backup og meta

พัฒนาการของวัยรุ่น ด้านต่าง ๆ มีอะไรบ้างที่พ่อแม่ควรใส่ใจ

พัฒนาการของวัยรุ่น ด้านต่าง ๆ มีอะไรบ้างที่พ่อแม่ควรใส่ใจ

พัฒนาการของวัยรุ่น จะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 10-14 ปีสำหรับเด็กผู้หญิง ในขณะที่เด็กผู้ชายจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างอายุ 12-16 ปี โดยเป็นช่วงวัยที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ความต้องการทางเพศ รวมทั้งพฤติกรรมการเข้าสังคม หากเข้าใจและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้จะทำให้วัยรุ่นและคนครอบครัวก้าวข้ามช่วงเวลาสำคัญนี้ไปได้ด้วยความเข้าใจอันดีและมีความสุข

[embed-health-tool-ovulation]

พัฒนาการของวัยรุ่น ด้านร่างกายและระบบสืบพันธุ์

การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายในวัยรุ่นนั้นรวมไปถึงกระบวนการพัฒนาของระบบสืบพันธ์ ซึ่งในช่วงนี้ร่างกายจะเริ่มผลิตฮอร์โมนเพศที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่าง ๆ ทำให้น้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการมีกลิ่นตัว มีสิวขึ้น และเริ่มมีขนขึ้นตามร่างกายและอวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น รักแร้ อวัยวะเพศ หน้าแข้ง หน้าอก

การเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่นเพศหญิง ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน ได้แก่

  • หน้าอกจะเริ่มขยาย เริ่มมีเต้านม
  • มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ
  • มีประจำเดือนซึ่งหมายถึงร่างกายพร้อมที่จะสืบพันธุ์หรือมีลูกได้นั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่นเพศชาย ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน ได้แก่

  • เสียงเริ่มแตกและแหบพร่า
  • อวัยวะเพศหรือองคชาตจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • อวัยวะเพศเริ่มมีการแข็งตัวเมื่อมีความต้องการทางเพศ
  • มีการหลั่งน้ำอสุจิเมื่อถึงจุดสุดยอด
  • ฝันเปียก

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย มักเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์และความต้องการทางเพศ วัยรุ่นจะเริ่มสำรวจตนเองและเริ่มมีความต้องการทางเพศ ผู้ปกครองจึงควรให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องของการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการรู้จักใส่ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของวัยรุ่น ในด้านร่างกายนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางรายอาจจะมีพัฒนาการเร็ว ในขณะที่บางรายอาจมีพัฒนาการช้า ซึ่งอาจทำให้เกิดความกดดันหรือความเครียดได้หากพบว่าตนเองมีพัฒนาการที่แตกต่างจากกลุ่มเพื่อน ผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญในการอธิบายให้ลูกวัยรุ่นเข้าใจในจุดนี้

พัฒนาการของวัยรุ่น ด้านสมองและความคิด

ระดับฮอร์โมนและพัฒนาการด้านสมองล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ เนื่องจากก่อให้เกิดพัฒนาการในด้านการใช้เหตุผล รวมทั้งความคิดในด้านจริยธรรม ความสามารถในการตัดสินใจ ความสามารถในการคิดและควบคุมอารมณ์ เนื่องจากสมองของวัยรุ่นมีพัฒนาการที่แตกต่างจากวัยเด็กอย่างชัดเจน เริ่มประมวลผลในเรื่องนามธรรมได้ ระบบประสาทเริ่มมีการเชื่อมต่อกัน ทำให้สามารถคิดในเรื่องที่ซับซ้อนและยากขึ้นได้

ทั้งนี้ พัฒนาการด้านความคิดที่เห็นได้ชัดเจน ผู้ปกครอง ควรสังเกตและควรส่งเสริมในทางที่ถูกต้อง เช่น

