backup og meta

วิธีเลี้ยงลูกสำหรับ Single mom เริ่มต้นอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2023

    วิธีเลี้ยงลูกสำหรับ Single mom เริ่มต้นอย่างไร

    Single mom หรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หมายถึง ผู้หญิงที่เลี้ยงลูกเพียงลำพัง เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปัญหาการหย่าร้าง พ่อของลูกเสียชีวิต คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจึงอาจเผชิญกับความท้าทาย ความเครียด เพราะเด็กในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโตควรได้รับการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนควรศึกษาวิธีเลี้ยงลูกแบบ Single mom เบื้องต้นเอาไว้ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตที่อาจไม่ได้คาดคิดมาก่อน

    คำแนะนำการเลี้ยงลูกสำหรับ Single mom

    เด็กทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นทารก วัยหัดเดิน วัยก่อนเข้าเรียน วัยเข้าเรียน วัยรุ่น อาจต้องการความรักความเอาใจใส่จากผู้ปกครองอยู่เสมอ เพื่อให้คุณแม่และลูกใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข ลดปัญหาที่กระทบต่อจิตใจ และเจริญเติบโตได้อย่างสมวัย Single mom อาจศึกษาวิธีเลี้ยงลูกได้ดังต่อไปนี้

  • ทารก อายุ 0-1 ปี

  • เป็นช่วงวัยที่เริ่มมีการเรียนรู้และตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวที่พบเห็น เช่น การยิ้ม โบกมือ เอื้อมมือจับสิ่งของตรงหน้า และเริ่มออกเสียงเป็นคำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางภาษา อารมณ์ สังคม

    เคล็ดลับการดูแลลูกของ Single mom

      • ควรพูดคุย อ่านหนังสือ ร้องเพลงบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นทักษะทางภาษา
      • โอบกอดลูกหรืออุ้ม เพราะเด็กจะรู้สึกได้ถึงความรัก ความอบอุ่นที่คุณแม่มีต่อลูก
      • ควรให้ดื่มนมแม่ หากสังเกตว่าฟันทารกเริ่มขึ้นอาจเปลี่ยนเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพเช่น ผักต้ม โดยหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือปั่นละเอียด เพื่อเพิ่มสารอาหาร
      • ฉีดวัคซีนให้ทารกครบตามกำหนด เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเจ็บป่วย
      • ไม่ควรเล่นกับทารกด้วยการเขย่า โยน เพราะทารกอาจมีกล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรง และอาจกระทบต่อสมองทารก
    • เด็กวัยหัดเดิน อายุ 1-3 ปี

    ช่วงวัยนี้เด็กอาจเริ่มหัดเดินมากขึ้น ต้องการความอิสระ มีการเรียนรู้ สนใจสิ่งรอบตัว สังเกตความต่างของสี รูปร่างสิ่งของ และอาจเริ่มแสดงพฤติกรรมต่อต้านในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ สังเกตพฤติกรรม คำพูดของคนรอบตัวเพื่อเลียนแบบ

    เคล็ดลับการดูแลลูกของ Single mom

      • อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
      • เสริมทักษะด้วยของเล่นจับคู่ ระบายสี หรือสอนให้ลูกสังเกตสิ่งของพร้อมสอนว่าสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร และกระตุ้นให้ลูกพูดตาม
      • ควรสอนลูกด้วยเหตุผลว่าพฤติกรรมไหนที่ผิดหรือถูก ใช้คำพูดตักเตือน ไม่ให้รางวัลอย่างขนมหรือของเล่น งดให้ทำกิจกรรมที่ชอบ แทนการลงโทษด้วยความรุนแรง การตี ใช้คำหยาบ
      • พาลูกออกไปสำรวจโลกภายนอก เช่น สวนสาธารณะ
      • เก็บสิ่งของอันตราย เช่น มีด ปลั๊กไฟ ยาฆ่าแมลง ปากกา น้ำยาทำความสะอาด เพราะลูกอาจหยิบมาเล่นโดยไม่ทันระวัง
      • ควรให้ลูกอยู่นิ่งขณะรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการสำลัก เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ไม่ชอบอยู่กับที่
      • กั้นบันได ปิดล๊อคประตู หรือจำกัดพื้นที่เล่นโดยการล้อมรั้วให้ลูกอยู่ในเขตที่กั้นเอาไว้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด
      • ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพียงลำพัง เพราะอาจเสี่ยงต่อการจมน้ำ
    • เด็กวัยก่อนเรียน อายุ 3-5 ปี

    เป็นช่วงวัยที่เริ่มให้ความสำคัญกับคนนอกครอบครัว เช่น เพื่อน อีกทั้งมีพัฒนาการการเคลื่อนไหว โดยอาจปั่นจักรยานสามล้อได้ และมีการเรียนรู้ชอบสำรวจสิ่งแปลกใหม่พร้อมคำถามมากมายที่สงสัย ร้องเพลง เลือกเสื้อผ้าแต่งตัวเอง

    เคล็ดลับการดูแลลูกของ Single mom

      • ส่งเสริมให้ลูกเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ เพิ่มพัฒนาการทางสังคม สอนให้รู้จักการแบ่งปัน
      • อ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือพาลูกเข้าห้องสมุดเลือกสิ่งที่สนใจในการอ่านเพิ่มความรู้
      • ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น สอนให้ลูกช่วยทำงานบ้านง่าย ๆ ซึ่งเป็นการใช้เวลาร่วมกัน
      • ตรวจสอบอุปกรณ์สนามเด็กเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการถูกขอบอุปกรณ์บาด
      • สอนให้ลูกรู้จักระวังตัวเมื่อพบเจอคนแปลกหน้า
      • ฝึกพัฒนาการทางภาษาโดยการพูดคุยบ่อย ๆ สอนให้ออกเสียงอย่างถูกต้อง
      • คอยอยู่ข้าง ๆ ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา เมื่อลูกอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด
      • สอนการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยเมื่อออกไปเล่นนอกบ้าน เช่น อยู่ในห่างจากถนน สอนว่ายน้ำ สวมใส่อุปกรณ์นิรภัยหากปั่นจักรยาน
      • เลือกอาหารเพื่อสุขภาพให้กับลูก เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ผัก ผลไม้
      • ส่งเสริมให้พักผ่อนอย่างน้อย 10-13 ชั่วโมง
    • เด็กวัยเรียน อายุ 6-12 ปี

    อยู่ในช่วงวัยเจริญเติบโตที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น มีการเคลื่อนไหวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการกระโดด วิ่ง อยากเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ เช่น วาดภาพ คำนวณเลข สะสมสิ่งของ อีกทั้งยังรู้สึกสนุกกับการอ่านหนังสือ จดเรื่องราวที่ประทับใจ รู้จักแบ่งปัน สนใจบุคลิกภาพของตัวเองมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์ต่อครอบครัว เพื่อน และเริ่มสนใจเพศตรงข้าม

    เคล็ดลับการดูแลลูกของ Single mom

      • ส่งเสริมการออกกำลังกาย
      • ควรสร้างกฎวินัย หากลูกทำผิดควรอธิบายด้วยเหตุผล และเลือกบทลงโทษอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง
      • ให้กำลังใจ ชมเชย เมื่อลูกประสบความสำเร็จหรือไม่มีความมั่นใจ
      • ส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น การเล่นกีฬา วาดภาพ อ่านหนังสือ
      • สอนให้เด็กรู้จักเคารพผู้ใหญ่
      • เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก เช่น การแบ่งปัน มีน้ำใจ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง มีวินัย ไม่พูดคำหยาบ
      • จำกัดเวลาการเล่นคอมพิวเตอร์ ดูทีวี โทรศัพท์ ป้องกันเด็กติดโซเชียลมากเกินไป
    • วัยรุ่น อายุ 13-18 ปี

    มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายด้านการเจริญพันธุ์ เช่น มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้ มีสิวขึ้น เต้านมในเพศหญิงขยายและอาจมีประจำเดือน นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการคิดเกี่ยวกับปัญหาสังคม ปรัชญาชีวิต การเมือง หรือมุมมองอื่น ๆ ที่สนใจ เริ่มตั้งเป้าหมายในชีวิต ต้องการอิสระจากครอบครัว มีความรัก อยากเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน

    เคล็ดลับการดูแลลูกของ Single mom

      • ใช้เวลาร่วมกันให้มาก ๆ เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกโดดเดี่ยว กล้าพูดปัญหาที่เผชิญอย่างเปิดใจ
      • ร่วมกันแก้ปัญหากับลูก
      • สร้างวินัยและข้อจำกัดด้วยความรัก เหตุผล ไม่ควรใช้คำพูดหรือการกระทำรุนแรง
      • ส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่ชอบ หรือสิ่งแปลใหม่ และคอยสังเกตดูแลอยู่ห่าง ๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกเป็นอิสระ

    การเป็น Single mom ไม่ได้เป็นเรื่องยากเสมอไป ไม่ควรโทษตัวเอง โทษผู้อื่น หรือตามใจลูกเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาด เพราะอาจส่งผลเสียตามมาในอนาคต เช่น เด็กเอาแต่ใจ พฤติกรรมรุนแรง คุณแม่มองโลกในแง่บวก มองด้านดีของชีวิตการเป็น Single mom ให้กำลังใจตนเอง หรืออาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท ญาติ พี่น้อง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

    ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับ Single mom

    ปัญหาที่พบบ่อยใน คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว คือ ความเครียด แรงกดดัน จากปัจจัยหลายประการ เช่น รายได้การเลี้ยงดูบุตรต่ำ อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาและการรักษาจากโรงพยาบาลเมื่อลูกเจ็บป่วย อีกทั้งยังอาจใช้เวลาร่วมกับลูกน้อยได้ลง เนื่องจาก Single mom บางคนอาจจำเป็นต้องออกไปทำงานเพื่อหารายได้จึงอาจขาดความเอาใจใส่ และไม่มีเวลาพูดคุยกับลูก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูก

    ปัญหาเหล่านี้ทำให้ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยว มีปัญหาด้านอารมณ์ หากสังเกตว่าตนเองเริ่มเหนื่อยล้า มีความเครียดสะสม ควรจัดการความเครียดด้วยการหาเวลาพักผ่อน หรือปรึกษาคุณหมอทันที

    ปัญหาพ่อแม่หย่าร้าง หรือการมีความสัมพันธ์รักครั้งใหม่ ก็อาจเป็นอีกปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ และความรู้สึกของลูก ดังนั้น ควรพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงให้ลูกได้รับรู้ ตอบคำถามลูกอย่างตรงไปตรงมา พูดปลอบลูกหรือแสดงให้เห็นว่าการหย่าร้าง การมีความสัมพันธ์ใหม่จะไม่ส่งผลต่อความรักที่มีให้ลูก เพื่อให้ลูกคลายความกังวลและปรับตัวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา