนั่งหลาย ๆ ท่าเพื่อทดสอบว่าท่าให้นมท่าไหนที่คุณแม่ถนัด และรู้สึกสบายที่สุด อีกทั้งยังเป็นช่วยเลี่ยงการเกิดปัญหาเต้านมอุดตันได้ เนื่องจากท่าดูดนมแต่ละท่าจะมีแรงกดต่อเต้านมต่างกันออกไป และทำให้ไม่เกิดปัญหาหัวนมแตก จากการดูดซ้ำ ๆ กัน

คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าให้นม

หากคุณแม่มีความกังวลเกี่ยวกับท่าให้นม อาจลองเข้าขอรับคำปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติม หรือรับการฝึกท่าทางที่เหมาะสมได้ตามความถนัด เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยตลอดระยะเวลาที่ลูกน้อยยังดูดนมจากเต้า รวมไปถึงสร้างความสะดวกสบาย ปราศจากอาการปวดเมื่อย หรือผลข้างเคียงอื่น ๆ แก่ร่างกายของคุณแม่ และลูกรัก ที่อาจตามมาได้ในอนาคต

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to breastfeed. https://www.nhs.uk/start4life/baby/feeding-your-baby/breastfeeding/how-to-breastfeed/breastfeeding-positions/. Accessed December 18, 2022.

Breastfeeding Positions. https://www.healthlinkbc.ca/health-topics/hw130307. Accessed December 18, 2022.

Good positions for breastfeeding.

https://www.babycenter.com/0_positions-and-tips-for-making-breastfeeding-work_8784.bc. Accessed December 18, 2022.

Breastfeeding Positions: Have You Tried Them All?. https://www.mamanatural.com/breastfeeding-positions/. Accessed December 18, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/12/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปวดหัวขณะให้นมลูก เกิดจากสาเหตุใด

ปั๊มนม ให้ถูกวิธีควรทำอย่างไร และวิธีเก็บน้ำนมแม่ที่เหมาะสม


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 18/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา