backup og meta

อยากตาย สัญญาณเตือนและสาเหตุที่พบในวัยรุ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 26/10/2021

    อยากตาย สัญญาณเตือนและสาเหตุที่พบในวัยรุ่น

    ตามรายงานของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 มีเด็กและวัยรุ่นในช่วงอายุ 10-19 ปี ฆ่าตัวตาย 111 คน และวัยรุ่นช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป ฆ่าตัวตาย 667 คน ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ รอบตัว เช่น ปัญหาในโรงเรียน ปัญหาในครอบครัว อาจส่งผลให้วัยรุ่นในปัจจุบันมีความรู้สึก อยากตาย มากขึ้น

    สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นอยากตาย

    สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นอยากตาย หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย อาจมาจากช่วงวัยนี้มักมีความเครียดสะสม มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดหรือความรู้สึกที่ส่งผลต่อการตัดสินใจบางอย่าง จนอาจทำให้วัยรุ่นส่วนใหญ่กดดันตัวเองและรู้สึกว่าปัญหาที่พบเจอนั้นเอาชนะได้ยาก จึงอาจหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้วัยรุ่นคิดอยากฆ่าตัวตาย

  • ความผิดปกติทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์
  • ความเครียดสะสม จนอาจทำให้รู้สึกสิ้นหวัง โดดเดี่ยว
  • ประวัติครอบครัวที่มีปัญหาทางจิตเวช
  • ประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดนทำร้ายร่างกาย สูญเสียคนที่รัก ถูกกลั่นแกล้ง
  • มีอคติจากผู้คนรอบข้างเกี่ยวข้องกับเพศที่ตัวเองเป็น
  • สัญญาณเตือนของคนอยากตาย

    คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตสัญญาณเตือนความอยากตายของวัยรุ่นได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

    • พูดว่าอยากตายหรือพูดประโยคที่อาจสื่อว่าอยากตาย เช่น จะไม่เป็นตัวปัญหาอีกต่อไป
    • เก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่เข้าสังคม
    • รู้สึกผิดหวัง สิ้นหวัง
    • เขียนจดหมาย ข้อความอำลา หรือความในใจ
    • ใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น
    • ไม่มีสมาธิ
    • ทำร้ายตัวเอง

    เมื่อใดที่ควรพาลูกเข้าพบคุณหมอ

    คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกเข้ารับการรักษาทันที หากลูกมีอาการ ดังต่อไปนี้

    • นอนไม่หลับติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป
    • แสดงพฤติกรรมแปลก ๆ ที่อาจสื่อถึงความกังวล
    • ได้ยินและมองเห็นในสิ่งที่ผู้คนรอบข้างไม่อาจสัมผัสได้
    • อารมณ์แปรปรวนใส่ผู้อื่น หรือหงุดหงิดตัวเองอย่างรุนแรง

    วัยรุ่นรู้สึกอยากตาย ควรทำอย่างไร

    เมื่อลูกมีสัญญาณเตือนว่าอยากฆ่าตัวตาย สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกฆ่าตัวตาย คือ การรับฟังและพูดคุย เพื่อให้ลูกเล่าถึงปัญหาที่พบเจอ พร้อมให้คำปรึกษา หรืออาจถามลูกอย่างตรงไปตรงมาถึงการอยากฆ่าตัวตาย แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็อาจทำให้ทราบถึงเหตุผล และอาจช่วยแก้ปัญหาให้ลูกได้ 

    นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเก็บอุปกรณ์อันตราย เช่น ปืน มีด รวมถึงยาต่าง ๆ ให้พ้นสายตาลูก และควรสังเกตลูกอย่างต่อเนื่องทั้งพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง และข้อความที่โพสต์ลงในโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย หากเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่รับมือได้ยาก อาจพาลูกเข้ารับการบำบัดจากจิตแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลลูกอย่างเคร่งครัด

    หากรู้สึกว่าลูกวัยรุ่นเป็นกังวล ซึมเศร้า หรือแสดงออกว่าอยากตาย หรือมีข้อสงสัยใด ๆ สามารถขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 26/10/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา