การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ ทั้งนี้ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรรับมืออย่างถูกวิธี โดยคำนึงถึงสุขภาพกายและสุขภาพใจของคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์เป็นสำคัญ นอกจากนี้ หากต้องการยุติการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเนื่องจากความไม่พร้อมหรือปัญหาสุขภาพ ควรเลือกวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องโดยให้หน่วยงานรัฐหรือสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้ตั้งครรภ์มากที่สุด
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ความเสี่ยงต่อสุขภาพของ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพทั้งต่อแม่และทารก ดังต่อไปนี้
- ภาวะความดันโลหิตสูง ผู้หญิงที่อายุยังน้อยเสี่ยงเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้มากกว่าผู้หญิงในวัย 20-30 ปี ภาวะนี้อาจส่งผลให้ร่างกายทำงานไม่ปกติ ใบหน้าและมือบวม ระดับโปรตีนในปัสสาวะสูงขึ้น และหากความดันโลหิตสูง หรือมีความรุนแรงจนทำให้เกิดอาการชัก อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อทั้งแม่และเด็กได้ เช่น รกเสื่อม ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ภาวะคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ เด็กที่เกิดมาอาจมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ เนื่องจากคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น เช่น เด็กอาจมีน้ำหนักเพียง 1.4-2.4 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าน้อยกว่าน้ำหนักตัวทารกคลอดตามกำหนดที่มักอยู่ระหว่าง 2.9-4 กิโลกรัม ทารกแรกเกิดที่น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ (Neonatal Intensive Care Unit หรือ NICU) เพื่อให้การดูแลในด้านที่จำเป็น เช่นเสริมโภชนาการ รักษาภาวะติดเชื้อ หรือ สังเกตอาการหายใจที่อาจผิดปกติเนื่องจากบางรายปอดยังเจริญไม่เต็มที่
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร อาจทำให้รู้สึกเครียดและกดดันอย่างมาก จนส่งผลให้มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ หากสงสัยหรือพบว่าตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ควรพูดคุยกับคนรอบตัวที่ไว้วางใจ หรือปรึกษาคุณหมอเพื่อรักษาและปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้น เพื่อที่จะไม่กระทบต่อการดูแลทารกหลังคลอดและสุขภาพจิตของแม่ในระยะยาว
- การดูแลครรภ์ก่อนคลอดได้ไม่ดีพอ บางครั้ง การตั้งครรภ์เมื่ออายุยังน้อย อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง และขาดความรู้ความเข้าใจในการเข้าฝากครรภ์อย่างถูกต้อง ทำให้ฝากครรภ์ล่าช้า หรือไม่ได้ฝากครรภ์ การฝากครรภ์เป็นเรื่องที่ควรทำทันทีหลังทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้ให้คุณหมอได้ดูแลสุขภาพของแม่และเด็ก และช่วยวางแผนการดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสมตลอดช่วงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ หากไปพบคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ ในช่วงที่อายุครรภ์ยังไม่มาก ยังช่วยให้สามารถวางแผนหรือตัดสินใจเรื่องการเก็บเด็กไว้หรือทำแท้งได้อย่างเหมาะสมด้วย
แนวทางการดูแลตัวเอง กรณีไม่อยากทำแท้ง
ผู้ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย อาจดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ควรรับประทานกรดโฟลิก (Folic acid) อย่างน้อย 400 ไมโครกรัม หรือ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน กรดโฟลิกมีส่วนช่วยเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ไขสันหลัง และระบบประสาท ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติหรือความพิการของตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ด้วย
- ควรเข้าฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้คุณหมอได้ดูแลและตรวจสุขภาพ เช่น ระดับความดันโลหิต ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจระดับน้ำตาล รับวัคซีนที่จำเป็นเช่นวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ดูการเจริญเติบโตของเด็ก คำนวณการคลอด และตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่มักพบในผู้ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด ควรไปพบคุณหมอตามนัดหมาย เพื่อให้คุณหมอสามารถดูแลครรภ์ได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่สะดวก ควรแจ้งให้คุณหมอทราบ เพื่อจะได้กำหนดวันนัดหมายใหม่ทั้งนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์และทารก
- ดูแลสุขภาพของตัวเอง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับตัวเองและทารกในครรภ์ อาจเน้นรับประทานอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ไก่ ปลา อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล อาหารประเภทแคลเซียมเพื่อเสริมสร้างกระดูกที่แข็งแรง เช่น น้ำผลไม้ นม ชีส ปลาแซลมอน ผักโขม
- การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร อาจทำให้มีความเครียดสะสมและกังวลเกี่ยวกับการดูแลเด็กในอนาคต ควรหาบุคคลที่เป็นที่พึ่งพาทางใจ เช่น สมาชิกในครอบครัว แฟน เพื่อน คุณครู ที่สามารถพูดคุยและระบายความทุกข์ใจได้ เพื่อช่วยให้สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างไม่โดดเดี่ยว
แนวทางการยุติการตั้งครรภ์
หากตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และผู้ตั้งครรภ์พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าไม่ประสงค์ที่จะเก็บเด็กเอาไว้และต้องการยุติการตั้งครรภ์ ควรรับคำปรึกษาจากคุณหมอที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ที่จะแนะนำวิธีการที่เหมาะสมต่อไป ในขณะนี้ การทำแท้งในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายแล้ว โดยราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศการแก้ไขพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ที่ยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์ สามารถทำแท้งได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องรับโทษปรับหรือจำคุก รวมไปถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน โดยต้องผ่านการรับรองจากผู้ให้บริการทางการแพทย์ก่อน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้มีการทำแท้งอย่างปลอดภัย และไม่มีความผิดทางกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ควรระลึกว่า การทำแท้งไม่ใช่เรื่องที่ทำให้คุณค่าในตัวเองลดลง ควรเลือกวิธียุติการตั้งครรภ์ที่บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ให้คำแนะนำ เพื่อให้สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัย และส่งผลต่อภาวะการมีบุตรหรือการตั้งครรภ์ในอนาคตน้อยที่สุด ผู้ตั้งครรภ์ไม่ควรทำแท้งด้วยตัวเองหรือใช้บริการสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นอันขาด เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้