ในการเลือกซื้อ ผ้าห่ม เด็ก คุณพ่อคุณแม่อาจต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ การระบายอากาศ ความยากง่ายในการทำความสะอาด ชนิดของเนื้อผ้า ราคาและคุณภาพของผ้าห่ม รวมไปถึงสีสันและลวดลาย เพื่อให้ได้ผ้าห่ม เด็กที่ตอบโจทย์ความต้องการและช่วยมอบความอบอุ่นให้ลูกน้อยหลับสบายตลอดเวลาที่นอนหลับทั้งในตอนกลางวันและในตอนกลางคืน
[embed-health-tool-child-growth-chart]
ผ้าห่ม เด็ก ควรเลือกแบบไหนดี
การเลือกผ้าห่ม เด็ก ที่เหมาะสมกับการใช้งานจะช่วยให้เด็กนอนหลับสนิทและรู้สึกปลอดภัย โดยควรพิจารณาจากปัจจัยหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
ชนิดของเนื้อผ้า
เนื้อผ้าที่นิยมใช้สำหรับผลิตผ้าห่มเด็กมักมีดังนี้
- ผ้าคอตตอน (Cotton) หรือผ้าฝ้าย เนื้อสัมผัสบางเบาและอ่อนนุ่ม ช่วยซึมซับเหงื่อและระบายอากาศได้ดี แห้งเร็วและทำความสะอาดได้ง่าย ซักแล้วไม่เป็นขุย หาซื้อได้ง่าย ทั้งยังไม่ระคายต่อผิวเด็กที่บอบบาง จึงเหมาะสำหรับทารกและเด็กเล็ก
- ผ้ามัสลิน (Muslin) เป็นผ้าทอเนื้อละเอียดที่ทำจากใยฝ้าย น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ช่วยดูดซึมเหงื่อ แห้งเร็ว เนื้อผ้าอ่อนนุ่มและไม่ทำให้ระคายเคืองผิว เหมาะสำหรับทารกและเด็กเล็ก
- ผ้าใยไผ่ (Bamboo) เป็นผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เนื้อผ้าบางเบาและระบายอากาศได้ดีกว่าผ้าฝ้าย ทั้งยังมีเนื้อสัมผัสนุ่มลื่น ช่วยดูดซับเหงื่อ ไม่ทำให้ผิวทารกเปียกชื้นในวันที่อากาศร้อน ทำความสะอาดง่ายและแห้งเร็ว ไม่อมฝุ่น เหมาะสำหรับผิวทารกและเด็กเล็กที่บอบบางและระคายเคืองง่าย
- ผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyester) เป็นผ้าเส้นใยสังเคราะห์ที่มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม น้ำหนักเบา มีคุณสมบัติไม่ดูดซับน้ำ ให้ความอบอุ่นได้ดี ระบายความร้อนได้ไม่ดีนัก เหมาะกับใช้ในช่วงที่มีอากาศเย็น
- ผ้าขนแกะ (Sherpa) เป็นเนื้อผ้าที่ให้สัมผัสลื่นมือ เบาสบาย น้ำหนักเบา ซักง่ายและแห้งเร็ว ช่วยเก็บความร้อนไว้ในผ้าห่ม จึงช่วยให้ความอบอุ่นในช่วงที่อากาศหนาว เหมาะสำหรับเด็กโต ทั้งนี้ ผ้าขนแกะมีราคาสูงเมื่อเทียบกับผ้าห่มชนิดอื่น
ขนาดของ ผ้าห่ม เด็ก
ควรเลือกขนาดของผ้าห่มเด็กให้พอดีกับขนาดตัวและอายุของเด็ก โดยทั่วไป เด็กแรกเกิดมักจะโตเร็ว จึงไม่ควรเลือกผ้าห่มที่มีขนาดเล็กเกินไป แต่ก็ไม่ควรใหญ่เกินไปเช่นกัน ป้องกันผ้าห่มมาคลุมจมูกและปากของเด็กขณะนอนหลับ
การเลือกขนาดผ้าห่มเด็กตามอายุที่เหมาะสม ควรพิจารณาขนาดต่าง ๆ ดังนี้
- ผ้าห่มสำหรับทารกแรกเกิด ส่วนใหญ่มักเป็นแบบ 4 เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดตั้งแต่ 20-24 นิ้ว
- ผ้าห่มสำหรับทารก แบบ 4 เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดตั้งแต่ 24-35 นิ้ว โดยในเด็กแรกเกิดและเด็กวัยเตาะแตะ การเลือกซื้อผ้าห่มแบบ 4 เหลี่ยมจัตุรัสจะช่วยให้ห่อตัวเด็กได้ง่ายขึ้น
- ผ้าห่มเด็กอ่อน 2-4 ปี ขนาดประมาณ 35×45 นิ้ว ในวัยนี้อาจเลือกซื้อผ้าห่มแบบ 4 เหลี่ยมจัตุรัส หรือเป็น 4 สี่เหลี่ยมผืนผ้าก็ได้ เพราะเน้นใช้ห่มมากกว่าใช้ห่อตัวเด็ก
- ผ้าห่มเด็ก 5-9 ปี ขนาดประมาณ 40×50 นิ้ว
- ผ้าห่มเด็ก 10-13 ปี ขนาดประมาณ 40×60 นิ้ว
- ผ้าห่มเด็ก 14-17 ปี ขนาดประมาณ 40×65-70 นิ้ว
นอกจากนี้ การเลือกขนาดผ้าห่มเด็กอาจขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งานผ้าห่มด้วย เช่น
- ผ้าห่มแบบห่อตัวทารก อาจมีขนาดประมาณ 40×40 ไปจนถึง 48×48 นิ้ว
- ผ้าห่มเด็กในเปลนอน อาจมีขนาดประมาณ 40-60 นิ้ว
- ผ้าห่มอเนกประสงค์ ที่สามารถใช้ห่มที่บ้านไปจนถึงใช้ห่มเมื่อพาเด็กเล็กใส่รถเข็นออกไปนอกบ้าน อาจมีขนาดประมาณ 30-40 นิ้ว
น้ำหนักของผ้าห่มเด็ก
น้ำหนักที่เหมาะสมของผ้าห่มเด็กควรมีน้ำหนักไม่เกิน 10% ของน้ำหนักตัวเด็ก นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้ผ้านวมหรือผ้าห่มที่มีไส้อยู่ภายในจนทำให้มีน้ำหนักมากกว่าผ้าห่มทั่วไปในทารกแรกเกิดและเด็กวัยเตาะแตะเพื่อป้องกันผ้าห่มทับเด็กจนหายใจไม่ออกนำไปสู่โรคไหลตายในเด็ก (SIDS) ซึ่งมักเป็นสาเหตุการตายของทารกแรกเกิดถึงอายุ 12 เดือน
วิธีอื่นที่ช่วยให้เด็กนอนหลับสนิทและปลอดภัย
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการเลือกใช้ ผ้าห่ม เด็ก สำหรับใช้ห่มตัวเพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็น และทำให้นอนหลับสนิทได้ดีขึ้นนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังควรดูแลลูกน้อยให้นอนหลับได้สนิทและปลอดภัยด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้
- จัดท่านอนของเด็กให้เหมาะสม เมื่อพาเข้านอนควรจัดท่าให้นอนหงายเพื่อให้หายใจได้สะดวก ทั้งนี้ หากเด็กขยับหรือพลิกตัวนอนคว่ำหรือนอนตะแคงซ้ายหรือขวา ไม่จำเป็นต้องขยับให้กลับมานอนหงาย เพียงแต่ดูให้แน่ใจว่าท่านอนไม่ทำให้หายใจไม่ออก
- เลือกที่นอนที่พื้นมั่นคง เลือกที่นอนที่มีลักษณะแบนราบและมั่นคง ไม่ควรให้เด็กนอนบนที่นอนที่ยวบยาบหรือนุ่มมากเกินไป เด็กอาจจมลงไปในที่นอนและหายใจไม่ออก และหลีกเลี่ยงการวางเด็กให้นอนลงบนผ้าห่มหรือหมอนที่อาจคลุมหน้าเด็กขณะนอนหลับ
- ดูแลให้ห้องนอนมีอุณหภูมิที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลให้ห้องนอนเด็กมีอุณหภูมิที่พอเหมาะ ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป มีอากาศถ่ายเทสะดวก และเลือกใช้ผ้าห่มที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ หากในช่วงอากาศร้อนควรใช้ผ้าห่มที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าห่มคอตตอน ผ้าห่มแพรที่ทำจากผ้าไหม
- ใช้จุกหลอก สำหรับทารกในช่วงขวบปีแรก จุกหลอกเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เด็กทารกรู้สึกผ่อนคลาย ไม่งอแง ป้องกันการหยิบสิ่งของอื่น ๆ เข้าปาก ทั้งยังอาจป้องกันการเกิดโรคไหลตายในเด็กได้ เนื่องจากขณะดูดจุกหลอก ลิ้นของเด็กทารกจะไม่ไปปิดกั้นทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ไม่ควรให้เด็กทารกใช้จุกหลอกเกินอายุ 6 เดือน เพราะอาจทำให้ติดจุกหลอกและทำให้เกิดปัญหาสุขภาพปากและฟัน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้เด็กมีตัวอย่างที่ไม่ดี และลดความเสี่ยงของการรับควันบุหรี่มือสองที่ส่งผลต่อพัฒนาการด็กและสุขภาพโดยรวม ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายในเด็กอีกด้วย
การดูแลให้เด็กมีนิสัยการนอนที่ดีต่อสุขภาพ
เคล็ดลับต่อไปนี้ อาจช่วยเสริมสร้างให้เด็กมีนิสัยการนอนที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
- จัดบรรยากาศห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอน เลือกห้องที่อยู่ในตำแหน่งที่เงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวนหรือมีแสงสว่างที่อาจทำให้นอนหลับไม่สนิท ควรหรี่ไฟให้สลัวหรือเปิดเพียงโคมไฟข้างเตียงเพื่อให้เด็กคุ้นเคยว่าเป็นเวลาสำหรับการเข้านอน
- ดูแลให้เด็กเข้านอนตามเวลาที่ใกล้เคียงกันในทุกวัน เพื่อให้เด็กรู้สึกคุ้นชินและยึดเวลาดังกล่าวเป็นเวลานอน ส่งเสริมวินัยในการเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา
- ดูแลให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายก่อนนอนหลับ เช่น ให้ฟังนิทานก่อนนอน ดื่มนมก่อนเข้านอน ฟังเพลงจังหวะเบา ๆ อาจช่วยให้เด็กนอนหลับได้ง่ายขึ้น
- ไม่ควรให้เด็กทำกิจกรรมน่าตื่นเต้นก่อนเข้านอน เช่น เล่นวิดีโอเกม ดูภาพยนตร์แอ็คชั่น เพราะอาจทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น
- ควรพาเด็กไปนอนบนเตียงก่อนหลับ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะหลับไปได้ด้วยตัวเองบนเตียงนอน