  • เริ่มคิดและวางแผนสิ่งต่าง ๆ ได้
  • มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำสิ่งแปลกใหม่
  • ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
  • มีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
  • กล้าเสี่ยง กล้าลองมากขึ้นกว่าวัยเด็ก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สมองยังไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่จึงยังขาดความยับยั้งชั่งใจ ตัดสินใจผิด ผู้ปกครองควรสังเกต ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาในยามที่วัยรุ่นต้องการ รวมทั้งให้กำลังใจและส่งเสริมความคิดในด้านที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ควรซ้ำเติมเมื่อทำผิดพลาด

พัฒนาการของวัยรุ่น ด้านอารมณ์และบุคลิกภาพ

ในช่วงนี้ วัยรุ่นจะเริ่มมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เนื่องจากระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ จะอ่อนไหวทางความรู้สึก คำพูด การกระทำของผู้อื่น จะกระทบต่ออารมณ์ได้ง่าย รวมทั้งกระบวนการสร้างความมั่นใจในตนเองจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้วัยรุ่นมีความเชื่อมั่นในตนเองและเรียนรู้ที่จะนับถือตนเองมักเกิดจากการได้รับอิสระให้ตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เรียนรู้จากความผิดพลาด และยอมรับผลจากการกระทำของตนเอง ซึ่งผู้ปกครองและคนใกล้ชิดนับว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ และการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้วัยรุ่น

ผู้ปกครองอาจช่วยส่งเสริมความมั่นใจและช่วยให้วัยรุ่นนับถือตนเองได้ เช่น

  • ให้กำลังใจเมื่อลูกพยายามลงมือทำสิ่งใหม่
  • ชื่นชมในสิ่งที่ลูกเลือกหรือเคารพในการตัดสินใจของลูก
  • คอยสนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบและให้คำแนะนำเมื่อลูกต้องการ
  • ไม่ซ้ำเติมเมื่อลูกทำผิด

พัฒนาการของวัยรุ่น ด้านสังคม

วัยรุ่นเริ่มเรียนรู้ที่จะมีสังคม สิ่งที่สำคัญที่สุดของพัฒนาการด้านนี้คือการค้นหาตัวเอง การสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากผู้อื่น และต้องการที่จะมีอิสระในการทำควมรู้จักตัวเองมากกว่าแต่ก่อน การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เช่น

  • เริ่มสนใจเพศตรงข้าม และต้องการมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับคนที่ตนเองชื่นชอบ
  • ไม่ค่อยปรึกษาพ่อแม่หรือผู้ปกครองเมื่อมีปัญหา
  • ต้องการมีอิสระ ไม่ต้องการการควบคุมโดยพ่อแม่
  • ต้องการความเป็นส่วนตัว และเริ่มมีความลับ
  • ต้องการใช้เวลาอยู่กับเพื่อนมากกว่า
  • เพื่อนมีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ
  • กังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์และร่างกายรวมทั้งพิถีพิถันกับการแต่งตัวมากขึ้น
  • มีความคิดเป็นของตัวเอง ชอบโต้เถียง ไม่ค่อยฟังใคร
  • รู้สึกกังวล เครียด ซึมเศร้า สับสน และอาจนำไปสู่ปัญหาที่โรงเรียนหรือพฤติกรรมชอบเสี่ยงได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tween and teen health https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/tween-and-teen-health/basics/tween-and-teen-health/hlv-20049436. Accessed March 29, 2023.

Teen Development https://medlineplus.gov/teendevelopment.html. Accessed March 29, 2023.

Adolescent Development. https://youth.gov/youth-topics/adolescent-health/adolescent-development. Accessed March 29, 2023.

Adolescent Development. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/7060-adolescent-development. Accessed March 29, 2023.

The Growing Child: Adolescent 13 to 18 Years

https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/the-growing-child-adolescent-13-to-18-years. Accessed March 29, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/05/2023

เขียนโดย Duangkamon Junnet

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัยรุ่น พัฒนาการและสุขภาพ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

6 พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพวัยรุ่น ที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา