ปัญหาสุขภาพกายวัยรุ่น สามารถส่งผลต่อพัฒนาการของวัยรุ่นทั้งด้านร่างกาย อารมณ์และสังคมได้ เพื่อป้องกันวัยรุ่นให้ห่างไกลจากปัญหาที่อาจเกิดขึ้น วันนี้เราได้รวบรวม ปัญหาสุขภาพกายวัยรุ่น ที่พบบ่อยมากฝากทุกคนแล้วค่ะ
ปัญหาสุขภาพกายวัยรุ่น หมายถึงอะไร
ปัญหาสุขภาพกายของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นมักทำให้พัฒนาการของวัยรุ่นเกิดความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งการเจ็บป่วยจากโรค การบาดเจ็บ การผ่าตัด การรักษาพยาบาล จนอาจส่งผลให้เกิดความกังวลใจในเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกและสุขภาพร่างกายมากยิ่งขึ้น ปัญหาสุขภาพกายวัยรุ่นอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของวัยรุ่นทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และเพื่อนฝูง การมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ปัญหาสุขภาพกายวัยรุ่น มีอะไรบ้างนะ?
ปัญหาสุขภาพกายวัยรุ่นที่อาจเกิดขึ้นได้และสามารถส่งผลเสียให้กับพัฒนาการของวัยรุ่น ดังนี้
สิว
ในช่วงวัยรุ่นฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการอุดตันของไขมันในรูขุมขนจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิว บริเวณที่มีสิวส่วนใหญ่จะขึ้นที่ใบหน้า ลำคอ หลัง หน้าอก และไหล่ สิวไม่ใช่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหรือแผลเป็นถาวร แต่สิวอาจทำลายความมั่นใจให้กับวัยรุ่นได้
การป้องกันสิวในวัยรุ่น
- พยายามอย่าล้างหน้ามากเกินไปหรือใช้สครับที่รุนแรง ล้างหน้าแค่วันละ 2 ครั้งต่อวันก็เพียงพอต่อการทำความสะอาดใบหน้า เพราะการล้างหน้ามากเกินไปอาจทำให้ผิวระคายเคืองและแห้ง ยิ่งกระตุ้นให้ผิวผลิตต่อมน้ำมันออกมามากขึ้นและส่งผลให้เกิดสิวเพิ่มขึ้น
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดสิว
- พยายามอย่าบีบหรือกดสิว เพราะการบีบสิวอาจทำให้แบคทีเรียเข้าไปในผิวหนังได้ และอาจเพิ่มความอักเสบมากขึ้นจนทำให้เกิดแผลเป็นถาวร
ความผิดปกติของประจำเดือน
วัยรุ่นหญิงบางคนอาจมีความผิดปกติของประจำเดือน ทั้งประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอบ่อยครั้ง มีอาการปวดท้องเมื่อมีประจำเดือนโดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรกเมื่อมีประจำเดือน ความผิดปกติของประจำเดือนอาจส่งผลต่อสุขภาพวัยรุ่นในระยะยาว อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตได้อีกด้วย
การรักษาจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้วัยรุ่นมีประจำเดือนเป็นปกติ โดยแพทย์อาจแนะนำให้กินยาแก้ปวดสำหรับผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือน หรืออาจใช้วิธีรักษาด้วยฮอร์โมนสำหรับผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งวิธีการวินิจฉัยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วยและการวินิจฉัยเบื้องต้นของแพทย์ด้วย
สุขภาพช่องปาก
วัยรุ่นบางคนเริ่มมีปัญหาช่องปากทั้งรูปฟันที่ไม่สวยงาม ฟันผุ หรือฟันคุด เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาช่องปากที่อาจส่งผลต่อความมันใจในตัวเองของวัยรุ่น
การจัดฟัน
เมื่อคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการกัด ฟันบิดเบี้ยว มีตำแหน่งฟันที่ไม่เหมาะสม การจัดฟันอาจช่วยปรับปรุงการเรียงตัวของฟันและช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับรอยยิ้มได้ ไม่เพียงเท่านั้นการจัดฟันยังช่วยรักษาปัญหาการเคี้ยวอาหาร การกัด ที่ส่งผลต่อการรับประทานอาหาร เพราะปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลต่อปัญหาฟันผุและโรคเหงือกในอนาคตได้
ฟันคุด
เป็นฟันซี่สุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นอายุประมาณ 17-21 ปี ซึ่งลักษณะของฟันคุดอาจเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องจนนำไปสู่ปัญหาช่องปากได้ โดยส่วนใหญ่จำเป็นต้องถอนฟันคุดออกเนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้
- ความเจ็บปวด
- การติดเชื้อ
- ซีสต์
- เนื้องอก
- ฟันข้างเคียงเกิดความเสียหาย
- โรคเหงือก
- ฟันผุ
กระดูกสันหลังคด
กระดูกสันหลังคดอาจเกิดขึ้นในเด็กหรือวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 10-18 ปี โดยส่วนใหญ่เกิดจากโรคกระดูกสันหลังคดคดที่ไม่ทราบสาเหตุในวัยรุ่น (adolescent idiopathic scoliosis) มีหลายทฤษฎีสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน ความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ หรือจากประวัติครอบครัว มักไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือแสดงอาการแต่สามารถสังเกตได้จากความเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลัง
การใช้สารเสพติด
วัยรุ่นมีความเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการต่าง ๆ
- ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมอง
- อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ เช่น อันตรายจากการขับขี่ การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน
ติดเชื้อ HIV/เอดส์
วัยรุ่นควรรู้วิธีป้องกันการติดเชื้อ HIV/เอดส์ รู้จักสวมถุงยาอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เข้าถึงการตรวจและฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมไปถึงการรักษาโรคติดเชื้อ HIV/เอดส์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดจำนวนการติดเชื้อ HIV/เอดส์ในวัยรุ่น
ความรุนแรง
ความรุนแรงในวัยรุ่นเพิ่มความเสี่ยงการบาดเจ็บและการเสียชีวิต สุขภาพจิต หรืออาจเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพื่อป้องการความรุนแรงในวัยรุ่นการเลี้ยงดูจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขัดเกลาจิตใจให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และสามารถป้องกันการกลั่นแกล้งในโรงเรียนได้
[embed-health-tool-bmi]