backup og meta

สิ่งที่ พ่อ แม่ไม่ควร ทํา กับลูกวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    สิ่งที่ พ่อ แม่ไม่ควร ทํา กับลูกวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

    วัยรุ่น เป็นวัยที่ร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทำให้มีอารมณ์แปรปรวนและหงุดหงิดง่าย นอกจากนั้น ยังอาจเริ่มมีสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ รวมทั้งกิจกรรมใหม่ ๆ ที่พ่อแม่อาจไม่คุ้นเคยและเริ่มตั้งคำถามหรือต้องการที่จะควบคุมพฤติกรรมของลูก จนอาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย ทั้งนี้ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจว่า สิ่งที่ พ่อ แม่ไม่ควร ทำกับ ลูกวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

    พฤติกรรมของวัยรุ่น

    วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ต้องการความเข้าใจและความรักเช่นเดียวกับวัยอื่น ๆ เพียงแต่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ระดับฮอร์โมน อารมณ์ต่าง ๆ จนเกิดเป็นความหงุดหงิด ไม่สบายตัว นอกจากนี้ ความต้องการในชีวิตเองก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน ต้องการอยู่กับเพื่อน มีความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการการควบคุม อยากรู้อยากเห็น เริ่มทดลองสิ่งต่าง ๆ และอาจเริ่มทำตัวท้าทายพ่อแม่ เริ่มมีความลับ

    อย่างไรก็ตาม แม้ลูกวัยรุ่นจะแสดงออกว่าพวกเขาไม่ต้องการพ่อแม่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขายังต้องการกำลังใจ ความรัก ความเอาใจใส่ และความเข้าใจจากพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่ อาจจะต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน และแสดงออกอย่างพอดีให้ลูกวัยรุ่นทราบว่า รักและเป็นห่วง แต่ให้อิสระในการตัดสินใจ หากลูกมีปัญหาก็พร้อมจะอยู่เคียงข้าง นอกจากนั้น พ่อแม่ควรทราบว่า สิ่งที่ พ่อ แม่ไม่ควร ทํา กับลูกวัยรุ่น มีอะไรบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งและปัญหาในครอบครัว

    สิ่งที่ พ่อ แม่ไม่ควร ทำ กับลูกวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

    ตะโกนใส่ลูก

    ลูกวัยรุ่นอาจเริ่มมีพฤติกรรมที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกเป็นห่วง เครียดกังวล และอาจถึงขั้นโกรธในบางครั้ง ทำให้ยากต่อการควบคุมอารมณ์ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ลูกอาจจะพูดจาไม่น่ารัก ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ดื้อดึง และโต้เถียง พ่อแม่ควรพยายามมีสติ และระงับความโกรธ ไม่ควรตะโกนใส่ลูก โดยเฉพาะด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือออกปากไล่ลูกออกจากบ้าน เพราะจะยิ่งทำให้เหตุการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ รุนแรงและลุกลามใหญ่โต ทางที่ดี หากพ่อแม่โกรธ ควรเลือกที่จะนิ่งหรือเดินหนี เมื่ออารมณ์เย็นลงจึงค่อยพูดกันด้วยเหตุผล

    ควบคุมทุกอย่าง

    วัยรุ่นต้องการมีอิสระในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และต้องการตัดสินใจด้วยตนเองเนื่องจากพวกเขารู้สึกว่า พวกเขากำลังโตเป็นผู้ใหญ่ สามารถรับผิดชอบตนเองได้ แม้ว่าพ่อแม่จะรู้สึกว่าลูกยังเป็นเด็ก ก็ควรให้อิสระ ไม่ควรห้ามอย่างเด็ดขาด แต่ควรทำข้อตกลงอย่างมีเหตุผลกับลูก เช่น เวลากลับบ้าน การไปนอนค้างบ้านเพื่อน การไปต่างจังหวัด การใช้เวลาบนโซเชี่ยลมีเดีย การรับประทานอาหาร เพราะยิ่งห้ามอาจเหมือนยิ่งยุและทำให้ลูกวัยรุ่นยิ่งต่อต้าน นอกจากนั้น ไม่ควรจุกจิกกับลูกในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เคารพในการตัดสินใจของลูกวัยรุ่นเพื่อแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ไว้ใจให้เขาเริ่มรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง

    ทำตัวเหินห่าง

    โดยส่วนใหญ่ลูกวัยรุ่นมักทำกิจกรรมหรือมีความชอบที่พ่อแม่ไม่เข้าใจ หลายครอบครัวจึงมีความเหินห่างและหมางเมินต่อกันเพราะรู้สึกว่า ต่างคนต่างชอบไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ไม่ควรละเลยลูกอย่างเด็ดขาด แม้ไม่เข้าใจแต่อาจใช้วิธีสังเกตว่าลูกชอบทำอะไร และหากเป็นไปได้ควรหาทางสนับสนุนและชวนลูกพูดคุย หากลูกชอบร้องเพลง เต้น เล่นกีฬา อาจส่งเสริมให้ลูกไปเรียน หรือพาลูกไปทำกิจกรรมที่ลูกชื่นชอบ หรือชวนคุยว่ากิจกรรมเหล่านั้นเป็นอย่างไร เป็นการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันกับลูก

    พยายามทำตัวเป็นเพื่อน

    แม้ว่าพ่อแม่อาจกลัวว่าลูกเหงา หลายครอบครัวจึงพยายามทำตัวใกล้ชิดสนิทสนม แต่อย่าลืมว่าสำหรับลูกวัยรุ่น พ่อแม่ก็คือพ่อแม่ ต่อให้รักหรือเป็นห่วงลูกวัยรุ่นมากแค่ไหนก็ตาม ควรเว้นระยะห่างและให้ลูกได้มีเวลาส่วนตัว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ควรแสดงออกให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่พร้อมรับฟังและเป็นที่ปรึกษาเสมอในยามที่เขาต้องการ

    พูดจาทำร้ายจิตใจ

    อารมณ์โกรธหรือความหงุดหงิดอาจทำให้พ่อแม่ไม่ทันได้คิดในสิ่งที่พูดออกไป แต่รู้หรือไม่ว่า คำพูดที่ไม่คิดของพ่อแม่อาจทำร้ายจิตใจของลูกไปตลอด รวมทั้งอาจทำให้ลูกอับอาย โดยเฉพาะประโยคที่จะทำให้ลูกรู้สึกผิด รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะอาจยิ่งผลักไสให้ลูกทำสิ่งที่ไม่คาดคิดอย่างการหนีออกจากบ้าน หรือการคิดฆ่าตัวตายได้ ประโยคที่ห้ามพูด เช่น เบื่อที่จะพูดด้วยแล้ว แกเป็นลูกที่แย่มาก ทำไมเป็นเด็กที่ใช้ไม่ได้แบบนี้ แม่ไม่รู้ว่าทำไมจะต้องสนใจแกอีกต่อไปแล้ว อยากจะทำตัวเลวแค่ไหนก็เชิญตามสบาย ไม่น่าเกิดมาเลย แกจะไปทำอะไรหรือไปตายที่ไหนก็เชิญ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา