backup og meta

วัยรุ่นอายุเท่าไหร่ และปัญหาสุขภาพที่ควรให้ความสำคัญ

วัยรุ่นอายุเท่าไหร่ และปัญหาสุขภาพที่ควรให้ความสำคัญ

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านทั้งการเจริญเติบโตทางร่างกายและจิตใจ แต่บางคนอาจมีการเจริญเติบโตทางร่างกายและมีพัฒนาการที่ช้าหรือเร็วกว่าเพื่อนคนอื่น ๆ จึงอาจทำให้พ่อแม่หรือคนภายนอกเกิดความสงสัยว่า วัยรุ่นอายุเท่าไหร่ ซึ่งปกติวัยรุ่นจะมีอายุอยู่ในช่วง 10-20 ปี ซึ่งเป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่อาจจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้วัยรุ่นดำเนินชีวิตและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-vaccination-tool]

วัยรุ่นอายุเท่าไหร่

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยเปลี่ยนผ่านระหว่างวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ จึงเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยช่วงวัยรุ่นจะมีอายุตั้งแต่ 10-20 ปี ซึ่งร่างกายของเพศหญิงและเพศชายจะเริ่มเจริญเติบโตมากขึ้นและค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละส่วน เช่น หน้าอกและอัณฑะขยายใหญ่ขึ้น เสียงแตกหนุ่ม มีขนขึ้นที่รักแร้และอวัยวะเพศ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ วัยรุ่นจะเริ่มให้ความสนใจในบางเรื่องมากขึ้น เช่น อัตลักษณ์ทางเพศ ความสนใจเรื่องรูปร่างหน้าตา การเข้าสังคม ความต้องการเป็นอิสระจากครอบครัว สนใจเรื่องความสัมพันธ์แบบคู่รัก ซึ่งในบางครั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตในวัยรุ่นได้เช่นกัน

ปัญหาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตในวัยรุ่น

ปัญหาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่อาจพบได้บ่อยในวัยรุ่น มีดังนี้

  • ปัญหาภาพลักษณ์ทางร่างกาย วัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ทางเพศและรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างมาก จึงอาจทำให้วัยรุ่นบางคนพยายามทำพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น อดอาหารเพื่อให้ผอม กินยาลดความอ้วน ใช้สารสเตียรอยด์เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ
  • ปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เช่น ความไม่เข้าใจในครอบครัว พ่อแม่แยกทาง ความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและสุขภาพร่างกายของวัยรุ่น ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นปมปัญหาภายในจิตใจในระยะยาวได้
  • การถูกกลั่นแกล้ง วัยรุ่นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับการเข้าสังคมเป็นอย่างมาก จึงอาจมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้ง หรือ การบูลลี่ (Bully) ในโรงเรียนหรือในกลุ่มเพื่อนมากขึ้น เช่น เป็นเด็กนักเรียนใหม่ อ่อนแอกว่าเด็กคนอื่น ๆ ผลการเรียนไม่ดี รูปร่างหน้าตาแตกต่างจากคนอื่น การไม่ทำตามคำสั่งในกลุ่มเพื่อน วัฒนธรรม ศาสนา รสนิยมทางเพศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการกลั่นแกล้งที่อาจนำสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น การทำร้ายร่างกาย ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล
  • การฆ่าตัวตาย เป็นปัญหาที่อาจพบได้มากในวัยรุ่นยุคปัจจุบัน เนื่องจากความกดดันจากครอบครัว สภาพสังคม การศึกษา และเศรษฐกิจ ที่อาจทำให้วัยรุ่นเกิดความเครียดและความวิตกกังวลมากขึ้น จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ตามมา เช่น ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายมากขึ้น
  • การมีเพศสัมพันธ์ วัยรุ่นอาจมีความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยได้ง่าย เนื่องจากกระบวนการทางความคิดที่รู้ถึงปัญหาที่จะตามมา แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง จึงอาจคิดว่ามีเพศสัมพันธ์แค่ครั้งเดียวคงไม่ก่อให้เกิดปัญหา หรืออาจเป็นเพราะขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น การกินยาคุมกำเนิด การสวมถุงยางอนามัย จึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม แรงกดดันจากคนรอบข้าง หรืออาจมีความรู้สึกผิดต่อค่านิยม วัฒนธรรม และประเพณี
  • การตั้งครรภ์ วัยรุ่นอาจเป็นวัยที่มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมจำนวนมาก เนื่องจากความอยากรู้อยากลอง และการขาดความรู้ในการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย จึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต เช่น การทำแท้ง ความทุกข์ ความรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะความไม่เข้าใจของคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง แรงกดดันทางการเงิน ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปัจจุบันวัยรุ่นอาจเริ่มทดลองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจเสี่ยงที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมและความสัมพันธ์ทางเพศที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ขาดสติและมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ท้องก่อนวัยอันควร เมาแล้วขับ ใช้กำลังและความรุนแรง ก่ออาชญากรรม
  • การสูบบุหรี่ อาจเป็นที่นิยมในวัยรุ่นบางกลุ่ม ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมากมายทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจ ประสาทรับกลิ่นและรสชาติเสียหาย โรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งลำคอ โรคมะเร็งช่องปาก
  • การใช้ยาเสพติด วัยรุ่นเป็นวัยอยากรู้อยากลองที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงในการทดลองใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมาย เช่น ยากล่อมประสาท แอมเฟตามีน (Amphetamines) โคเคน ยาอี  ยาบ้า และอาจเสี่ยงที่จะใช้สารเสพติดในปริมาณที่มากเกินไปจนส่งผลเสียต่อร่างกายและสมอง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและสังคม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย อาชญากรรม การทะเลาะวิวาท ความรุนแรง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Teenage health. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/teenage-health. Accessed August 19, 2022

Adolescent and young adult health. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/adolescents-health-risks-and-solutions. Accessed August 19, 2022

Stages of Adolescence. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/teen/Pages/Stages-of-Adolescence.aspx. Accessed August 19, 2022

HEALTH FOR THE WORLD’S ADOLESCENTS. https://apps.who.int/adolescent/second-decade/section2/page5/adolescence-psychological-and-social-changes.html#:~:text=Psychosocial%20changes.&text=Over%20the%20course%20of%20the,thinking%20and%20making%20rational%20judgements. Accessed August 19, 2022

Adolescent Development. https://youth.gov/youth-topics/adolescent-health/adolescent-development#:~:text=Adolescence%20is%20the%20developmental%20transition,because%20of%20these%20rapid%20changes. Accessed August 19, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

อยากตาย สัญญาณเตือนและสาเหตุที่พบในวัยรุ่น

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่น มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา